ผู้นำใหม่ไต้หวันเตรียมเสริมเขี้ยวเล็บ ติดตั้ง“ขีปนาวุธ-โดรน”รับมือจีน
ไต้หวันกำลังหาทางรับมือกับภัยคุกคามทางทหารจากจีนอย่างจริงจัง ด้วยการเร่งผลิตระบบขีปนาวุธต่อต้านเรือ,ทดสอบขีปนาวุธต่อต้านอากาศและติดตามความคืบหน้าการผลิตโดรนด้านการทหารหลายพันเครื่อง
“ไล่ ชิงเต๋อ”ประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวันที่สาบานตนรับตำแหน่งในวันนี้ (20พ.ค.) มีกลยุทธที่ดีที่สุดในการสกัดกั้น หรือป้องกันจีนไม่ให้ยึดไต้หวัน หนึ่งในนั้นคือการเสริมเขี้ยวเล็บประเทศด้วยการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อติดตั้งขีปนาวุธและโดรน
บทเรียนต่างๆที่ไล่ เรียนรู้จากการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนในการพัฒนาโดรนในเวลาอันรวดเร็วเพื่อเป็นอาวุธแทนอาวุธหนักแบบเก่าทำให้เขามีความคิดที่จะสนับสนุนการผลิตเทคโนโลยีด้านการทหารของประเทศหลังจากเข้ามาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการอแล้ว
“ไต้หวันกำลังหาทางรับมือกับภัยคุกคามทางทหารจากจีนอย่างจริงจัง ตอนนี้ไต้หวันเร่งผลิตระบบขีปนาวุธต่อต้านเรือ,ทดสอบขีปนาวุธต่อต้านอากาศและกำลังติดตามความคืบหน้าในการผลิตโดรนด้านการทหารหลายพันเครื่อง ผมคาดว่า ความพยายามต่างๆเหล่านี้ของไต้หวันยังคงดำเนินต่อไปในรัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การนำของไล่ รวมทั้งจัดซื้ออุปกรณ์จากสหรัฐและพัฒนาแพล็ตฟอร์มขนาดใหญ่ เช่นเรือดำน้ำ” เรย์มอนด์ กั๊วะ ผู้อำนวยการนโยบายไต้หวันจากแรนด์ คอร์พอเรชัน กล่าว
ไล่ ซึ่งมีนโยบายไม่ต่างจากประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน คือไม่ยอมรับการอ้างอธิปไตยเหนือไต้หวันของปักกิ่ง คว้าชัยในการเลือกตั้งเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลปักกิ่งจะเตือนว่าไล่อาจนำสงครามและความตกต่ำมาสู่ไต้หวัน ขณะที่ปักกิ่ง ประกาศกร้าวว่าจะรวมไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนและพร้อมจะใช้กำลังทางทหารหากว่าจำเป็น
ไล่ เข้ามาบริหารประเทศแทนอดีตประธานาธิบดีไช่ ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่รัฐบาลปักกิ่งในช่วง 8 ปีที่เธอบริหารประเทศด้วยการเพิ่มการใช้จ่ายด้านกองทัพ, พัฒนาอุปกรณ์ที่ไต้หวันผลิตเอง อาทิ เรือดำน้ำ และเรือ รวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐ
รัฐบาลสหรัฐเปลี่ยนจากการรับรองทางการทูตไต้หวันมาเป็นปักกิ่งในปี 2522 แต่ยังคงเป็นหุ้นส่วนสำคัญที่สุดของไต้หวัน ทั้งยังเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่สุดให้แก่ไต้หวันด้วย
ช่วงสี่ปีที่ผ่านมา กองทัพจีนทำกิจกรรมรอบไต้หวันเพิ่มขึ้นมาก เช่น ส่งเครื่องบินรบบินเหนือเส้นกลางช่องแคบเสมอ แต่จีนไม่เคยยอมรับการมีอยู่ของเส้นกลางนี้
ด้านกระทรวงกลาโหมไต้หวันเผยเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงเครื่องบินจีนหกลำบินข้ามเส้นกลางช่องแคบ เข้ามาในพื้นที่ทางตะวันตกของหมู่เกาะเผิงหู ที่ตั้งฐานทัพอากาศใหญ่และในเดือนที่ผ่านมา จีน ยังลาดตระเวนร่วมเพื่อเตรียมความพร้อมรบอย่างน้อยสองครั้งใกล้เกาะไต้หวัน
แหล่งข่าวความมั่นคงของไต้หวันเตือนเสมอว่า จีนอาจใช้กองทัพแสดงความไม่พอใจในตัวนายไล่
