มองฟินแลนด์ มองปัจจัยที่ทำให้ชาวโลกเป็นสุข | ไสว บุญมา

มองฟินแลนด์ มองปัจจัยที่ทำให้ชาวโลกเป็นสุข | ไสว บุญมา

ชาวฟินแลนด์มีความสุขสูงสุดในโลกเป็นปีที่ 7 ติดต่อกันตาม “รายงานความสุขโลก” (World Happiness Report) ล่าสุด  แต่พวกเขามักไม่ค่อยยิ้มแย้มแจ่มใส  ต่างกับชาวไทยผู้มักมียิ้มสยามอันโด่งดังทั้งที่มีความสุขเพียงลำดับที่ 58 เท่านั้น 

ผู้มองว่าชาวฟินแลนด์ไม่ค่อยยิ้มแย้มแจ่มใส ได้แก่ อดีตนายกรัฐมนตรีสตรี ซานนา มาริน ของฟินแลนด์ผู้เข้ารับตำแหน่งเมื่ออายุเพียง 34 ปี  ปัจจัยที่ทำให้พวกเขาไม่ค่อยยิ้มแย้มอาจเป็นภาวะทางภูมิอากาศ

ทั้งนี้เพราะแต่ละปีพวกเขาต้องทนหนาวเหน็บอยู่เป็นเวลานานโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่ประเทศของเขาปราศจากแสงตะวันติดต่อกันเป็นแรมเดือน  ท่ามกลางภาวะเช่นนี้ มีผู้สงสัยจำนวนไม่น้อยว่าชาวฟินแลนด์มีความสุขสูงมากได้อย่างไร

หลังจากรายงานดังกล่าวพิมพ์ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นิตยสาร U.S. News & World Report เสนอการวิเคราะห์ปัจจัยที่สร้างความสุขให้ชาวฟินแลนด์โดยสรุปว่ามี 5 ปัจจัยได้แก่ 

1.ระบบสวัสดิการสังคมอันแข็งแกร่ง  ฟินแลนด์ใช้งบสูงเกินกว่า 20% ของรายได้ของประเทศเพื่อสวัสดิการชองประชาชนรวมทั้งบำนาญ การรักษาพยาบาล เงินเลี้ยงชีพในช่วงตกงานและสวัสดิการอื่น ๆ ซึ่งรวมแล้วสูงเทียมบ่าเทียมไหล่กับบรรดาประเทศก้าวหน้าสูง 

การสำรวจความเห็นของชาวฟินแลนด์เมื่อปี 2565 สรุปว่า 70% พอใจในระบบการรักษาพยาบาลของประเทศ  

2.ความเท่าเทียมกันด้านเพศ  ฟินแลนด์แทบไม่ตามหลังใครในด้านนี้เพราะมีประวัติยาวนานในการให้ความสำคัญแก่เพศหญิงซึ่งได้รับสิทธิ์ออกเสียงทางการเมืองมาเกือบ 120 ปี  ในขณะนี้ 46% ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศเป็นสตรีซึ่งมีบทบาทสูงในระดับการปกครองท้องถิ่นด้วย

3.การให้ความสำคัญสูงแก่ครอบครัว  ฟินแลนด์มีระบบการหยุดพักงานเพื่อการดูแลครอบครัวอยู่ในระดับแนวหน้า เช่น สตรีมีครรภ์หยุดงานได้ 40 วัน  หลังคลอดผู้ดูแลทารกพักงานได้ 160 วัน ซึ่งผู้ดูแลนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นแม่เสมอไป อาจเป็นพ่อ หรือพ่อแม่บุญธรรมที่นำทารกไปเลี้ยงก็ได้   

4.การให้ความสำคัญสูงแก่สิ่งแวดล้อม  ฟินแลนด์ไม่น้อยหน้าประเทศก้าวหน้าทั้งหลายในด้านดูแลสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้อากาศปราศจากมลพิษร้ายแรงและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่มีผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ

5.การมีการศึกษาสูง  ฟินแลนด์ลงทุนด้านการศึกษาในอัตราสูงกว่าประเทศก้าวหน้าเป็นส่วนใหญ่  เยาวชนไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลจากชั้นประถมจนถึงชั้นอุดมศึกษา 

ชาวฟินแลนด์สนใจในด้านอาชีวศึกษาสูงมาก  เยาวชนเกิน 2 ใน 3 จึงเรียนในสถาบันอาชีวศึกษา  พวกเขาราว 98% เรียนในสถาบันการศึกษาของรัฐและมักเรียนจบออกมาโดยไม่มีหนี้สิน

ทั้ง 5 ปัจจัยเป็นการมองในระดับภาพรวม  ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ว่าชาวฟินแลนด์ใช้ชีวิตและคิดอย่างไรตามแนวปัจจัยที่ทำให้คนเป็นสุข

ในบทความซึ่งตีพิมพ์ในคอลัมน์นี้ประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552  บทความนั้นเสนอผลการศึกษาซึ่งสรุปว่า หลังมีปัจจัย 4 เพียงพอแล้ว มนุษย์เรามีความสุขจากความสัมพันธ์อันดีกับผู้ที่อยู่รอบข้างรวมทั้งการมีเพื่อน  การเคลื่อนไหวอยู่เป็นนิจ  ความช่างสังเกต  การเรียนรู้ตลอดเวลา  การให้ พร้อมทั้งการมีอาหารดี งานดีและสิ่งแวดล้อมดี 

หากเทียบด้าน 5 ปัจจัยกับเมืองไทยซึ่งอยู่ในลำดับที่ 58 ในบรรดา 143 ประเทศ ฟินแลนด์ดูจะมีความเหนือกว่าใน 4 ปัจจัย 

การเท่าเทียมกันของสองเพศเท่านั้นที่ไทยดูจะไม่ด้อยกว่า  นอกจากนั้น ยังมีอีก 3 ปัจจัยที่คงทำให้ชาวฟินแลนด์มีความสุขมากกว่าชาวไทยอย่างมีนัยสำคัญ

นั่นคือ โดยเฉลี่ยชาวฟินแลนด์มีรายได้มากกว่าชาวไทยราว 2.5 เท่า แต่มีความเหลื่อมล้ำต่ำกว่ามากหากดูจากค่าดัชนีชี้วัดความเหลื่อมล้ำ (Gini) ซึ่งของฟินแลนด์อยู่ที่ 26.6 ส่วนของไทยอยู่ที่ 35.1 

และปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอันสำคัญยิ่งคงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากความฉ้อฉล  ข้อมูลขององค์กรความโปร่งใสสากล บ่งว่า ฟินแลนด์ได้คะแนน 87 ซึ่งอยู่ลำดับ 2 รองจากเดนมาร์กเท่านั้นในด้านการมีความโปร่งใสสูง  ส่วนไทยได้แค่ 35 ซึ่งอยู่ในลำดับ 108 ในจำนวน 180 ประเทศ

ความฉ้อฉลสูงขนาดนี้คงเป็นที่รับได้ชองชาวไทย โดยทั่วจึงยังไม่หยุดส่งยิ้มสยาม  แต่ความสุขโดยทั่วไปที่ไม่สูงนักคงบ่งว่ายิ้มนั้นอาจไม่จริงใจเสมอไป.