ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาจะได้บริหารประเทศกี่โมง

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาจะได้บริหารประเทศกี่โมง

ตั้งชื่อหัวเรื่องด้วยสำนวนแบบที่กำลังฮิตกันอยู่ในปัจจุบัน เพื่อตอบคำถามสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังจับตาอยู่ในเวลานี้ รัฐบาลทหารเมียนมากำลังซวดเซพ่ายแพ้ในสมรภูมิ หลายพื้นที่ทั่วประเทศถูกกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ยึดได้

แล้วเมื่อไหร่ที่เมียนมาจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ อย่างเป็นทางการ มีประเทศใหม่ที่นำโดยชนกลุ่มน้อยตั้งขึ้นมาหลาย ๆ ประเทศ ดูเหมือนหลายฝ่ายที่ติดตามสถานการณ์อยู่วงนอก จะลุ้นอย่างเชื่อมั่นเหลือเกินว่าเหตุการณ์แบบคาบสมุทรบอลข่านล่มสลาย หรือสหภาพโซเวียตแตกนั้นจะเกิดในเวลานี้แน่

หรืออย่างน้อยรัฐบาลที่มีจากประชาธิปไตยจะได้ตั้งมั่น แต่ประเมินแล้ว ไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ หรอกจ้า รัฐบาลมิน อ่อง หล่าย จะไปได้ก็ถ้าไม่เกิดการส่งมอบต่ออำนาจกันภายใน ก็เกิดจากการปฏิวัติซ้อนของทหารด้วยกันนั่นแหล่ะ

ที่เชื่อขนาดนี้ก็ต้องดูปัจจัยแรกคือ กองกำลังชนกลุ่มน้อยจะเอาอะไรมาปกครองประเทศ  จริงอยู่ที่เราเห็นศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีตหลายอย่าง เช่น ครอบครองอาวุธทางอากาศ สามารถส่งโดรนก่อกวนได้ถึงกรุงเนปิดอร์ หรือสกัดกั้นการรุกโต้ของทหารเมียนมาได้

เราเห็นการสนธิกำลังหลายกลุ่มเข้ายึดเมืองเล็กเมืองน้อยของเมียนมาได้ด้วย เราเห็นการสนับสนุนอาวุธจากชาติใหญ่ ๆ ทั้งหลายให้แก่กลุ่มเหล่านี้อย่างไม่ต้องเหนียม แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มติดอาวุธพร้อมที่จะประกาศเอกราช บริหารประเทศกันเอง

ในแคว้นทางตะวันตก ที่รัฐยะไข่และรัฐชิน เกือบตกอยู่ภายใต้อำนาจของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดแล้ว หรือพื้นที่ตอนบนที่กองกำลังของคะฉิ่นและว้าแดงมีแสนยานุภาพมากเหลือเกินนั้น ยังไม่กล้าประกาศเอกราชแยกตัวออกจากสหภาพเมียนมากันเลย  ได้แค่เป็นออโตโนมีกันทางพฤตินัย

นั่นก็เพราะกลุ่มเหล่านี้มีดีแต่ที่นักรบ ขาดองค์ประกอบอีกมากที่จะสร้างชาติได้ ตั้งแต่บุคลากรที่อาจจะมีตัวเก่งแต่ก็อยู่ต่างประเทศ ศรัทธาหรือความยึดโยงกับประชาชนในพื้นที่มีมากน้อยขนาดไหนก็ไม่รู้

ถ้าแยกออกมาตั้งเป็นเอกเทศแน่ใจหรือว่าจะได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติให้เป็นรัฐให้อยู่รอดได้ เหมือนที่ติมอร์-เลสเตหรือโคโซโวผ่านกระบวนการมา

สิ่งเหล่านี้ทำให้ Chinland ไม่กล้ากระทำการสะเทือนความสัมพันธ์กับฝ่ายอื่น ๆ ที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลทหารเมียนมาด้วยการประกาศเอกราช ส่วนกลุ่มที่รวมตัวกันอย่างหลวม ๆ เช่น สภากอบกู้รัฐฉานหรือกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงนั่นยิ่งแล้วใหญ่ กลุ่มเหล่านี้ก็ยังยึดโยงกับความเป็นสหภาพเมียนมาอยู่ดี

