รถไฟจีน ผลงานชิ้นโบแดง | กันต์ เอี่ยมอินทรา
"ระบบราง" ผลงานชิ้นโบแดงของจีน ไม่ได้เกิดจากอานิสงส์ช่วงสงครามโลกเหมือนกับประเทศในยุโรป แต่เพราะรัฐบาลจีนพัฒนาขึ้นเอง และช่วยกระจายความรุ่งเรืองไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ น่าเสียดายที่ระบบรางของไทยยังคงย่ำอยู่กับที่
รถติด รถทัวร์เต็ม อุบัติเหตุเยอะ คือปัญหาคลาสสิกในช่วงสงกรานต์และในทุกวันหยุดยาว
ปัญหาการกระจายความเจริญและงานที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในแทบทุกประเทศทั่วโลก และหลายประเทศทั่วโลกก็ได้ใช้ระบบรางมาแก้ไขปัญหานี้ตั้งแต่อดีตและยังใช้ได้ดีจนปัจจุบัน
อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอีกหลายประเทศในยุโรป คือหนึ่งในประเทศตัวอย่างที่เรียกได้ว่ายังกินบุญเก่า มรดกตกทอดตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเรื่อยมาจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สร้างทางรถไฟครอบคลุมเมืองใหญ่ต่างๆ ผลประโยชน์ทางการเมือง/ทหาร จากการสร้างทางรถไฟนี้ในที่สุดแล้วก็เกิดเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และกลายเป็นหัวใจหลักของการขนส่งมวลชนในยุโรป
เช่นเดียวกับญี่ปุ่น แม้จะเป็นประเทศในเอเชีย แต่ก็ได้รับอานิสงส์ความเจริญและเทรนด์ของการสร้างการขนส่งระบบรางนี้เป็นประเทศแรกๆ ในทวีป (เช่นเดียวกับไทย) แต่สิ่งที่ญี่ปุ่นทำได้ดีกว่าฝั่งยุโรปก็คือ การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประเทศที่มีขนาดกลางแห่งนี้มีระบบรางที่ถือว่ายาวที่สุดเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย (รองจากจีนและอินเดีย) และเป็นอันดับที่ 11 ของโลก โดยรวมรางรถไฟทั่วประเทศได้กว่า 27,331 กม.
แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ยังไม่สามารถเทียบได้กับ “จีน” ประเทศที่มีความยาวรางรถไฟยาวที่สุดในเอเชีย และเป็นที่ 2 ของโลก (รองจากสหรัฐ) กว่า 159,000 กม. และสิ่งที่น่าสนใจมิใช่เฉพาะความยาวของรางรถไฟเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยี การเดินรถด้วยไฟฟ้า ซึ่งจีนถือว่าเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยกว่า 75% ของรางรถไฟที่แสนยาวของจีนนั้นเดินรถด้วยไฟฟ้า
และอีกประการหนึ่งก็คือรางสำหรับรถไฟความเร็วสูง (Hi-speed) ที่มีความยาวรวมกว่า 45,000 กม. ซึ่งถือเป็นที่ 1 ของโลก โดยไม่มีประเทศใดในโลกที่สามารถเทียบได้ เพราะประเทศอันดับ 2 อย่างสเปนก็มีความยาวรางรวมเพียง 4,327 กม. (ไม่ถึง 10% ของจีน) หรือแม้กระทั่งประเทศที่เราคุ้นเคยกับรถไฟความเร็วสูงอย่างดีอย่างญี่ปุ่น ก็มีความยาวรางสำหรับรถไฟความเร็วสูงนี้เพียง 2,727 กม. (ถือเป็นอันดับ 4 ของโลก)
ที่น่าอึ้งกว่านั้นคือ ความยาวของรางรถไฟความเร็วสูงของจีนนั้นไม่ได้ขึ้นอันดับ 1 เพราะบุญเก่าจากมรดกเป็นร้อยปีของการพัฒนาประเทศในอดีตอย่างหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ สหรัฐ รวมถึงไทย แต่รถไฟความเร็วสูงของจีนนั้น เนรมิตขึ้นจากการพัฒนาในระยะไม่กี่สิบปีนี้เอง โดยเฉพาะในช่วงไม่เกิน 20 ปีหลังที่การพัฒนาสร้างรางนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับกว่า 10% จากปีก่อนหน้า (ในช่วงปี 2555-2562) และบางปีก็พัฒนาก้าวกระโดดกว่า 45% (ปี 2557)
การพัฒนาเพิ่มรางรถไฟฟ้าความเร็วสูงอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้งนี้ ยังไม่นับรวมระยะทางอีกกว่า 28,000 กม. ที่ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งก็มีงานวิจัยออกมาแล้วว่า การเพิ่มของรางรถไฟความเร็วสูงในจีนนี้ ช่วยกระตุ้นเม็ดเงินให้เข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะเมืองใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของจีนนั้นกว่า 10% ไม่รวมการจ้างงาน การผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ มูลค่าที่ดิน การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และไม่รวมผลประโยชน์ทางสังคมในเรื่องของการกระจายความเจริญ และผลประโยชน์ในทางสิ่งแวดล้อม
สิ่งที่น่าเสียดายที่สุดสำหรับไทยก็คือ ความภูมิใจในระบบรางของไทยที่ถือเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียนั้นยังย่ำอยู่ในอดีต เพราะเราแทบจะไม่มีการพัฒนาระบบรางเพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นก็เรียกได้ว่าน้อยและช้ามาก ไม่ทันใช้งาน ไม่ต้องพูดถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมระหว่างเมืองใหญ่ แต่เชื่อมระหว่าง 3 สนามบิน เรายังไปไม่ถึงไหน ถือเป็นโอกาสที่ประเทศชาติเสียไป
โครงการรถไฟความเร็วสูงของไทยมูลค่ารวม 2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 4 เท่าของนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” 5 แสนล้านบาท แต่น่าเสียดายที่ไม่มีพรรคการเมืองใดหยิบมาใช้หาเสียงเลย ทั้งที่โครงการนี้จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย อย่างน้อยที่สุดก็คุ้มค่าเงินมากกว่าดิจิทัลวอลเล็ตแน่ๆ