UN กางข้อมูล ชี้ ‘แบงก์ไทย’ เป็นทางผ่าน เอื้อรัฐบาลทหารเมียนมา ‘ซื้อขายอาวุธ’

UN กางข้อมูล ชี้ ‘แบงก์ไทย’ เป็นทางผ่าน เอื้อรัฐบาลทหารเมียนมา ‘ซื้อขายอาวุธ’

ผู้แทนพิเศษ UN เผย ธนาคารของไทยเอื้อรัฐบาลทหารเมียนมาจัดซื้ออาวุธ และดูเหมือนว่าแบงก์ไทยบางแห่งยังคงนิ่งเฉยเกี่ยวกับการทำธุรกรรมดังกล่าว ขณะที่สิงคโปร์ปราบปรามบัญชีที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างเข้มงวด

KEY

POINTS

  • บริษัทจดทะเบียนในไทยหลายแห่งได้จัดส่งอาวุธและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับหน่วยงานทางทหารของ SAC มูลค่ากว่า 120 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากระดับ 60 ล้านดอลลาร์ในปี 2565
  • ผู้แทนพิเศษยูเอ็น ยังไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า รัฐบาลไทยระมัดระวังเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของเมียนมาแต่อย่างใด
  • การทำธุรกรรมทางการเงิน เกี่ยวกับการทหารเมียนมา ผ่าน SCB เพิ่มขึ้นจากระดับ 5 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 สู่ระดับ 100 ล้านดอลลาร์ในปี 2566

จากการตรวจสอบข้อมูลของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) พบธนาคารของไทย(แบงก์ไทย)กลายเป็นทางเลือกใหม่ของเมียนมา ในฐานะทางผ่านเอื้อธนาคารระหว่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมา ในการซื้อขายอาวุธแทนที่สิงคโปร์ หลังจากเมืองแห่งสิงห์ปราบปรามบัญชีที่เกี่ยวข้องกับเมียนมาในบรรดาธนาคารชั้นนำของประเทศอย่างเข้มงวด

การค้นพบดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า การทำธุรกรรมทางการเงินอย่างเป็นทางการของรัฐบาลทหารเมียนมาในการจัดซื้ออาวุธลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากส่วนใหญ่ได้รับแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกต่อธนาคารรัฐที่สำคัญ และสหรัฐก็โดดเดี่ยวทางการเงินต่อเมียนมา

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานวันพุธ (26 มิ.ย.) ว่า การจัดซื้ออาวุธและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ผ่านระบบธนาคารทางการ ลดลงราว 1 ใน 3 สู่ระดับ 253 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 จากระดับ 377 ล้านดอลลาร์ ในปีก่อนหน้า

ขณะที่การขนย้ายอาวุธจากจีนลดลงจากระดับ 140 ล้านดอลลาร์ ในปี 2565 สู่ระดับ 80 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 และในบรรดาซัพพลายทางการเงินเพื่อการจัดซื้อทางทหารของเมียนมา ซึ่งรวมถึงรัสเซีย พบว่า มีเพียงประเทศไทยและอินเดียเท่านั้นที่มูลค่าการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น

ตามข้อมูลจากรายงานของ ทอม แอนดรูวส์ ผู้แทนพิเศษของยูเอ็นเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา ระบุ เมื่อปีก่อนมีบริษัทจดทะเบียนในไทยหลายแห่งได้จัดส่งอาวุธและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับหน่วยงานทางทหารของ SAC มูลค่ากว่า 120 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากระดับ 60 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 โดยซัพพลายทางทหารสำคัญที่มาจากประเทศไทยในปีงบประมาณ 2566 มีทั้งเฮลิคอปเตอร์จู่โจม Mi-17 และ Mi-35 ซึ่งเป็นอาวุธที่เมียนมาเคยได้รับผ่านสิงคโปร์

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งเป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์มากเป็นอันดับที่ 4 ของไทยนั้น อำนวยความสะดวกในการธุรกรรมทางการเงินราว 80% ของบัญชีเมียนมาที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหาร โดยการทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน SCB เพิ่มขึ้นจากระดับ 5 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 สู่ระดับ 100 ล้านดอลลาร์ในปี 2566

รายงานของผู้แทนพิเศษยังได้เผยแพร่ออกมา ในช่วงที่ประเทศไทยเตรียมหาที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือนตุลาคม

ไทยยังนิ่งเฉย?

