การค้าชายแดนกับการทูตเพื่อความอยู่ดีกินดี | World Wide View
ในการสร้างพื้นที่ชายแดนที่ปลอดภัยและสร้างความกินดีอยู่ดีให้คนไทยได้อย่างยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนตามแนวชายแดนที่ได้สร้างบรรยากาศของการเป็นเจ้าบ้านที่ดี เป็นมิตรต่อผู้มาเยือน รักษากฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้บริเวณชายแดนน่าอยู่
ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผู้แทนระดับสูงของไทยได้เดินทางเยือนต่างประเทศหลายแห่งเพื่อพบปะผู้นำภาครัฐและภาคเอกชนรายใหญ่ในภูมิภาคต่าง ส่งเสริมความสัมพันธ์ รวมถึงดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ส่วนที่สำคัญของการดำเนินงานด้านการทูตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในต่างประเทศ แต่เกิดขึ้นในประเทศด้วย และมีผลโดยตรงต่อความกินดีอยู่ดีของเราทุกคนคือ การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ในจังหวัดที่มีชายแดนติดกับเพื่อนบ้านของไทย เช่น สระแก้ว สงขลา ตาก หนองคาย กาญจนบุรี เพื่อพูดคุยกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานที่กำกับดูแลพื้นที่ชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เมียนมา และมาเลเซีย ทำให้การดำเนินการด้านการต่างประเทศไม่ได้ถูกกำหนดแค่จากส่วนกลาง แต่ได้มาจากการรับฟังข้อมูลและข้อคิดเห็นจากทุกคนในพื้นที่และผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงด้วย
เมื่อกล่าวถึงพื้นที่ชายแดน เรามักนึกถึงประเด็นด้านความมั่นคงเป็นลำดับแรก ๆ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่ชายแดนและคนไทยทั้งประเทศ คือรายได้ที่เกิดจากการค้าชายแดนของไทยกับประเทศรอบบ้าน โดยจะเห็นได้จากสถิติการค้าชายแดนในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 ว่า มูลค่าการค้าที่ผ่านด่านศุลกากรชายแดนระหว่างไทยและ 4 ประเทศเพื่อนบ้าน มีมูลค่ากว่า 1.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 9.49 ของมูลค่าการค้าทั้งหมด โดยเป็นมูลค่าส่งออกราว 9.9 แสนล้านบาท ไทย และนำเข้าราว 7.4 แสนล้านบาท โดยการส่งออกดังกล่าวคิดเป็นประมาณร้อยละ 11.09 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งมูลค่าการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านนี้ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ
ปัจจุบัน ไทยมีด่านศุลกากรกับประเทศเพื่อนบ้านรวม 34 ด่าน แบ่งเป็นด้านชายแดนไทยกับลาว 11 ด่าน กับกัมพูชา 6 ด่าน กับมาเลเซีย 9 ด่าน และกับเมียนมา 8 ด่าน โดยประเทศที่มีมูลค่าการค้าชายแดนกับไทยสูงสุดคือลาว คิดเป็นประมาณร้อยละ 42 ของการค้าชายแดนทั้งหมด โดยด่านศุลกากรที่มีมูลค่าการค้าสูงสุดคือด่านสะเดา จ. สงขลา ที่มีสินค้านำเข้าส่งออกผ่านด่านนี้กว่าร้อยละ 24 ของมูลค่าการค้าขายแดนทุกด่าน
นอกจากการค้าขายตามพื้นที่ชายแดนที่เป็นแหล่งรายได้มหาศาลสำหรับไทยแล้ว การเดินทางสัญจรเพื่อการท่องเที่ยวและติดต่อทำธุรกิจผ่านด่านชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งสี่เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่งคั่ง ซึ่งสะพานมิตรภาพระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการอำนวยความสะดวกการเดินทางติดต่อค้าขายดังกล่าว
ปัจจุบัน ไทยมีสะพานมิตรภาพเชื่อมต่อกับเพื่อนบ้านรวม 11 สะพาน ได้แก่ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 4 แห่ง สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา 4 แห่ง สะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา 1 แห่ง และสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซีย 2 แห่ง ซึ่งสะพานเหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในทุก ๆ ด้านอันมิตรภาพเป็นพื้นฐาน ที่ยึดโยงไทยและประเทศเพื่อนบ้านทุกด้านเข้าไว้ด้วยกัน
ภารกิจการทูตกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านงานในพื้นที่ชายแดนนี้ นอกจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้ร่ม “ทีมประเทศไทย” เช่น กระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากร กระทรวงคมนาคม รวมถึงหน่วยงานด้านความมั่นคง ต่างบูรณาการกันอย่างเข้มแข็งเพื่อสนับสนุนการทูตเพื่อมุ่งสร้างความกินดีอยู่ดีแก่ชาวไทย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างพื้นที่ชายแดนที่ปลอดภัยและสร้างความกินดีอยู่ดีให้คนไทยได้อย่างยั่งยืนคือความร่วมมือของประชาชนตามแนวชายแดนที่ได้สร้างบรรยากาศของการเป็นเจ้าบ้านที่ดี เป็นมิตรต่อผู้มาเยือน รักษากฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้บริเวณชายแดนน่าอยู่ รวมถึงร่วมนำเสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่กับภาครัฐ เพื่อให้ชายแดนร่มเย็น เป็นสุข และเอื้อให้ความร่วมมือระหว่างประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่น