'สหรัฐ' แบกภาระกู้วิกฤติโลก ทำขาดแคลน 'เรือบรรทุกเครื่องบินรบ'

'สหรัฐ' แบกภาระกู้วิกฤติโลก ทำขาดแคลน 'เรือบรรทุกเครื่องบินรบ'

กองทัพเรือสหรัฐขาดแคลนเรือบรรทุกเครื่องบินรบประจำชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก เนื่องจากพยายามกู้วิกฤติทั่วโลกให้ได้ทั้งหมด ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้ ยิ่งพยายามตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดและลดลงเรื่อย ๆ สหรัฐจะยิ่งบริหารกองเรือได้ยากขึ้น

กองทัพเรือสหรัฐขาดแคลนเรือบรรทุกเครื่องบินรบประจำชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก เนื่องจากยังไม่มีเรือลำใดมาแทนที่ เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Dwight D. Eisenhower ที่ถูกส่งไปรับมือการโจมตีของกลุ่มฮูตีในทะเลแดงมานานหลายเดือนแล้ว 

เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียรายงานว่า ขณะที่สหรัฐให้ความสำคัญกับการเพิ่มกำลังทหารในแปซิฟิกท่ามกลางความตึงเครียดกับจีน แต่กองทัพเรือกลับเปลี่ยนเส้นทางเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Theodore Roosevelt ประจำฐานทัพในซานดิเอโก จากทะเลจีนใต้ไปยังทะเลแดง จนกว่าจะมีเรือลำใหม่ประจำฐานทัพชายฝั่งตะวันออกที่พร้อมใช้งาน

นักวิเคราะห์กล่าวว่า กองทัพเรือสหรัฐพยายามทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกันมากเกินไป เนื่องจากสหรัฐพยายามแก้ไขวิกฤติหลายอย่างทั้งยูเครน อิสราเอล และทะเลแดง พร้อมๆ กับจับตาดูจีนบริเวณช่องแคบไต้หวันและทะเลจีนใต้

เจมส์ โฮล์ม ศาสตราจารย์สาขาวิชายุทธศาสตร์ จากวิทยาลัยการทัพเรือสหรัฐ เผยกับนิกเคอิ เอเชียว่า กองทัพเรือสหรัฐเหลือเรือน้อยเกินกว่าที่จะตอบสนองต่อความต้องการ ในช่วงเวลาที่ความต้องการเพิ่มสูงขึ้นทั่วน่านน้ำมหาทวีปยูเรเซีย

“แนวโน้มในการตัดสินใจของบรรดาผู้กำหนดนโยบายในวอชิงตัน คือความพยายามตอบสนองความต้องการทั้งหมด ...แต่การทำทุกอย่างหมายความว่า เราจะทำให้ทรัพยากรในกองทัพเรือเหลือปฏิบัติการน้อยเกินไป และทำให้เราอ่อนแอลงเมื่อเทียบกับคู่แข่งในพื้นที่ ถ้าเราอ่อนแอลง ก็อาจจะไม่ชนะหากตกอยู่ในการสู้รบ”

ด้านกองทัพเรือสหรัฐตอบกลับนิกเคอิ เอเชียว่า คำสั่งให้เรือบรรทุกเครื่องบินที่ปฏิบัติการในชายฝั่งตะวันตกไปยังตะวันออกกลาง ไม่ได้มากจากความขาดแคลนเรือบรรทุกเครื่องบินในชายฝั่งตะวันออก

“นาวาโททิม ฮอว์กินส์” รองหัวหน้าฝ่ายสารสนเทศ ปฏิบัติการสื่อ การผลิตและวางแผน ระบุ 

“กองทัพเรืออเมริกาเป็นกองทัพระดับโลก มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นสูง สร้างโอกาสให้ผู้นำสามารถตัดสินใจได้อย่างกว้างขวาง และมีตัวเลือกมากมายที่สามารถตอบสนองความต้องการปฏิบัติการได้ทั่วโลก”