นิกเคอิเอเชีย ระบุว่า รัฐบาลไทยแตกต่างจากรัฐบาลสิงคโปร์ตรงที่ ไทยไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนในการต่อต้านการโอนย้ายอาวุธไปยังเมียนมา และว่า ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาหลายแสนคน กิจกรรมที่ผิดกฎหมายก็เพิ่มขึ้น และความมั่นคงตามแนวชายแดนไทยที่ติดกับเมียนมาก็ลดลงเรื่อย ๆ นับตั้งแต่รัฐบาลทหารขึ้นมามีอำนาจเมื่อเดือน ก.พ. 2564

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners- AAPP) เผยว่า การรัฐประหารส่งผลให้พลเมืองในเมียนมามากกว่า 5,300 คนเสียชีวิต ส่วนกลุ่มตรวจสอบ/เฝ้าระวังแห่งอื่น ๆ คาดว่า มีประชาชนเสียชีวิตสูงถึง 50,000 คน

ขณะที่นิกเคอิระบุว่า ประเทศไทยยังพยายามรักษาความยืดหยุ่นและความสัมพันธ์ทางการทูตกับเมียนมา และอำนวยความสะดวกด้านการบริการธนาคาร ทั้งยังส่งมอบซัพพลายทางทหารให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้รายงานพิเศษยูเอ็น ไม่พบหลักฐานว่ารัฐบาลไทยรู้เรื่องหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกรรมซื้อขายอาวุธของเมียนมา

ในทางตรงข้าม เมื่อสิงคโปร์ได้เห็นรายงานของยูเอ็นเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของประเทศในการอำนวยความสะดวกทางการเงินให้เมียนมา รัฐบาลสิงคโปร์จึงดำเนินการตรวจสอบเข้มงวดในปี 2566 ทำให้การส่งออกเกี่ยวกับการทหารจากสิงคโปร์ไปเมียนมาลดฮวบ 90% สู่ระดับกว่า 10 ล้านดอลลาร์ในปีก่อน เนื่องจากสิงคโปร์สนับสนุนมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2564 ที่ต้องการป้องกันการส่งมอบอาวุธให้รัฐบาลทหารเมียนมา

รายงานยูเอ็นระบุ

“ถ้ารัฐบาลไทยตอบสนองต่อข้อมูลเหล่านี้เหมือนที่สิงคโปร์ทำเมื่อปีก่อน ความสามารถในการโจมตีผู้คนในเมียนมาของ SAC อาจลดลงไปมาก”

SCB vs Kbank

จากการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบันทึก รายงานสาธารณะต่าง ๆ รวมถึงการสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือระดับสูงของผู้รายงานพิเศษยูเอ็น ระหว่างปี 2565 - 2567 พบ การอำนวยความสะดวกในการธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายอาวุธของรัฐบาลเมียนมามูลค่ากว่า 630 ล้านดอลลาร์จาก 16 ธนาคาร ใน 7 ประเทศ

ขณะที่ธนาคารและรัฐบาลหลายประเทศ ให้ข้อมูลตามคำขอของผู้รายงานพิเศษ แต่ SCB และรัฐบาลไทยไม่สามารถให้ข้อมูลแก่ยูเอ็นได้ และ SCB ปฏิเสธคำร้องขอความคิดเห็นจากนิกเคอิเอเชีย

ด้านธนาคารกสิกรไทย (Kbank) แบงก์ใหญ่อันดับ 2 ของไทย ยืนยันกับแอนดรูวส์ว่า ธนาคารได้ยุติความสัมพันธ์กับธนาคารการค้าต่างประเทศเมียนมา (Myanma Foreign Trade Bank) หลังแบงก์ดังกล่าวถูกสหรัฐคว่ำบาตรในเดือน มิ.ย. 2566 และการทำธุรกรรมจัดซื้อทางทหารผ่านธนาคารกสิกรลดลงจาก 35 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 สู่ระดับ 5 ล้านดอลลาร์ในปี 2566

“เราไม่อนุญาตทำการจัดซื้ออาวุธทางทหารใด ๆ ผ่านบัญชีของเรา ...ธนาคารจะดำเนินการที่จะเป็นในทันที เพื่อระงับการทำธุรกรรมและป้องกันไม่ให้บัญชีของเรามีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานทหารเมียนมา”

