ปี 67 เมียนมาทิ้งระเบิดโจมตีพลเรือนกว่า 800 ครั้ง ชี้ คว่ำบาตรเชื้อเพลิงล้มเหลว

ปี 67 เมียนมาทิ้งระเบิดโจมตีพลเรือนกว่า 800 ครั้ง ชี้ คว่ำบาตรเชื้อเพลิงล้มเหลว

รายงานองค์กรสังเกตการณ์ พบ เดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 เมียนมาทิ้งระเบิดโจมตีพลเรือนไปกว่า 800 ครั้ง คร่าชีวิตพลเรือน 259 บาดเจ็บ 756 ราย ตอกย้ำ การคว่ำบาตรขนส่งเชื้อเพลิงให้เมียนมาประสบกับความล้มเหลว และมีอีกหลายประเทศที่เป็นซัพพลายเชื้อเพลิงให้เมียนมา

รายงาน 2 ฉบับที่เผยแพร่เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนยืนยันว่า ความพยายามระหว่างประเทศ (นำโดยสหรัฐ) ที่ป้องกันไม่ให้รัฐบาลทหารเมียนมานำเข้าเชื้อเพลิงเครื่องบิน ประสบความล้มเหลว เนื่องจากเกิดเหตุระเบิดโจมตีประชาชนในพื้นที่ชนบทเพิ่มขึ้นอย่างมาก

เนียน ลินน์ ธิต อนาลิติกา องค์กรสังเกตการณ์ไม่แสวงผลกำไรสัญชาติเมียนมา ได้ติดตามการโจมตีทางอากาศของกองทัพอากาศเมียนมาอย่างใกล้ชิด และได้เผยแพร่รายงานระหว่างเดือน ม.ค. - เม.ย. ในปีนี้ ระบุว่า มีการโจมตีทางอากาศทั้งสิ้น 819 ครั้ง สังหารประชาชน 359 ราย และมีคนบาดเจ็บ 756 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้หญิง

ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่า มีการโจมตีเฉลี่ย 7 ครั้งต่อวัน และหากความรุนแรงยังคงอยู่ระดับนี้ต่อไป ในปีนี้อาจมีการทิ้งระเบิดทางอากาศเกิดขึ้นราว 2,400 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 ราย ยอดทิ้งระเบิดและยอดผู้เสียชีวิตที่คาดการณ์นี้ มากกว่ายอดในปี 2564 2565 และ 2566 รวมกันเสียอีก

ประเทศคว่ำบาตรเมียนมามีน้อย

การโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นแม้หลายประเทศร่วมกันดำเนินการคว่ำบาตร

รายงานของทอม แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 26 มิ.ย ระบุว่า สหรัฐมีมาตรการที่เตือนว่า บริษัทใดที่จำหน่ายเชื้อเพลิงเครื่องบินให้กับเมียนมาจะถูกคว่ำบาตร 

นอกจากนี้ ยังมีหลายรัฐบาลที่ขยายการคว่ำบาตร โดยมุ่งเป้าไปที่ซัพพลายเออร์เชื้อเพลิงเครื่องบินในปี 2565 และ 2566 อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา สหภาพยุโรป (อียู) สหราชอาณาจักร แต่ประเทศเหล่านี้ไม่ได้ประสานความร่วมมืออย่างเต็มที่

“มงต์เซ เฟอร์เรอร์” นักวิจัยอาวุโสจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ในเจนีวา เผยกับนิกเคอิ เอเชียว่า “มีประเทศที่คว่ำบาตรเมียนมาไม่กี่ประเทศ และมีไม่กี่บริษัที่ตกเป็นเป้า ความจริงคือกองทัพเมียนมาสามารถปรับเปลี่ยนซัพพลายเชนใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถได้รับเชื้อเพลิงการบินโดยไม่ถูกคว่ำบาตรได้”