ในปี 2565 จีนเคยซ้อมรบใหญ่ใกล้ไต้หวันหลังการเยือนของ“แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในขณะนั้น และในปี 2566 หลังประธานาธิบดีไช่เปลี่ยนเครื่องที่แคลิฟอร์เนียและได้พบกับ“เควิน แมคคาร์ธี” รองประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐถัดจากนางเพโลซี
ขณะที่เซาท์ไชนา มอร์นิง โพสต์รายงานว่า การสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวันของไล่อาจจะส่งสัญญาณเป็นมิตรมากขึ้นในความสัมพันธ์ช่องแคบไต้หวันแต่รัฐบาลจีนดูเหมือนจะไม่ได้สนใจสัญญาณที่ว่านี้
บรรดานักวิเคราะห์ มีความเห็นว่า ไล่ยังคงมีโอกาสที่จะแสดงความปรารถนาดีต่อจีนในการสาบานตนรับตำแหน่ง ซึ่งความคาดหวังของจีนเกี่ยวกับการกล่าวสุนทรพจน์ของไล่เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่บรรดาผู้สังเกตการณ์มองว่า อาจจะทำให้ไล่มีเวลามากขึ้นก่อนตัดสินใจเพื่อดำเนินการด้านต่างๆในการส่งเสริมความสัมพันธ์ช่องแคบไต้หวัน
“ปักกิ่งคาดหวังอย่างมีข้อจำกัดและอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงเกี่ยวกับการกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของไล่ แต่ก็ยังมีโอกาสให้เขาปรับปรุงความสัมพันธ์ช่องแคบไต้หวันให้ดีขึ้นได้”นักวิเคราะห์ ให้ความเห็น
คาดว่าไล่จะกล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสรับตำแหน่งครอบคลุมประเด็นต่างๆที่เป็นกลยุทธที่สำคัญ รวมถึงความสัมพันธ์ของรัฐบาลไต้หวันกับรัฐบาลปักกิ่งและรัฐบาลวอชิงตัน
บรรดานักวิเคราะห์ กล่าวว่า รัฐบาลจีนจะจับตามองการกล่าวสุนทรพจน์ของไล่อย่างใกล้ชิดแม้ว่าจะมีความคาดหวังเกี่ยวกับการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนี้อย่างจำกัด
“เขาเคยบอกว่าตัวเองเป็นนักปฏิบัติอิสระ เพราะฉะนั้น จีนจึงมีมุมมองทั่วไปเกี่ยวกับเขา รัฐบาลปักกิ่งมีระดับความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวเขาเป็นศูนย์ หรือ ติดลบ ซึ่งสถานการณ์นี้อาจจะอันตรายมากหลังจากเขาเข้ามาบริหารประเทศ” จู ซงหลิง ศาสตราจารย์จากสถาบันไต้หวันศึกษาปักกิ่ง ยูเนียน ยูนิเวอร์ซิตี้ กล่าว
ไล่ ถูกมองว่าเป็นตัวปัญหาของจีน โดยเฉิน ปินหัว โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันแห่งคณะรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า “จุดยืนของเราในการแก้ไขปัญหาไต้หวันและบรรลุการรวมชาติยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยปณิธานของเรานั้นแข็งแกร่งดังหินผา เราจะยึดถือฉันทามติ 2535 ที่กำหนดหลักการจีนเดียว และคัดค้านกิจกรรมแบ่งแยกดินแดนอันมุ่งเป้าที่ ‘เอกราชไต้หวัน’ รวมถึงการแทรกแซงจากต่างชาติ”
ด้วยมุมมองดังกล่าวของจีนที่มีต่อผู้นำคนใหม่ของไต้หวัน ทำให้มีการคาดการณ์ว่า จีนจะเพิ่มแรงกดดันด้านการทหารแก่ไต้หวันมากขึ้นในอนาคต ตอกย้ำความท้าทายด้านความมั่นคงแก่รัฐบาลชุดใหม่ของไล่โดยตรง
“ความเป็นจริงในตอนนี้คือรัฐบาลบริหารประเทศของไล่จำเป็นต้องเดินหน้าปฏิรูปขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศและหาทางป้องกันการรุกรานจากให้จีน”อแมนดา ไซโอะ จาก International Crisis Group (ICG) กล่าว