‘ดาบสองคม’ หรือ ‘ตัวช่วยคว้าชัย’ เมื่อ AI มีบทบาทในศึกเลือกตั้งทั่วโลก

‘ดาบสองคม’ หรือ ‘ตัวช่วยคว้าชัย’ เมื่อ AI มีบทบาทในศึกเลือกตั้งทั่วโลก

“ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ” เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งทั่วโลก แม้เอไอเป็นตัวช่วยที่สามารถหนุนให้พรรคการเมืองได้รับชัยชนะ แต่คนบางกลุ่มยังคงใช้เอไอแทรกแซงการเมืองในทางที่ผิด

นิกเคอิเอเชีย ได้ยกตัวอย่างการปรับใช้เอไอในศึกเลือกตั้งทั่วโลก ไว้หลายกรณี อาทิ ปราโบโว ซูเบียนโต ว่าที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่ได้รับชัยชนะจากการพึ่งพาเอไอเป็นตัวช่วยหาเสียง

ก่อนหน้านี้ซูเบียนโตเคยลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 2 ครั้ง แต่ประสบความล้มเหลว เนื่องจากพยายามแสดงตนว่าเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง แต่กลุ่มคนหนุ่มสาวกลับมองว่าภาพลักษณ์นั้นน่ากลัว 

ในการเลือกตั้งปีนี้ เขาจึงต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดูอ่อนโยนเพื่อดึงดูดผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงวัยหนุ่มสาว ทีมหาเสียงของเขาจึงสร้างตัวการ์ตูนหน้ายิ้ม ซึ่งเป็นตัวแทนของซูเบียนโตในเวอร์ชันดิจิทัล ความสำเร็จจากการใช้อวตาร ได้แสดงให้เห็นว่า พลังของเอไอมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งในภูมิภาคเอเชียมากเพียงใดในปีนี้

เอไอแปลนโยบายของนายกฯอินเดียได้หลายภาษา

พรรคภารตียชนตา หรือ BJP (Bharatiya Janata Party) ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดียได้ใช้เอไอเพื่อแปลสุนทรพจน์ของนายกฯให้เป็นภาษาฮินดี และภาษาอื่น ๆ อีก 8 ภาษา รวมถึงการแปลภาษาทมิฬแบบเรียลไทม์

เอไอคิดสโลแกนให้พรรคญี่ปุ่น

แม้แต่ในญี่ปุ่น ประเทศที่เทคโนโลยีมีบทบาทน้อยในการเมือง ก็หันมาใช้เอไอบ้างแล้ว โดยสโลแกนสั้น ๆ สำหรับโปสเตอร์หาเสียงของพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party: LDP) ที่เผยแพร่เมื่อเดือน เม.ย. มาจากระบบที่ได้รับการฝึกเกี่ยวกับเอกสารนโยบาย และสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะมานาน 3 ปี

แหล่งข่าวจากพรรค LDP กล่าวว่า สโลแกนดังกล่าวนำเสนอไอเดียต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ขณะที่ในรัฐสภาญี่ปุ่น คาซุมะ นาคาตานิ สมาชิกจากพรรคประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ (Constitutional Democratic Party) ที่เป็นฝ่ายค้านยังเคยตั้งคำถามกับคิชิดะ ด้วยการสร้างคำถามจาก ChatGPT

อังกฤษมีเอไอลงเล่นการเมืองครั้งแรกของโลก

“สตีฟ เอนดาคอตต์” นักธุรกิจที่เป็นผู้ลงสมัครอิสระ เพื่อชิงตำแหน่งทางการเมืองในเมืองไบรตันของอังกฤษ สำหรับการเลือกตั้งในเดือนหน้า ได้ใช้เอไอสตีฟ “AI Steve” อวตารเอไอที่พัฒนาโดยบริษัทของตนเอง เป็นเครื่องมือในการดึงดูดผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง 

เอไอสตีฟสามารถเปิดรับคำติชมจากผู้คนได้ตลอดทั้งวัน และระบบยังอนุญาตให้ผู้คนได้ซักถามหรือเสนอไอเดียให้แก่เอไอได้ด้วย นอกจากนี้ เอไอสตีฟยังสามารถร่างนโยบายได้จากการรับคำติชมจากผู้คน

อย่างไรก็ตาม เอไอ ยังมีเรื่องให้น่ากังวล เนื่องจากสามารถใช้เป็นเครื่องมือหลอกลวงและสร้างความเข้าใจผิดในสังคมได้

