ธุรกิจ ‘ซีฟู้ดญี่ปุ่น’ เบนเข็มลุย ‘ตลาดไทย’ หลังจีนแบนอาหารทะเลแดนปลาดิบ

ธุรกิจ ‘ซีฟู้ดญี่ปุ่น’ เบนเข็มลุย ‘ตลาดไทย’ หลังจีนแบนอาหารทะเลแดนปลาดิบ

ธุรกิจจำหน่ายอาหารทะเลญี่ปุ่น เบนเข็มลุยตลาดไทย เพราะมีความต้องการบริโภคอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น หลัง "จีน" แบนนำเข้าอาหารทะเลจากแดนปลาดิบ เพราะกังวลเกี่ยวกับน้ำเสียฟูกุชิมะ

บริษัทจำหน่ายอาหารทะเลสัญชาติญี่ปุ่นแห่เข้ามาบุกตลาดในประเทศไทย ในช่วงที่ประเทศกำลังเปลี่ยนตลาดคู่ค้าสำคัญ หลังจีนระงับนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น

นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า บริษัท Sprout Investment ในเมืองโยโกฮามา เข้าไปจัดงานชิมอาหารในบาร์แห่งหนึ่งใน จ.กรุงเทพมหานคร ในช่วงปลายเดือนเม.ย. เพื่อจัดแสดงอาหารทะเลสดใหม่จากญี่ปุ่น ซึ่งเจ้าของร้านอาหารทั้งไทย และญี่ปุ่นที่เข้าร่วมงาน ต่างเพลิดเพลินไปกับซาชิมิปลาโบนิโตะ ปลาแมกเคอเรล และอาหารทะเลชนิดอื่นๆ

ผู้เข้าร่วมงานชาวไทย เผยกับนิกเคอิเอเชียว่า รู้สึกเซอร์ไพรส์ในคุณภาพของปลาโบนิโตะ และปลาแมกเคอเรล และอยากนำปลาชนิดนี้ไปจำหน่ายที่ร้านอาหารของตน

ทั้งนี้ บริษัท Sprout บริหารจัดการร้านอาหารประเภทอิซากายะมากกว่า 20 สาขาในญี่ปุ่น และบริหารอีก 1 สาขา ในกรุงเทพฯ บริษัทยังได้วางแผนขยายธุรกิจสู่ธุรกิจขายส่งอาหารทะเลในไทย อย่างเร็วที่สุดคือ ช่วงเดือนส.ค. นี้

“นาโอกิ อิตโตะ” ผู้แทนกรรมการบริษัท Sprout กล่าวว่า บริษัทเห็นศักยภาพของตลาดในไทยสูง และบริษัทจะซื้ออาหารทะเลจากคาบสมุทรโบโซของ จ.ชิบะ เป็นหลัก และนำมาจำหน่ายให้ร้านอาหารในไทย

“เราอยากจำหน่ายปลาที่สด และมีคุณภาพ ในราคากลางๆ” อิตโตะ กล่าว

ขณะที่บริษัท Uoriki ที่จำหน่ายอาหารทะเลในกรุงโตเกียว ตั้งเป้าเปิดสาขาในไทยมากถึง 100 สาขาภายใน 5 ปี ภายใต้แผนของบริษัทที่เปิดเผยเมื่อเดือนต.ค.2566

“มาซายูกิ ยามาดะ” ประธานบริษัท Uoriki กล่าว “ประเทศไทยคือ บลูโอเชี่ยน (blue ocean)" หรือหมายถึงตลาดที่ยังมีความต้องการของลูกค้าเหลืออยู่

ทั้งนี้ บริษัท Uoriki ได้ร่วมทุนกับบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) เมื่อเดือนเม.ย.2566 และเปิดกิจการที่แรกในเดือนต.ค. และบริษัทกำลังขยายสาขาเพิ่มเติมในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตของ “โลตัส” และร้านค้าปลีกในรูปขายส่งอย่าง “แม็คโคร” ซึ่งทั้งสองธุรกิจบริหารโดยบริษัทซีพี

นอกจากนี้ Uoriki ต้องการขยายธุรกิจในจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจาก จ.กรุงเทพฯ ด้วย อาทิ จ.เชียงใหม่ และกำลังพิจารณาเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจกับเซ็นทรัล กรุ๊ป และบริษัทสัญชาติไทยอื่นๆ

ขณะที่บริษัท Jalux ผู้จำหน่ายสินค้าญี่ปุ่นที่ได้รับการสนับสนุนจากเจแปนแอร์ไลน์ และบริษัทนำเข้า-ส่งออก Sojitz ได้เปิดตลาดขายส่งอาหารทะเลสดจากญี่ปุ่นใจกลางกรุงเทพฯ และมีลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ช่วงแพร่ระบาดโควิด-19

นิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า อาหารญี่ปุ่นเคยเป็นอาหารหรูหราในประเทศไทย แต่ได้รับความนิยมมากขึ้น และเข้าถึงผู้คนมากขึ้นเมื่อรายได้ในประเทศเพิ่มขึ้น และความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญต่อผู้จำหน่ายอาหารทะเลสัญชาติญี่ปุ่นราคาถูก ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคชนชั้นกลางได้

ขณะที่ตลาดไทยที่กำลังเติบโต ก็เป็นประโยชน์ต่อญี่ปุ่นเช่นกัน เนื่องจาก “จีน” อดีตผู้นำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่นรายใหญ่ที่สุด ระงับนำเข้าอาหารชนิดนี้หลังญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงงานนิวเคลียร์ลงสู่ทะเล และในการประชุมไตรภาคีระหว่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 26 พ.ค.67 ญี่ปุ่นไม่สามารถล็อบบี้จีนให้ยกเลิกมาตรการระงับนำเข้าอาหารทะเลในเร็ววัน ญี่ปุ่นจึงขยายการส่งออกอาหารทะเลมายังไทย

นิกเคอิ เอเชียระบุว่า ประเทศไทยมีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่กว่า 70,000 คน และมีร้านอาหารญี่ปุ่น รวมถึงร้านอาหารประเภทอิซากายะมากมาย จึงถือเป็นสถานที่ ที่เหมาะแก่ทดสอบการทำธุรกิจอาหารทะเลญี่ปุ่น และหวังว่าจะประสบความสำเร็จในสิงคโปร์ มาเลเซีย และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

 

อ้างอิง: Nikkei Asia

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์