ทั้งนี้ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ หรือความชอบธรรมที่จะทำให้ได้รับความช่วยเหลือจากต่างชาติต่อไป และที่สำคัญที่สุดก็คือไม่ทำให้พวกเขาต้องแตกหักกันเองในหมู่ชนเชื้อสายเดียวกัน

อันหลังนี่เป็นประเด็นที่ทำให้ฉานหรือกะเหรี่ยงบริหารประเทศเองไม่ได้ พวกเขามีหลายกลุ่ม ช่วยกันรบทหารเมียนมานั่นก็แค่ห้วงเวลาหนึ่ง หากเมียนมาออกไปเดี๋ยวก็รบกันเองอีก  อดีตมีเห็นกันบ่อย ส่วนว้าแดงหรือโกกั้งนั้นก็ไม่คิดจะตั้งรัฐอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ เพราะยังสบายใจกับการอยู่ได้ด้วยส่วยมากกว่าจะปวดหัวดูแลประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่การบริหารรัฐต้องมี

แล้วมีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ฝ่ายประชาธิปไตยที่ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในต่างแดน มีที่นั่งในยูเอ็น มีการสนับสนุนอย่างเป็นระบบจากชาติตะวันตก และมีกองกำลัง PDF กระจายอยู่ทั่วประเทศจะได้ตั้งรัฐบาลจริง บริหารประเทศแทนรัฐบาลมิ้นเสียที

อันนี้ก็ยาก  เพราะกองทัพเมียนมายังแข็งแกร่งในพื้นที่ตอนกลางที่มีชาวม่านเป็นเชื้อสายหลัก รัฐบาลทหารเมียนมาก็ไม่มีทีท่าว่าจะปล่อยให้มีการเลือกตั้ง แล้วพวกประชาธิปไตยจะเหาะมาจากต่างแดนบริหารประเทศได้อย่างไร

หากรัฐบาลมิ้นล่ม ก็ไม่น่าใช่เพราะ PDF หรือชนกลุ่มน้อยจะเคลื่อนทัพทางไกลมายึดเมืองหลวง แต่ก็จะล่มเพราะแย่งอำนาจในหมู่ทหารด้วยกันเอง ฝ่ายประชาธิปไตยก็ได้แต่ตั้งสภาลอยอยู่ภายนอกประเทศเหมือนเดิม

แล้วแนวโน้มที่รัฐบาลทหารเมียนมาจะปล่อยอำนาจให้ประชาชนนั้นก็ยาก เพราะต่อให้ดูเหมือนอ่อนแรงขนาดไหน จีน รัสเซียและอาจรวมถึงอินเดียก็ยังหนุนหลังพวกเขาอยู่  เพราะหากรัฐบาลมิ้นล้มไป จีนจะเสียผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ที่เคยดีลไว้ กระเทือนทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียของตน

จีนจึงพยายามสร้างจุดสมดุลที่รัฐบาลเมียนมาอยู่ร่วมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ได้แบบไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะอีกฝ่ายแบบเบ็ดเสร็จ ส่วนรัสเซียเป็นแหล่งอาวุธของรัฐบาลเมียนมา ขณะที่อินเดียอาศัยรัฐบาลเมียนมาสกัดกั้นอิทธิพลของกลุ่มต่อต้านตนในแคว้น Northwest มานานแล้ว

ในเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว สถานการณ์ความซับซ้อนนี้จะลงเอยอย่างไร หรืออย่างน้อยก็คลี่คลายไปในทิศทางไหนก็ช่าง แต่ไทยก็ไม่ต้องเต้นไปกับสถานการณ์มาก เมียนมาก็จะมีศึกแล้วสงบ สงบไปพักหนึ่งแล้วก็รบกันใหม่เหมือนต้องคำสาปอยู่อย่างนี้แหล่ะ ตราบใดที่ยังมีผลประโยชน์มหาศาลในพื้นที่ ยังมีการคำนึงถึงเชื้อชาติเป็นใหญ่ และมีตัวแปรภายนอกมากมาย

ขอให้ไทยใจเย็น ดูแลชายแดนให้ดี แค่นี้ก็เอาอยู่.