‘จีน’เล็งแทรกแซงตลาดพันธบัตร หลังบอนด์ยีลด์ดิ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ธนาคารกลางจีนเตรียมกู้ยืมพันธบัตรรัฐบาล อุ้มตลาดตราสารหนี้ หลังพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ร่วงแตะระดับ 2.183% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ PBOC พร้อมอัดฉีดเงินทุนเข้าระบบเศรษฐกิจผ่านตลาดรอง
สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศในวันจันทร์(1 ก.ค.67) ว่าจะเริ่มกู้ยืมพันธบัตรรัฐบาลจีนในเร็วๆ นี้ โดยการเคลื่อนไหวครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะเข้ามาควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ร่วงลงอย่างรุนแรง เนื่องจากความกังวลด้านเศรษฐกิจจีนที่กระตุ้นให้นักลงทุนแห่เข้าซื้อพันธบัตรจีนซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างร้อนแรง
PBOC ระบุว่า "เพื่อรักษาเสถียรภาพการดำเนินงานของตลาดตราสารหนี้ ธนาคารได้ตัดสินใจที่จะกู้ยืมพันธบัตรรัฐบาลจากตัวแทนจำหน่ายหรือสถาบันการเงินในตลาดการเงินในเร็วๆ นี้ โดยอาศัยการสังเกตการณ์ และประเมินสถานการณ์ตลาดปัจจุบันอย่างรอบคอบ"
ก่อนหน้านี้สถาบันการเงินแห่เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล ท่ามกลางตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนที่อยู่ในภาวะซบเซา ส่งผลให้ราคาพันธบัตรสูงขึ้น และอัตราผลตอบแทนลดลง
อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลจีนอายุ 10 ปี ลดลงไปแตะระดับ 2.183% ในวันจันทร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเท่าที่เคยมีมา ตามการบันทึกข้อมูลตั้งแต่ปี 2543 ในฐานข้อมูลของ London Stock Exchange Group
ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เพิ่มขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้เกิดแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอีกครั้ง หลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีน (PMI) ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งเป็นจุดแบ่งระหว่างภาวะขยายตัวเฟื่องฟูกับภาวะถดถอย เป็นเดือนที่สองติดต่อกันในเดือนมิถุนายน
หวั่นซ้ำรอย ‘ซิลิคอนวัลเลย์’
“พาน กงเซิ่ง” (Pan Gongsheng) ผู้ว่าการPBOC กล่าวในสุนทรพจน์เมื่อเดือนมิถุนายน ว่า "ธนาคารกลางควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับความเสี่ยงด้านความแตกต่างของอายุสัญญา และความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการที่สถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารถือครองพันธบัตรระยะกลาง และระยะยาวจำนวนมาก"
พาน ยกตัวอย่างธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ในสหรัฐที่การล่มสลายส่วนใหญ่มีต้นตอมาจากการขาดทุนของพันธบัตรที่ถือครอง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
“เงื่อนไขต่างๆ ครบถ้วนแล้วสำหรับธนาคารกลางในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการซื้อขายพันธบัตรในตลาดรอง”
ปัจจุบันธนาคารกลางจีนถือครองพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 1.52 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 7.7 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนพันธบัตรที่เหลืออยู่ในระบบทั้งหมด
อ้างอิง nikkei
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์