เข้ายุคความล้มละลายทางศีลธรรมจรรยา!
กระบวนการยุติธรรมของสหรัฐ เพิ่งตัดสินว่าอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำผิดทางอาญาถึง 34 กระทง ส่งผลให้ความแตกแยกในสังคมอเมริกันร้ายแรงยิ่งขึ้น
ทั้งนี้เพราะชาวอเมริกันนับร้อยล้านคนมองว่า การละเมิดศีลธรรมจรรยาของนายทรัมป์เป็นเรื่องธรรมดา จึงพร้อมจะเลือกเขาให้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง
การละเมิดศีลธรรมจรรยาที่นายทรัมป์ทำอยู่แทบรายวัน ได้แก่ การโกหก เนื่องจากเขากำลังช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมกับถูกดำเนินคดีในหลายกรณี จึงมีโอกาสออกแถลงการณ์และพูดกับสื่อแทบทุกวัน
ในแถลงการณ์และการพูดเหล่านั้นมักมีการโกหกรวมอยู่ด้วย สื่อส่วนหนึ่งจึงแบ่งพื้นที่เสนอว่าเขาโกหกเรื่องอะไรในแต่ละครั้งที่ออกแถลงการณ์และพูด
สหรัฐประสบปัญหาสาหัสมานานทั้งในด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ศ.โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน ผู้ได้รับรางวัลโนเบล วิเคราะห์ปัญหามาเป็นเวลานาน และได้นำผลการวิเคราะห์มาเสนอผ่านหลายสื่อ รวมทั้งการพิมพ์หนังสืออย่างต่อเนื่อง (บางเล่มมีบทคัดย่อภาษาไทยและบทวิพากษ์อยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา )
ในบรรดาหนังสือของเขา เล่มชื่อ Freefall : America, Free Markets, and the Sinking of the World Economy ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2553 มีคำใหม่ที่เขาใช้สรุปมุมมองของเขา คือ “การขาดดุลทางศีลธรรมจรรยา” (moral deficit)
หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในสหรัฐเมื่อปี 2551 ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วโลก ชนวนของวิกฤติได้แก่การแตกของฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ฟองสบู่นั้นเกิดจากการเล่นแร่แปรธาตุของภาคการเงินที่ทรงอิทธิพล ส่งผลให้ตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ไม่รัดกุมเพียงพอ
ภาคเอกชนที่มีอิทธิพลเหนือภาคการเมืองไม่จำกัดอยู่แค่ด้านการเงินเท่านั้น หากยังมีด้านอื่นอีกด้วย รวมทั้งด้านการผลิตและค้าอาวุธปืนที่ชาวอเมริกันใช้สังหารหมู่กันเป็นประจำ
อิทธิพลดังกล่าวเกิดขึ้นได้เพราะความไม่เคารพกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกันและศีลธรรมจรรยา ก่อให้เกิดปัญหาการขาดดุลดังกล่าว
จากวันนั้นถึงวันนี้ การขาดดุลทางศีลธรรมจรรยาของสังคมอเมริกันมิได้ลดลง ตรงข้าม มันเพิ่มขึ้น หลังนายทรัมป์ถูกคณะลูกขุนตัดสินว่าทำผิดทางอาญาถึง 34 กระทง จึงมีมหาเศรษฐีจำนวนหนึ่งประกาศสนับสนุนเขาทางการเงินในการเลือกตั้งครั้งหน้า และชาวอเมริกันนับร้อยล้านแสดงการสนับสนุนเขา ณ วันนี้ สังคมอเมริกันจึงมีสภาพของ “ความล้มละลายทางศีลธรรมจรรยา”
อย่างไรก็ดี สหรัฐมิโดดเดี่ยว หากมีเพื่อนจำนวนหนึ่งซึ่งรวมทั้งประเทศไทย ย้อนไปเมื่อไทยประสบ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ปี 2540 ซึ่งจุดชนวนโดยการแตกของฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกับในสหรัฐ ผมน่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนเดียวที่มองว่า วิกฤติครั้งนั้นเป็นอาการของวิกฤติด้านศีลธรรมจรรยาในสังคมไทย
ตั้งแต่วันนั้นมา แม้อาการหรือภาวะวิกฤติจะหายไป แต่การ “ขาดดุลทางศีลธรรมจรรยา” ของสังคมไทยมิได้ลดลง ตรงข้ามมันเพิ่มขึ้น เรื่องนี้ดูได้ที่การกระทำจำนวนมาก จากระดับบุคคลโดยทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่มักง่ายและดูดายไปถึงระดับรัฐบาลซึ่ง
(1) ดำเนินนโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายจนคนไทยเสพติดงอมแงม
(2) ก่อความฉ้อฉลทางนโยบายหลากหลายอย่าง รวมทั้งการรับจำนำข้าว ที่สร้างความเสียหายร้ายแรงนอกเหนือจากงบประมาณนับแสนล้านบาท
(3) ฉ้อโกงโดยเฉพาะในเหล่าผู้นำทำให้อดีตนายกรัฐมนตรี 2 คนหลบหนีคดีอาญาไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ และผู้ร่วมกับผู้สนับสนุนการกระทำจำนวนมากติดคุก
การขาดดุลทางศีลธรรมจรรยาเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน ตัวอย่างอันโดดเด่นล่าสุด ได้แก่ คนไทยจำนวนมากสนับสนุนและเทิดทูนอดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนีคดีอาญาไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศแล้วกลับมารับโทษจำคุก แต่ไม่ถูกจองจำแม้แต่วันเดียว
เพราะปัจจัยหลายอย่างที่คงจะถูกเปิดเผยออกมาในเวลาไม่นาน ผู้สนับสนุนและเทิดทูนนักโทษเด็ดขาดผู้มีพฤติกรรมบ่งบอกความล้มละลายทางศีลธรรมจรรยาเช่นเดียวกับนายทรัมป์ จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากจะชี้ว่าเป็นผู้ล้มละลายทางศีลธรรมจรรยาเช่นเดียวกัน.