สุดล้ำ ! นักวิทย์ฯพัฒนาแบตฯบางเฉียบ ใช้ใน 'สมาร์ตคอนแทคเลนส์' ชาร์จง่ายด้วยน้ำตา !

สุดล้ำ ! นักวิทย์ฯพัฒนาแบตฯบางเฉียบ ใช้ใน 'สมาร์ตคอนแทคเลนส์' ชาร์จง่ายด้วยน้ำตา !

นักวิทยาศาสตร์พัฒนาแบตเตอรี่บางเฉียบสำหรับใช้ในสมาร์ตคอนแทคเลนส์ คาดสามารถชาร์จพลังงานได้ด้วยน้ำตา แต่แบตฯยังคงไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการใช้งานสมาร์ตคอนแทคเลนส์เหมือนในภาพยนตร์ Mission Impossible

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีเปิดเผยว่า นักวิทยาศาสตร์วิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่แบบบางเฉียบ สำหรับสมาร์ตคอนแทคเลนส์ และอาจสามารถชาร์จไฟฟ้าด้วยน้ำตาได้ !

ศาสตราจารย์อี ซอกอู นักวิทยาศาสตร์จากคณะวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยนันยาง ประเทศสิงคโปร์ เผยกับซีเอ็นบีซีว่า ภาพยนตร์ Mission Impossible เป็นแรงบันดาลใจในการประดิษฐ์ “แบตเตอรี่สำหรับสมาร์ตคอนแทคเลนส์

ฉากที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับนายอีอยู่ใน Mission Impossible ภาค 4 ที่เจ้าหน้าที่ในเรื่องใส่คอนแทคเลนส์ที่สามารถจดจำใบหน้า และตรวจจับดวงตาได้ ทำให้อีอยากสร้างคอนแทคเลนส์เหล่านั้นขึ้นมาจริง ๆ

ด้วยความเชี่ยวชาญด้านส่วนประกอบแบตเตอรี่ของรศ.อี จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว และเขาก็ตระหนักดีว่า สมาร์ตคอนแทคเลนส์ต้องใช้แบตเตอรี่ที่ปลอดภัยและขนาดกะทัดรัด

แบตเตอรี่บางเฉียบ ชาร์จด้วยน้ำตา

ปกติแล้ว คอนแทคเลนส์ที่บางที่สุดอยู่ที่ 0.5 มิลลิเมตร ดังนั้น ขนาดและความยืดหยุ่นของแบตเตอรี่ในสมาร์ตคอนแทคเลนส์ คือปัจจัยสำคัญเพื่อไม่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกระคายเคือง

รศ.อี และทีม ได้ประดิษฐ์แบตเตอรี่แบบบางเฉียบขึ้นมา โดยเขาเผยว่า แบตเตอรี่ของตนมีขนาดเพียง 0.2 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าบางกว่าเส้นผมของมนุษย์ราว 2 เท่า

แบตเตอรี่ดังกล่าว เป็นแบตฯที่ขับเคลื่อนโดยใช้น้ำเกลือที่เข้ากันได้ทางชีวภาพ ทดแทนการใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่มีส่วนผสมวัตถุไวไฟ แบตเตอรี่ชนิดใหม่นี้จึงสามารถชาร์จไฟโดยใช้ลวดธรรมดาหรือใช้วิธีทางเคมีก็ได้ รศ.อี ได้สาธิตโดยการนำแบตเตอรี่ตัวใหม่ที่เคลือบด้วยกลูโคส จุ่มลงไปในน้ำเกลือ จากนั้นกลูโคสจะทำปฏิกิริยากับโซเดียมและคอลไรด์เพื่อชาร์จพลังงาน

หลังจากชาร์จพลังงานทางเคมี 8 ชั่วโมง แบตเตอรี่จะพร้อมใช้งานที่ระดับ 80% จากนั้นสามารถใช้ต่อได้อีก 2-3 ชั่วโมงในระหว่างวัน แต่ยังมีวิธีที่เหนือคาดกว่านั้นในการชาร์จแบตเตอรี่บางเฉียบนี้

“น้ำเกลือจากน้ำตาก็มีกลูโคส นั่นหมายความว่า ขณะที่คุณสวมคอนแทคเลนส์นี้ น้ำตาของคุณสามารถชาร์จแบตเตอรี่ให้มันได้ !” รศ.อี กล่าว และว่า “ถ้าร้องไห้มาก ก็ชาร์จได้มาก !”

ค้นคว้าเพื่อพัฒนาต่อ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ขีดความสามารถและแรงดันไฟฟ้าของแบตเตอรี่ดังกล่าวยังคงต่ำมาก หากชาร์จด้วยสองวิธีข้างต้น โดยแบตเตอรี่สามารถผลิตแรงดันไฟฟ้าได้ประมาณ 0.3-0.6 โวลต์ ซึ่งมาตรฐานสำหรับแบตเตอรี่ AA 1 ก้อนอยู่ที่ 1.5 โวลต์

ดังนั้นการวิจัยในระดับนี้พบว่า แบตเตอรี่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะใช้พลังงานกักเก็บข้อมูลหรือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ แต่ทีมวิจัยจะพัฒนาคุณสมบัติเฉพาะให้กับแบตเตอรี่นี้ต่อไป

โดยอีเผยว่า พันธมิตรที่สนับสนุนการวิจัยอยู่ในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ จึงมองว่าแบตเตอรี่ที่ใช้กลูโคสเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพนี้ อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องตรวจน้ำตาลทุกวัน ดังนั้น ทีมจึงพยายามศึกษาว่า อุปกรณ์นี้จะสามารถตรวจระดับกลูโคสได้อย่างไร ในขณะที่ผู้ใช้งานใส่คอนแทคเลนส์อยู่

สำหรับต้นทุนการผลิตอุปกรณ์ชนิดนี้ รศ.อีมองว่า อาจใช้ต้นทุนต่ำ เมื่อพิจารณาถึงขนาดของแบตเตอรี่ ซึ่งอาจมีต้นทุนค่าแบตเตอรี่เพียง 2-3 ดอลลาร์เท่านั้น

 

อ้างอิง: CNBC