จะ ‘ไบเดน’ หรือ ‘ทรัมป์’ เอเชียวางใจไม่ได้
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา “โดนัลด์ ทรัมป์” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างมาก ในเส้นทางกลับคืนสู่ทำเนียบขาว หลังจากทรัมป์ขึ้นดีเบตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐกับ “โจ ไบเดน” เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา
KEY
POINTS
- ความวุ่นวายภายในสหรัฐ และการเผชิญแรงต่อต้านในช่วงต้นๆของรัฐบาลใหม่ จะทำให้วอชิงตันสนใจแก้ไขปัญหาภายในประเทศมากกว่า การมุ่งสนใจไปที่นโยบายต่างประเทศ
- การที่ศาลสูงตัดสินทรัมป์ได้รับสิทธิคุ้มกันฯ ถือเป็นการปฏิวัติความรับผิดชอบของประธานาธิบดีสหรัฐที่มีต่อกฎหมาย และดูเหมือนว่า ทำให้ประธานาธิบดีอยู่เหนือกฎหมาย
- สิ่งหนึ่งต้องยอมรับ ไบเดนอาจทำหน้าที่ในบริบทที่ไม่มีการเตรียมการได้น้อยลง เช่น การเจรจรโดยตรงกับผู้นำต่างประเทศ
- อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าไบเดน หรือทรัมป์ จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในเดือน พ.ย.นี้ มีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นนโยบายต่างประเทศน้อยลง และดำเนินการไม่สอดคล้องจากเดิม
"โรเบิร์ต เคลลี่” ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสหรัฐ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติปูซาน ได้เขียนบททรรศนะเผยแพร่โดยเว็บไซต์แชนเนลนิวส์เอเชียว่า ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา “โดนัลด์ ทรัมป์” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างมาก ในการกลับคืนสู่ทำเนียบขาว หลังจากทรัมป์ขึ้นดีเบตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐกับ “โจ ไบเดน” เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา
การดีเบตยกแรกในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2024 ดูเหมือนจะเป็นผลงานการดีเบตที่ยอดแย่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของไบเดน ซึ่งถูกถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ไม่มีสั่งคัทหรือขอเวลาพักให้คิดก่อนตอบ
บางครั้งไบเดนพูดตอบสับสน บ้างหยุดชะงักไป เหมือนยังครุ่นคิด ลืมคำตอบตนเอง สิ่งนี้ทำให้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่กังวลและเกิดคำถามว่า ไบเดนจะแก่เกินไปไหม หากจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่ออีกวาระหนึ่ง
ท่ามกลางการถกเถียงอย่างหนักภายในพรรคเดโมแครต หากปล่อยไปเช่นนี้อาจไม่ส่งผลดี และตามมาด้วยข้อเสนอควรเปลี่ยนตัวผู้สมัครในช่วงฤดูใบไม้ร่วงหรือไม่ ถึงอย่างไรก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า การปรับแผนส่งตัวผู้เล่นในสนามช่วงกลางเกม จะสามารถชนะทรัมป์ได้
อีกด้านหนึ่ง เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลสูงสหรัฐมีมติรับรองคุ้มกันผู้ที่เคยดำนงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ มีผลให้การกระทำของทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ระหว่างในปี 2017 - 2021 จะไม่อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ทั้งนี้ คดีของทรัมป์ที่เหลืออยู่ในศาล คาดจะขยายออกไปหลังวันเลือกตั้ง (5 พ.ย.) และหากชนะกลับมาเป็น ปธน.สหรัฐ แน่นอนเขาจะยกฟ้องคดีทั้งหมด
