มองเรื่องโทรศัพท์กับโรงเรียนอเมริกัน

มองเรื่องโทรศัพท์กับโรงเรียนอเมริกัน

แทนการพักจากการทำงานอย่างหนัก เช่นเดียวกับเยาวชนในช่วงเวลาโรงเรียนปิดภาคฤดูร้อน จากตอนกลาง มิ.ย.-ปลาย ส.ค. ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของสหรัฐ จะต้องใช้เวลาในช่วง 10 สัปดาห์นี้ทำงานหนักขึ้น เพื่อตระเตรียมความพร้อมทุกด้านสำหรับปีการศึกษาใหม่ 

ทั้งนี้เพราะฤดูร้อนนี้นอกจากอากาศที่ร้อนผิดปกติแล้ว ยังมีโจทย์ที่ร้อนเป็นพิเศษสำหรับพวกเขาอีกด้วย นั่นคือ จะทำอย่างไรกับนโยบายการใช้โทรศัพท์อัจฉริยะของนักเรียน    

ในสหรัฐ รัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้จัดการศึกษาพื้นฐานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลระดับรัฐและรัฐบาลกลาง  ข้อมูลของรัฐบาลกลางในขณะนี้ชี้ว่าในปีการศึกษาที่ผ่านมา โรงเรียนราว 76% มีนโยบายเกี่ยวกับการห้ามนักเรียนใช้โทรศัพท์ในห้องเรียน 

อย่างไรก็ดี แต่ละท้องถิ่นมีกรอบและความเข้มข้นต่างกันมาก ทำให้รัฐบาลของหลายรัฐพยายามจะทำให้การห้ามใช้มีประสิทธิผลมากขึ้น นำโดยรัฐฟลอริดาซึ่งนอกจากจะผ่านกฎหมายบังคับให้โรงเรียนห้ามนักเรียนใช้โทรศัพท์ในห้องเรียนแล้ว

ยังห้ามมิให้ระบบบริการสื่อสารแบบไร้สายของโรงเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงสื่อสังคมอีกด้วย  รัฐอินเดียนาเพิ่งผ่านร่างกฎหมายในแนวเดียวกันและจะนำไปใช้ในปีการศึกษาหน้าซึ่งเริ่มในเดือน ก.ย.นี้ 

ในระหว่างโรงเรียนปิดภาคฤดูร้อนปีนี้มีผู้ว่าการของ 2 รัฐใหญ่ในทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของประเทศกำลังพยายามปรับเปลี่ยนกฎหมายให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ได้แก่ รัฐนิวยอร์กและรัฐแคลิฟอร์เนีย 

นอกจากจะมีขนาดใหญ่ในด้านพื้นที่และจำนวนประชากรแล้ว สองรัฐนี้ยังมีความนำหน้าในด้านการแสวงหาแนวคิด เศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรมอีกด้วย  จึงอาจคาดได้ว่า เมื่อร่างกฎหมายของทั้งสองผ่าน รัฐอื่นจะทำตามอย่างรวดเร็ว  

อย่างไรก็ตาม การผ่านร่างกฎหมายซึ่งฝ่ายการเมืองของทั้งพรรคเดโมแครตและพรรคริพับลิกันดูจะเห็นพ้องกันว่าต้องทำ ไม่ได้หมายความว่า การถกเถียงกันอย่างเข้มข้นในสังคมอเมริกันเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์อัจฉริยะจะยุติ  แนวโน้มบ่งว่ามันน่าจะเข้มข้นมากต่อไป  

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มันยังเข้มข้นมากต่อไป ได้แก่การขาดผลการวิจัยที่สรุปได้แบบไร้ข้อโต้แย้งว่า โทรศัพท์ดังกล่าวมีผลกระทบอย่างไรบ้างต่อเยาวชน ทั้งที่มีข้อมูลบ่งชี้ไปในทางลบเกี่ยวกับการค้ายาเสพติด การกลั่นแกล้ง การตัดขาดจากสังคม การมีสมาธิสั้นและการมีปัญหาด้านจิตเวช  

การขาดข้อสรุปดังกล่าวมิได้เกิดจากการไม่ใส่ใจในการวิจัย หากส่วนใหญ่มาจากเงื่อนไขเวลา ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีและสิ่งที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนเร็วมาก  

การที่มนุษย์เรามีความสามารถประดิษฐ์เทคโนโลยี ที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดได้อย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันขาดความสามารถที่จะหยั่งรู้ผลกระทบของมันอย่างรวดเร็วด้วย เป็นความย้อนแย้งที่มีมาตลอดประวัติการพัฒนาเทคโนโลยี

ความไม่สามารถหยั่งรู้นี้อาจมีผลร้ายแรงมากหากมนุษย์เราไม่ตระหนักไว้เสมอ หรือหลงตนเองว่ามีปัญญา หรือความสามารถที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ โดยไม่คิดว่า กระบวนการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งได้นั้นอาจสร้างปัญหาตามมาอีก  

ตัวอย่างง่ายๆ อาจได้แก่ การใช้สารเคมีที่สังเคราะห์ขึ้นมาสำหรับฆ่าแมลง  ย้อนไปในสมัยที่เมืองไทยเริ่มเข้ายุคการเร่งรัดพัฒนา เรามั่นใจว่าเรามีสารเคมีที่สามารถกำจัดยุงซึ่งแพร่เชื้อมาลาเรียได้แบบไม่ต้องกังวล ก่อนที่การวิจัยจะพบว่า สารเคมีชื่อ “ดีดีที” ที่ใช้นั้นเป็นอันตรายร้ายแรงต่อคนและสัตว์อื่นด้วย 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ติตตามความเป็นไปในโลกอย่างต่อเนื่องย่อมทราบแล้วว่า บิล เกตส์ ไปร่วมพิธีเริ่มการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นใหม่ที่เขาสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา 

เขามั่นใจสูงมากว่ามันจะแก้ปัญหาที่มาจากก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากการผลิตพลังงานโดยการเผาถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติได้  

จริงอยู่เขามีมันสมองระดับอัจฉริยะที่จะสามารถเข้าใจและมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่คนทั่วไปมองไม่เห็น  แต่ในสมัยก่อน โลกก็มีคนประเภทเดียวกับเขา  ต่อมาบางคนเสียใจที่มีส่วนทำให้เกิดเทคโนโลยีนิวเคลียร์ซึ่งนำไปสู่การสร้างอาวุธมหาประลัยที่อาจทำลายโลกให้เป็นจุณได้ในเวลาอันสั้น  

ฉะนั้น ผู้จัดการศึกษาของสหรัฐอาจยึดหลัก “กันดีกว่าแก้” ไว้ในการพิจารณานโยบายการใช้โทรศัพท์ของนักเรียน.