วิเคราะห์ชะตากรรม ‘ยุโรป-จีน’ เมื่อ EU ขับเคลื่อนด้วย ‘กลุ่มอำนาจฝ่ายขวา’

วิเคราะห์ชะตากรรม ‘ยุโรป-จีน’ เมื่อ EU ขับเคลื่อนด้วย ‘กลุ่มอำนาจฝ่ายขวา’

นักวิเคราะห์มอง การเปลี่ยนแปลงไปอำนาจสู่ฝ่ายขวาของรัฐสภายุโรป อาจทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนมีความซับซ้อนมากขึ้น และอาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนในแนวทางของภูมิภาคที่มีต่อยูเครน และการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีน

การเลือกตั้งสภายุโรป เมื่อต้นเดือน มิ.ย. จากการลงคะแนนของผู้มีสิทธิ 373 ล้านคน ใน 27 ประเทศสหภาพยุโรป (อียู) มีนักการเมืองฝ่ายขวาได้รับเลือกเข้าสู่สภามากเป็นประวัติการณ์

กลุ่ม European People's Party (EPP) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองขวากลาง ของนางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ยังคงรักษาที่นั่งส่วนใหญ่ในฝ่ายนิติบัญญัติไว้ได้ ขณะที่พรรคการเมืองสังคมนิยมและเสรีนิยมแพ้ราบคาบ

ความพ่ายแพ้ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อพรรคของ “โอลาฟ ชอลซ์” นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ซึ่งทำให้ปธน.มาครงต้องยุบสถา เพื่อจัดเลือกตั้งใหม่ ซึ่งมีขึ้นแล้วในวันนี้ (30 มิ.ย.)

ลดพึ่งพาจีนต่อเนื่อง 

หวัง อี้เว่ย” ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับยุโรป จากมหาวิทยาลัยเหรินหมินในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของพรรคการเมืองฝ่ายขวา จะกระตุ้นให้อียูลดการพึ่งพาจากจีนมากขึ้น และอาจเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเอง เพื่อสร้างความกดดันด้วยการเพิ่มมาตรการลงโทษต่าง ๆ เช่น ขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีน

นอกจากนี้ ความร่วมมือสีเขียวจะได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด เนื่องจากนักการเมืองฝ่ายขวาไม่เชื่อในวาระสีเขียวของอียู โดยมองว่า ข้อตกลงสีเขียวของภูมิภาคเป็นเรื่องที่ผิด ทำลายอุตสาหกรรมและการจ้างงาน ซึ่งอาจสร้างปัญหาให้จีนมากขึ้น

อนึ่ง อียูได้ตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศ เพื่อลดการปล่อยมลพิษก๊าซเรือนกระจกสุทธิอย่างน้อย 55% ภายในปี 2573 จึงหนุนให้เกิดการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งรถอีวีจีนส่งออกไปยังอียูมากกว่า 25% ของรถอีวีที่จำหน่ายทั่วโลกราว 1.8 ล้านคัน เมื่อปี 2566 นั้น

“คริสตินา แวนเบอร์เกน” ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของคณะกรรมาธิการยุโรป บอกว่า อียูยังคงขอความร่วมมือจากจีนในด้านพลังงานสีเขียว และอิทธิพลของกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาไม่ควรเข้ามามีบทบาทมากเกินไป 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาอาจกำหนดให้มีการตรวจสอบการลงทุนของจีนในยุโรปเข้มงวดมากขึ้น และอาจประเมินข้อตกลงทางการค้าเข้มงวดมากกว่าเดิมเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในภูมิภาค

"ฟิลิปเป เลอ คอร์เร" นักวิชาการอาวุโสที่เชี่ยวชาญในความสัมพันธ์จีน-อียู จากสถาบันเอเชีย โซไซตี (Asia Society) บอกว่า อาจได้เห็นการผลักดันการลดการพึ่งพาทางการค้าจากจีนอย่างต่อเนื่อง

มารีน เลอ แปง ผู้นำพรรคฝ่ายขวาฝรั่งเศสที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งสภายุโรปเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ได้เสนอให้ยุติพัฒนาพลังงานลม ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบกับ “จีน” ประเทศที่กำลังเผชิญกับการสอบสวนเกี่ยวกับการจำหน่ายกังหันลมให้ยุโรป ซึ่งในปี 2566 จีนส่งออกกังหันลมมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านยูโรให้กับยุโรป

ด้านหวัง กล่าวว่า นโยบายในอนาคตของยุโรปที่มีต่อจีน ยังคงต้องจับตาดูต่อไป ขึ้นอยู่กับว่าใครจะจะเข้ามาดำรงตำแหน่งสูงในอียู รวมถึงตำแหน่งประธานสภายุโรป และประธานฝ่ายนโยบายต่างประเทศ

ติง ชุน ผู้อำนวยการศูนย์ยุโรปศึกษา จากมหาวิทยาลัยฝูตัน บอกว่า ตนไม่คิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากอียู หลังพรรคฝ่ายขวาขึ้นมามีอำนาจมากขึ้น แต่ต้องระมัดระวังว่า อียูอาจปรับแก้ลำดับความสำคัญของนโยบาย จากการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

สัมพันธ์ฝ่ายขวาของยุโรปกับรัสเซีย

แม้อียูมักวิจารณ์จีนว่าคอยช่วยเหลือรัสเซียทำสงครามกับยูเครน แต่หวังบอกว่า นักการเมืองฝ่ายขวาของอียูดูเหมือนให้การสนับสนุนรัสเซีย และไม่เห็นด้วยกับการให้เงินทุนยูเครนอย่างต่อเนื่อง จึงอาจสร้างความกดดันในการกำหนดนโยบายต่อยูเครนของอียู

ตัวอย่างเช่น ผู้ชนะฝ่ายขวาในการเลือกตั้งสภายุโรป อาทิ พรรคอาร์เอ็นของฝรั่งเศส และพรรคเสรีภาพ (Freedom Party) ของออสเตรีย เป็นที่สงสัยว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย รวมถึงได้รับเงินทุนจากรัฐบาลเครมลิน และมีการส่งเสริมโฆษณาชวนเชื่อท่ามกลางสงครามยูเครน

จับตานโยบายจากผู้นำสหรัฐคนต่อไป

ชุน ผอ.ศูนย์ยุโรป เสริมว่า ทิศทางอนาคตของอียูจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง รวมถึงนโยบายของฝ่ายบริหารใหม่ และการเลือกตั้งสหรัฐ ซึ่งมีรายงานระบุว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตปธน.สหรัฐ จ่อระงับเงินทุนให้ยูเครน และขยายภาษีต่อสินค้ายุโรปทุกรายการ หากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง

แวนเบอร์เกน เสริมว่า ทรัมป์อาจสร้างสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับบรรดาพรรคฝ่ายขวาของอียู เนื่องจากมีแนวคิดชาตินิยม และประชานิยมที่คล้ายกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของอียูกับจีนอย่างมาก แต่หากทรัมป์เพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้า ยุโรปอาจมองว่า การมีแนวทางร่วมเศรษฐกิจกับจีนน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการเข้าถึงตลาด และโอกาสการพัฒนาการลงทุน

อย่างไรก็ตาม แวนเบอร์เกนย้ำว่า การหันไปสนใจจีนอย่างเดียวนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะหลายประเทศในยุโรป ไม่อาจตีตัวออกห่างจากสหรัฐในด้านความมั่นคง แต่อาจมีแนวทางเชื่อมสัมพันธ์อย่างสมดุล และรักษาความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจทั้งสองฝ่าย

 

อ้างอิง: South China Morning Post