สหรัฐแนะปาเลสไตน์คุยตรงฝ่ายเกี่ยวข้องตั้งรัฐอิสระ
สหรัฐกล่าวว่า การตั้งรัฐปาเลสไตน์อิสระควรใช้การเจรจาโดยตรงกับภาคีที่เกี่ยวข้องไม่ใช่เวทีสหประชาชาติ
ตามที่เมื่อวันอังคาร (2 เม.ย.67) องค์การปาเลสไตน์ (พีเอ) ขอให้พิจารณาคำขอเป็นสมาชิกสหประชาชาติเต็มตัวของพีเออีกครั้ง จากที่เคยยื่นไว้ในปี 2011 และได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ในปี 2012 แต่ยังมิใช่สมาชิกยูเอ็น
ล่าสุดนายแมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ว่าสหรัฐจะใช้สิทธิยับยั้ง (วีโต้) ในคณะมนตรีความมั่นคงสกัดคำขอของปาเลสไตน์หรือไม่ โฆษกตอบว่ายังไม่คาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่การตั้งรัฐปาเลสไตน์อิสระพร้อมการค้ำประกันความปลอดภัยให้อิสราเอล “เป็นเรื่องที่ควรกระทำผ่านการเจรจาโดยตรงระหว่างภาคีที่เกี่ยวข้อง เป็นสิ่งที่เรากำลังผลักดันในตอนนี้ ไม่ใช่ในสหประชาชาติ”
ทั้งนี้ ท่าทีของสหรัฐ พันธมิตรรายสำคัญที่สุดของอิสราเอลมักสะท้อนจุดยืนของอิสราเอลในกรณีนี้
ความพยายามผลักดันเข้าเป็นสมาชิกยูเอ็นเต็มตัวของปาเลสไตน์ เกิดขึ้นในช่วงที่สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส กลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ในกาซาใกล้ครบหกเดือน และอิสราเอลกำลังขยายการตั้งถิ่นฐานในเขตยึดครองเวสต์แบงก์
เดือนเม.ย.นี้ มอลตาเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) วาเนสซา เฟรเซียร์ ทูตมอลตาประจำยูเอ็น กล่าวว่า คำขอของปาเลสไตน์ได้รับการเผยแพร่ไปยังสมาชิก UNSC แล้ว อยู่ระหว่างกระบวนการปรึกษาหารือเพื่อหาหนทางที่เหมาะสม
ด้าน นายริยาด มันโซร์ ทูตปาเลสไตน์ประจำยูเอ็น กล่าวกับรอยเตอร์ เมื่อวันจันทร์ (1 เม.ย.67) ว่า เป้าหมายของการผลักดันก็เพื่อให้ UNSC ตัดสินใจในการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยตะวันออกกลางในวันที่ 18 เม.ย. 67 แต่ยังไม่ได้กำหนดวันลงมติ
การสมัครเป็นสมาชิกยูเอ็นเต็มตัวต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิก UNSC 15 ชาติ ที่สหรัฐมีสิทธิวีโต้ จากนั้นต้องได้เสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 ของที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ 193 ประเทศ
นับตั้งแต่อิสราเอล และพีเอลงนามข้อตกลงออสโลกันช่วงต้นทศวรรษ 1990 ความเป็นไปได้ของรัฐปาเลสไตน์คืบหน้าไปเพียงน้อยนิด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์