การที่ศาลสูงตัดสินทรัมป์ได้รับสิทธิคุ้มกันฯ ถือเป็นการปฏิวัติความรับผิดชอบของประธานาธิบดีสหรัฐที่มีต่อกฎหมาย และดูเหมือนว่า ทำให้ประธานาธิบดีอยู่เหนือกฎหมาย โดยเฉพาะขัดต่อเจตนารมณ์ของการปฏิวัติอเมริกา และแนวทางรัฐธรรมนูญสหรัฐ ซึ่งพยายามจำกัดอำนาจบริหารและผู้นำ สิ่งนี้ได้สร้างความกังวลในสหรัฐอย่างมาก ทรัมป์จะใช้อำนาจกฎหมายนี้อย่างไร หากเขากลับมาเป็นประธานาธิบดีในปีหน้า
หลุดโฟกัสนโยบายต่างประเทศ
หากทรัมป์กลับคืนสู่ผู้นำสหรัฐ การเมืองสหรัฐจะเกิดความวุ่นวายอย่างมาก และทำให้นโยบายต่างประเทศเกิดความสับสน มีแนวโน้มแย่ลง
ถ้าเป็นเรื่องภายในบ้าน ทรัมป์มักจะพูดด้วยความโกรธแค้นและอาฆาต พร้อมกับสัญญาว่า หากกลับคืนสู่ตำแหน่งจะปราบปรามผู้อพยพเข้าเมืองที่ผิดกฎหมายครั้งใหญ่ และจัดการฝ่ายตรงข้าม รวมถึงนักวิจารณ์ สื่อมวลชน และนักวิชาการ
สิ่งนี้จะกระตุ้นให้เกิดการต่อต้าน เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นช่วงแรกๆ หลังทรัมป์รับตำแหน่งเมื่อครั้งก่อน แต่ครั้งนี้อาจจะขัดแย้งรุนแรงขึ้น ถึงขั้นได้เห็นการประท้วงบนท้องถนน
"ความวุ่นวายภายในสหรัฐ และการเผชิญกับแรงต่อต้านในช่วงต้นๆของรัฐบาลใหม่ จะทำให้วอชิงตันสนใจแก้ไขปัญหาภายในประเทศมากกว่า การมุ่งสนใจไปที่นโยบายต่างประเทศ" เคลลี่กล่าว
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าไบเดน หรือทรัมป์ จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในเดือน พ.ย.นี้ มีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นนโยบายต่างประเทศน้อยลง และดำเนินการไม่สอดคล้องจากเดิม
ผู้นำอัลไซเมอร์ ทำเจรจาสับสน
ข้อจำกัดทางความคิดของไบเดน อาจมีผลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศใหม่ๆ และมีแนวโน้มว่า เขาจะเข้าร่วมการประชุมในต่างประเทศน้อยลง เพราะสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวยเท่าไรนัก
สิ่งหนึ่งต้องยอมรับ ไบเดนอาจทำหน้าที่ในบริบทที่ไม่มีการเตรียมการได้น้อยลง เช่น การเจรจรโดยตรงกับผู้นำต่างประเทศซึ่งจะทำให้การเจรจาทำข้อตกลง ซึ่งบ่อยครั้งประธานาธิบดีจำเป็นต้องสั่งการโดยตรงเพื่อแก้ไขปัญหาซับซ้อน ทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับเอเชียที่ซึ่งความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้นำจำเป็นอย่างยิ่ง
การที่ไบเดนลดบทบาทลง ยังทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ และการสร้างอาณาจักรในสำนักงานนโยบายต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ผู้มักใหญ่ใฝ่สูงจะเข้าหาไบเดนง่ายขึ้นเพื่อชักชวนให้เขาทำตามวาระของตน
สิ่งนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในนโยบายต่างประเทศสหรัฐ ทั้งโรนัลด์ เรแกน, จอร์จ ดับเบิลยูบุช และทรัมป์ล้วนอ่อนแอหรือสงวนท่าทีเกินกว่าจะสกัดความขัดแย้งในหมู่เจ้าหน้าที่ไว้ได้ ไบเดนก็ดูจะเป็นแบบเดียวกัน กว่าจะหมดวาระสองอายุเขาก็ปาเข้าไป 86 ปี
นโยบายต่างประเทศ ‘ทรัมป์-ไบเดน’
ถ้าถอดคำพูดทรัมป์ และที่ปรึกษาของเขาในสมัยแรก นโยยายต่างประเทศสุ่มเสี่ยงที่สุด เช่น ถอนตัวออกจากนาโต หรือยุติการเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐกับเกาหลีใต้ นโยบายเหล่านี้ถูกทีมงานของเขาสกัดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือมือทำนโยบายต่างประเทศให้กับพรรครีพับลิกันมาก่อน เช่น จอห์น โบลตัน อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ
ทรัมป์ส่งสัญญาณว่า จะเก็บผู้จงรักภักดีเอาไว้ คนที่ไม่ถอนตัวหรือพยายามสกัดเขา ถ้าเขาได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 2 ประธานาธิบดีสมัยที่สอง
อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศที่จะเกิดขึ้นทันที หากทรัมป์กลับมา ยุโรปจะรับรู้ถึงผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศได้ทันที โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทรัมป์แสดงออกชัดเจนว่าชื่นชอบประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย และไม่ชอบประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครน
นอกจากนี้ ทรัมป์มักจะคุยว่า สามารถยุติความขัดแย้งนี้ได้ “ภายในวันเดียว” และแน่นอนว่า สิ่งนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ดูเหมือนว่า เขาตั้งใจจะตัดความช่วยเหลือของสหรัฐที่มีให้กับยูเครน ซึ่งเป็นการกดดันให้ยูเครน อาจเผชิญกับเงื่อนไขยกดินแดนที่กองทัพมอสโกใช้กำลังทหารยึดครองมาได้ มอบให้กับรัสเซียเป็นถาวร
ส่วนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในเอเชีย จะอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับเกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งทรัมป์เคยพูดไว้ว่า จะถอนกำลังสหรัฐออกจากเกาหลีใต้ หากเขาได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง สิ่งนี้จะส่งผลต่อบรรยากาศในคาบสมุทรเกาหลี
อย่างไรก็ตาม เขาอาจเจอแรงต้านรุนแรงจากสมาชิกสภาคองเกรสและคณะกรรมาธิการนโยบายต่างประเทศ เหมือนที่ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์เคยเจอเมื่อทศวรรษ 1970 ตอนที่เขาพยายามทำแบบเดียวกัน
แต่เกาหลีใต้ได้หารือกันแล้วเรื่องการพัฒนานิวเคลียร์หากทรัมป์ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งจะกลายเป็นว่า พันธมิตรสหรัฐรายอื่นๆ อาทิ โปแลนด์ และญี่ปุ่น ก็อาจพึ่งนิวเคลียร์เหมือนกันถ้าถูกทรัมป์ทอดทิ้ง ซึ่งอาจเพิ่มแนวโน้มการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ในที่อื่นๆ เพราะทรัมป์ไม่ได้มีเป้าหมายห้ามแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์อันเป็นจุดยืนที่สหรัฐมีมาโดยตลอด
ขณะที่ไต้หวัน เสี่ยงต้องเผชิญกับการถูกทรัมป์ทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะบ่อยครั้งที่เขาแสดงให้เห็นว่า ไม่สนใจหรือมีอุดมการณ์ปกป้องไต้หวัน แท้ที่จริงแล้วทรัมป์มักพูดชื่นชมประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต่างจากไบเดนพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจะต่อสู้เพื่อไต้หวัน แต่ทรัมป์เกือบจะปฏิเสธแนวคิดนี้ นั่นส่งผลให้ชะตากรรมไต้หวัน ไม่มีความแน่นอน
พันธมิตรควรเตรียมอย่างไร กับผู้นำสไตล์นี้
นโยบายต่างประเทศสหรัฐตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 มักใช้แนวทางเสรีนิยมและสากลนิยม ต่อต้านอุดมการณ์รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ เช่น คอมมิวนิสม์ (Communism) และอิสลามรากฐานนิยม ทรัมป์ละเลยค่านิยมเหล่านี้ ใช้นโยบายต่างประเทศทวิภาคีและพหุภาคีไม่แบ่งแยกอำนาจนิยมหรือประชาธิปไตย
แท้จริงแล้วทรัมป์ดูเหมือนชื่นชอบผู้นำเผด็จการและความสามารถในการบริหารประเทศโดยไม่มีกฎหมายหรือข้อจำกัด พวกเขาทำในสิ่งที่ทรัมป์ทำไม่ได้
แต่ต่อให้ได้รัฐบาลไบเดนวาระสองก็จะมีข้อบกพร่องของตนเอง ความโกลาหลภายในประเทศที่ทรัมป์ก่อขึ้นจะส่งผลถึงนโยบายต่างประเทศสหรัฐที่เชื่อถือและคาดการณ์ไม่ได้ พันธมิตรสหรัฐในยุโรปและเอเชียจึงควรเตรียมตัวไว้ให้ดี
ที่มา : CNA