'มาเลเซีย' เตรียมสร้างท่าเรือใหม่หมื่นล้าน เพิ่มยุทธศาสตร์ช่องแคบมะละกา
'มาเลเซีย' ประกาศจับมือ 'จีน' เตรียมสร้าง 'ท่าเรือสมาร์ตเอไอ' แห่งแรกใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์ เพิ่มยุทธศาสตร์ช่องแคบมะละกา รับยุคกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน
เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียรายงานว่า มาเลเซีย ประกาศแผนเตรียมสร้างท่าเรือแห่งใหม่ขึ้นทางชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายูที่ขนานกับช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่หนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพื่อรองรับอุปสงค์ด้านโลจิสติกส์ที่เพิ่มมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก
รายงานระบุว่า ท่าเรือประเภทตู้สินค้า (container port) แห่งนี้ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 2 พันล้านริงกิต (ราว 1.56 หมื่นล้านบาท) จะมีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินการ และยังเป็นท่าเรือแห่งแรกในมาเลเซียที่จะมีการใช้เทคโนโลยีสมาร์ตเอไอด้วย
สำหรับการก่อสร้างนั้นจะนำทีมโดยบริษัท มิดพอร์ทส์ โฮลดิงส์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในมาเลเซีย ทันโก โฮลดิงส์ (Tanco Holdings) โดยจะร่วมมือกับบริษัทด้านวิศวกรรมทางทะเลจากจีน CCCC Dredging Co. ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือของรัฐวิสาหกิจจีน บริษัทไชน่า คอมมูนิเคชันส์ คอนสตรัคชัน หลังจากที่มีการลงนามเอ็มโอยูระหว่างกันไปแล้วเมื่อช่วงต้นเดือนมิ.ย.นี้
เบื้องต้นพบว่า ท่าเรือคอนเทนเนอร์แห่งใหม่นี้จะตั้งอยู่ภายในเมืองพอร์ท ดิกสัน ในรัฐเนกรี เซมบีลัน โดยจะอยู่ใกล้กับกรุงกัวลาลัมเปอร์ และอยู่บริเวณจุดศูนย์กลางของช่องแคบมะละกา ซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์จากการสัญจรที่คับคั่งการเชื่อมต่อกับย่านอุตสาหกรรมสำคัญๆ ในมาเลเซีย
"การก่อสร้างท่าเรือแห่งนี้จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายของมาเลเซียในการเป็นศูนย์กลางท่าเรือที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ เร่งการพัฒนาเศรษฐกิจในเนกรี เซมบีลัน และยกระดับสถานะทางการค้าโลกของมาเลเซีย" แอนดรูว์ ตัน ฮวน ซวน กรรมการผู้จัดการ Tanco Group ระบุในแถลงการณ์
"ความร่วมมือกับ CCCC Dredging ถือเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุวิสัยทัศน์ของเราเกี่ยวกับท่าเรือระดับโลกในพอร์ทดิกสัน ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรที่พันธมิตรของเรานำมาจะช่วยให้มั่นใจโครงการนี้จะประสบความสำเร็จ ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างงานในภูมิภาค"
ท่าเรือสมาร์ตเอไอแห่งนี้จะมีท่าเทียบเรือยาว 1.8 กิโลเมตร มีอาคารเทอร์มินัล และพื้นที่การจัดการตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 809,300 ตารางเมตร สามารถรองรับเรือสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดได้ แต่เบื้องต้นยังไม่มีการระบุเป้าหมายช่วงเวลาการก่อสร้างที่แล้วเสร็จออกมา
ขณะที่การใช้เทคโนโลยีสมาร์ตเอไออย่างเต็มรูปแบบที่ท่าเรือแห่งนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการของท่าเรือ ลดข้อผิดพลาด และอัตราการเกิดอุบัติเหตุ โดยระบบเอไอจะช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทราฟิก และการจัดการตารางเดินเรือ รวมถึงติดตามข้อมูลการดำเนินการภายในท่าเรือ และการจัดการโลจิสติกส์โดยอัตโนมัติได้ ภายในยังมีการใช้ระบบเครนอัตโนมัติ รถบรรทุกขับเคลื่อนเอง และมาตรการความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับสูง ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยลดกระบวนการให้น้อยลง ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่าย และจำกัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
นิกเคอิ เอเชียระบุว่า มาเลเซียเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการที่บริษัททั่วโลกกำลังเพิ่มความหลากหลายทางด้านซัพพลายเชน โดยสามารถดึงดูดการลงทุนด้านอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่นาน ท่าเรือกลัง (Klang Port) ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย และใหญ่สุดติดอันดับท็อป 10 ของเอเชีย ได้ประกาศจะขยายการลงทุนเพิ่มสองเท่าเพื่อรองรับดีมานด์ที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์