ไม่นานมาหน้านี้ ฐานทัพเรือนอร์ฟอล์ก รัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นฐานทัพเรือใหญ่ที่สุดในโลก มีเรือบรรทุกเครื่องบินมาจอดเทียบท่า 6 ลำ แต่ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เรือ USS George Washington เดินทางออกจากท่าเรือนอร์ฟอล์ก ไปประจำการที่โยโกสุกะ ประเทศญี่ปุ่น ทำให้เรือที่ประจำการอยู่ในชายฝั่งตะวันออกเหลือเพียง 5 ลำ ขณะที่เรือบรรเทาทุกข์ USS Ronald Reagan เตรียมเดินทางไปเมืองเบรเมอร์ตัน รัฐวอชิงตัน ทางชายฝั่งตะวันตกเพื่อซ่อมบำรุง

การที่เรือ Eisenhower ประจำการอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้เรือบรรทุกเครื่องบินรบอีก 4 ลำในฐานทัพนอร์ฟอล์ก ไม่สามารถออกไปประจำการที่อื่นได้

เรือบรรทุกเครื่องบินรบ 4 ลำที่ยังอยู่ในนอร์ฟอล์ก ได้แก่ เรือ USS John C. Stennis ที่กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงและเติมเชื้อเพลิงสำหรับการใช้งานหลายปี, เรือ USS George H.W. Bush ที่กำลังอยู่ภายใต้การซ่อมบำรุงในระยะสั้น, เรือ USS Gerald R. Ford ที่เพิ่งเดินทางกลับจากการปฏิบัติงานครั้งแรกเป็นเวลา 8เดือนครึ่ง และเรือ USS Harry S. Truman ที่สถาบันนาวิกโยธินสหรัฐคาดว่าจะไปปฏิบัติหน้าที่ในตะวันออกกลางหลังฤดูร้อนนี้

พล.ต.แพท ไรเดอร์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ประกาศเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ว่า กองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี Eisenhower เดินทางออกจากทะเลแดงแล้ว หลังประจำการในพื้นที่ดังกล่าวมามากกว่า 7 เดือน โดยเรือ Roosevelt ซึ่งเป็นเรือจากชายฝั่งตะวันตกจะไปประจำการแทน

เรือ Roosevelt ออกเดินทางสู่ทะเลตั้งแต่เดือน ม.ค. เพื่อปฏิบัติการในทะเลฟิลิปปินส์ ทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก อ่าวไทย และเดินทางไปซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นในเมืองปูซานเมื่อเดือน มิ.ย.

เอลิซาเบธ เดนท์ นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันวอชิงตันเพื่อนโยบายตะวันออกใกล้ (Washington Institute for Near East Policy) ระบุในรายงานนโยบายไม่นานมานี้ว่า การไม่มีกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีในทะเลแดงเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ จนกว่าเรือ Roosevelt จะเดินทางมาถึง ส่งสัญญาณน่าเป็นห่วงในช่วงเวลาที่กบฏฮูตีโจมตีเรือพาณิชย์และกองทัพเรือรุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น

เดนท์ แนะว่า ให้เพิ่มกองกำลังพันธมิตรชั่วคราว เพื่ออุดช่องว่างเรือประจำการในทะเลแดง 

ศ.โฮล์ม จากวิทยาลัยการทัพเรือสหรัฐ ย้ำว่า ขณะนี้กองทัพเรือสหรัฐเหลือกองกำลังเพียงครึ่งหนึ่งของกองกำลังที่มีในช่วงทศวรรษ 1980 ยิ่งสหรัฐพยายามตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น ด้วยการจัดหาทรัพยากรที่มีจำกัดและลดลงเรื่อย ๆ สหรัฐจะยิ่งบริหารกองเรือได้ยากขึ้น และโดยทั่วไปจะส่งผลให้เรือต้องเข้าอู่ต่อเรือนานขึ้นหลังกลับจากปฏิบัติหน้าที่ และโฮล์มคาดว่า เรือ Eisenhower อาจเผชิญกับการซ่อมบำรุงที่ยาวนานมากขึ้น เมื่อเดินทางกลับสู่ฐานทัพนอร์ฟอล์ก

โฮล์ม ระบุว่า ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐจะกดดันชาติพันธมิตรในยุโรป-แอตแลนติก เพื่อดำเนินการอะไรมากกว่านี้

“เราต้องแบกรับภาระในการปกป้องพวกเขามาตั้งแต่ปี 2488 รัสเซียควรเป็นปัญหาหลักของพวกเขา เพื่อให้เราได้มุ่งไปยังเอเชียตะวันออก ที่เป็นปัญหาหลักของเรา”

 

อ้างอิง: Nikkei Asia