แรงกดดันทางการเงิน คือเครื่องมือ ‘ยุติความรุนแรง’

แอนดรูว์ส ได้เรียกร้องให้ธนาคารระหว่างประเทศหลายแห่งตรวจสอบการทำธุรกรรมกับธนาคารเมียนมา โดยแนะว่า แรงกดดันทางการเงินระหว่างประเทศเป็นหนึ่งในแนวทางไม่กี่วิธีที่จะช่วยยุติความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้น

รายงานของยูเอ็นได้ยกตัวอย่าง บริษัทสวอน เอนเนอร์ยี่ (Swan Energy) ในเครือกลุ่มบริษัท เอเชีย ซัน กรุ๊ป (Asia Sun Group) สัญชาติเมียนมา ระบุในเว็บไซต์ตนเองว่า บริษัทจำหน่ายเชื้อเพลิงเครื่องบิน 10,000 ตันให้เมียนมาทุก ๆ เดือน ซึ่งมีรายงานว่า ธนาคารกรุงไทยอนุญาตให้บริษัทดังกล่าวชำระเงินผ่านธนาคาร United Amara ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ของเมียนมา เพื่อนำเงินส่งบริษัทพลังงาน ซีบี เอ็นเนอร์ยี่ (CB Energy) ของไทย 

ในปี 2566 เมียนมาสามารถซื้อเชื้อเพลิงเครื่องบินได้อย่างน้อย 80 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็นเพิ่งมีมติเมื่อเดือน เม.ย. เรียกร้องให้รัฐสมาชิกระงับจำหน่ายเชื้อเพลิงสำหรับการทหารให้แก่เมียนมา

UN เรียกร้องคว่ำบาตรช่องทางการเงิน

แอนดรูวส์ยังได้เรียกร้องสถาบันทางการเงินปิดกั้นช่องทางทางการเงินของเมียนมา ด้วยการให้ความร่วมมือคว่ำบาตร SAC และยุติหรือระงับความสัมพันธ์กับธนาคารรัฐบาล และธนาคารพาณิชย์สองแห่งของเมียนมา ได้แก่ UAB และ A-Bank

สหรัฐ แคนาดา และออสเตรเลีย ได้คว่ำบาตรธนาคารการค้าต่างประเทศเมียนมา (MFTB) และธนาคารเพื่อการลงทุนและการพาณิชย์ (MICB) แต่อังกฤษและสหภาพยุโรป (อียู) ยังไม่ดำเนินการคว่ำบาตรสองธนาคารดังกล่าว ที่สำคัญยังไม่มีประเทศใดเลยที่มุ่งเป้าคว่ำบาตรธนาคารเศรษฐกิจเมียนมา (MEB) ซึ่งมีการทำธุรกรรมเปลี่ยนแปลงไป 90% ในปีก่อน หลัง 2 ธนาคารข้างต้นถูกคว่ำบาตร

“แนวทางที่ชัดเจนและทำให้มั่นใจได้ว่าคุณจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมที่เชื่อมโยงกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน คือ การไม่ทำธุรกิจกับธนาคารรัฐใด ๆ ของเมียนมาเลย ซึ่งรวมถึง MEB”

รายงานของยูเอ็นยังพบว่า ตั้งแต่ปี 2564 ที่กองทัพเมียนมาขึ้นมามีอำนาจ มีธนาคาร 25 แห่งที่เปิดบัญชี nostro หรือบัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้กับธนาคารของรัฐบาลเมียนมา นั่นหมายความว่า รัฐบาลทหารสามารถทำธุรกรรมนอกประเทศได้หลายสกุลเงิน 

โดยธนาคารเมียนมาทั้ง MFTB, MICB และ MEB ได้ถือบัญชีประเภทดังกล่าวในธนาคารจีน China Construction Bank, ธนาคารญี่ปุ่นได้แก่ มิซูโฮ และธนาคารมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ, ธนาคารสิงคโปร์ ได้แก่ OCBC, United Overseas Bank และ DBS, ธนาคารมาเลเซีย Maybank, และธนาคารอื่น ๆ ในอินเดียและรัสเซีย

 

อ้างอิง: Nikei Asia