ก่อนการเลือกตั้งขั้นต้นสหรัฐ ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงสนับสนุนพรรคเดโมแครต ได้รับสายจากเอไอที่ใช้เสียงของประธานาธิบดีโจ ไบเดน บอกกับตนว่าไม่ให้โหวตเลือกพรรคของไบเดน

คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐ (The Federal Communications Commission) ออกมาเตือนว่า สายเรียกเข้าอัตโนมัติ (robocall) ที่ใช้เสียงผลอมแปลงขึ้นมาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ด้านบริษัทเทคโนโลยี 20 แห่ง รวมถึงไมโครซอฟท์ และเมตา ให้คำมั่นร่วมกันต่อต้านการแทรกแซงการเลือกตั้งที่ใช้งานด้วยเอไอ ซึ่งบางบริษัทดำเนินมาตรการปกป้องความปลอดภัยหลายด้าน อาทิ จำกัดคำตอบแชตบอตสำหรับคำถามที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และปรับใช้ลายน้ำดิจิทัลเพื่อระบุว่าเนื้อหานั้น ๆ สร้างโดยเอไอ

นอกจากนี้ การใช้เอไอด้านต่าง ๆเพื่อการเลือกตั้งบางครั้งก็เกิดขึ้นในพื้นที่มีกรอบกฎหมายไม่ชัดเจน เช่น ในอินโดนีเซีย มีการใช้เทคโนโลยีสื่อลวง (Deepfake) สร้างวิดีโอที่มีอวตารเลียนแบบพลเอกมูฮัมหมัด ซูฮาร์โต อดีตประธานาธิบดีอินโดฯ จอมเผด็จการผู้ล่วงลับด้วยเอไอ เพื่อโน้มน้าวให้ผู้คนสนับสนุนอดีตพรรคการเมืองของเขา

ขณะที่หลังการเลือกตั้งของปากีสถานใน ก.พ. มีวิดีโอกล่าวสนุทรพจน์ของอดีตนายกฯอิมราน ข่าน ผู้ล่วงลับที่สร้างโดยเอไอ เผยแพร่ทั่วโซเชียลมีเดีย

Augmented Democracy เอไอคาดเดาแนวโน้มผู้ชนะเลือกตั้ง

ขณะนี้นักวิจัยกำลังตรวจสอบเกี่ยวกับแนวคิดในการใช้เอไอเพื่อทำหน้าที่บางอย่างแทนผู้ลงคะแนนเสียงและนักการเมือง หรือที่เรียกว่า Augmented Democracy ซึ่งเป็นแนวคิดในการใช้ “แฝดดิจิทัล” (digital twins) เพื่อขยายขีดความสามารถของผู้คนให้มีส่วนร่วมโดยตรงในการตัดสินใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย

“ซีซาร์ อีดัลโก” หัวหน้าศูนย์การเรียนรู้ร่วมกันในตูลูส ประเทศฝรั่งเศส ได้เสนอให้ใช้แฝดดิจิทัลหรือโมเดลจำลองเสมือนจริงที่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับความพึงพอใจทางการเมืองของบุคคล มาปรับทำนโยบาย

แบบจำลองดิจิทัลนี้จะช่วยให้ผู้ลงคะแนนเสียงสามารถส่งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายได้โดยตรง ดีกว่าการเลือกตัวแทนให้ไปทำหน้าที่ในทุก ๆ ปี

ตัวอย่างเช่น ในระหว่างการเลือกตั้งของอินเดียเมื่อเดือน พ.ค. Policy 4.0 สถาบันคลังสมองเปิดเผยผลการทดลองใช้ “แฝดเอไอ” ว่า เมื่อป้อนมุมมองด้านนโยบายของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงหลาย ๆ คน ที่ให้ลำดับความสำคัญแตกต่างกันไป เอไอสามารถคาดเดาได้ว่าผู้มีสิทธิลงคะแนนจะโหวตเลือกใคร ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่า 90%

Policy 4.0 เผยด้วยว่า แฝดเอไอ สามารถช่วยผู้โหวตเตอร์เลือกผู้สมัครที่ตรงกับความเชื่อทางการเมืองของตนเอง โดยปราศจากการรับข้อมูลผิด ๆ ได้

 

อ้างอิง: Nikkei Asia