เมียนมาหาซัพพลายเลี่ยงคว่ำบาตร

แอมเนสตี้ หน่วยงานที่เรียกการทิ้งระเบิดโจมตีในเมียนมาว่าเป็น “อาชญากรรมสงคราม” ได้เปิดเผยรายงาน การส่งออกเชื้อเพลิงที่เป็นอันตรายถึงชีวิตของเมียนมาในปี 2565 และ 2567

รายงานฉบับที่ 2 ที่เปิดเผยในเดือนม.ค. ระบุ มีหลักฐานบ่งชี้ว่า เชื้อเพลิง Jet A1 มาจากจีนและมาเลเซีย โดยใช้เรือบรรทุกน้ำมันของจีนลำหนึ่ง ขนส่งเชื้อเพลิงจากส่งคลังปิโตรเลียมใกล้นครโฮจิมินห์ไปยังท่าเรือติวาลาใกล้ย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าของเมียนมา

ในปี 2566 แอมเนสตี้สามารถติดตามการขนส่งเชื้อเพลิงได้ 7 ครั้ง และพบการขนส่ง 2 ครั้งแล้วในปี 2567 และอาจมีการนำเข้าเชื้อเพลิงเพิ่มอีกเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

“แอกเนส คัลลามาร์ด” เลขาธิการแอมเนสตี้ ระบุในรายงานว่า การหาซัพพลายใหม่แสดงให้เห็นว่าเมียนมาไม่ต้องรับโทษ (คว่ำบาตร) ทั้งจากการดำเนินงานของกองทัพเมียนมาเอง และการสมรู้ร่วมคิดของรัฐที่เข้ามารับผิดชอบ รวมถึงเวียดนาม จีน และสิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นซัพพลายเออร์หลักด้านผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมขั้นสุดท้ายที่ส่งไปยังเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีแท่นขุดเจาะทันสมัย หรือมีความสามารถในการกลั่นน้ำมันได้เอง และส่วนใหญ่พึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้า

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นชาติกลั่นน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับที่ 15 ของโลก และได้ส่งซัพพลายเชื้อเพลิงให้แก่เมียนมาอย่างน้อย 66% ของความต้องการเชื้อเพลิงเมียนมา ส่วนใหญเป็นน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน

อย่างไรก็ตาม การจัดส่งเชื้อเพลิง Jet A1 อาจไม่ได้มาจากสิงคโปร์แล้ว ตั้งแต่ประเทศระงับการทำธุรกรรมกับรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างเข้มงวด โดยรายงานของยูเอ็นพบว่า มีบริษัทไทย 2 แห่งจำหน่ายเชื้อเพลิงเครื่องบินให้กับเมียนมาแทน และพบธนาคารไทย 2 แห่งที่อำนายความสะดวกในการทำธุรกรรมให้รัฐบาลหทารเมียนมา

ยูเอ็นตรวจสอบข้อมูลบนเว็บไซต์บริษัทสวอน เอ็นเนอยี (Swan Energy) ผู้จำหน่ายเชื้อเพลิงในย่างกุ้งที่มีการดำเนินงานทั้งในกัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย เมื่อวันที่ 30 พ.ค. พบว่า บริษัทนำเข้าเชื้อเพลิงเครื่องบินไปยังเมียนมา 10,000 ตันต่อเดือน และมีส่วนแบ่งตลาด 100% แต่ข้อมูลดังกล่าวถูกลบออกไปแล้ว

รายงานยูเอ็นกล่าวว่า ความสามารถของรัฐบาลทหารเมียนมาในการคุกคามพลเรือนผ่านการโจตีทางอากาศแบบไม่แบ่งแยก ต้องพึ่งพาความสามารถในการเข้าถึงเชื้อเพลิงเครื่องบินสำหรับเครื่องบินเจ็ตและเฮลิคอปเตอร์

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) มีมติเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกงดส่งออก จำหน่าย หรือขนย้ายเชื้อเพลิงเครื่องบินไปยังเมียนมา และให้กองทัพเมียนมายุติการโจมตีทางอากาศทั้งหมด 

 

อ้างอิง: Nikkei Asia