รู้จัก ‘คามาลา แฮร์ริส’ ผู้หญิงผิวดำ ‘คนแรก’ ที่ครองเก้าอี้ระดับสูงเกือบทุกวงการ
ทำความรู้จัก "คามาลา แฮร์ริส" รองประธานธิบดีสหรัฐที่ได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงแข่งขันชิงเก้าอี้ปธน.สหรัฐ เธอเป็นลูกครึ่งอินเดีย-จาไมกา และเป็นหญิงผิวสีคนแรกที่ครองตำแหน่งระดับสูงทั้งในวงการกฎหมายและการเมืองสหรัฐ
อัยการจากแคลิฟอร์เนีย คามาลา แฮร์ริส เกิดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 1964 ในเมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย แม่ของเธอเป็นชาวอินเดียและพ่อเป็นชาวจาไมกา
แฮร์ริสจบการศึกษาปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ในกรุงวอชิงตันดีซี ต่อมาจบการศึกษาปริญญาโทจากวิทยาลัยกฎหมายฮาสติงส์ ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
หลังจากนั้นเธอเริ่มอาชีพด้านกฎหมายด้วยการรับตำแหน่งรองอัยการเขตอลาเมดา เคาน์ตี้ ก่อนจะย้ายไปประจำการที่สำนักงานอัยการเขตซานฟรานซิสโก
ต่อมาแฮร์ริสได้เป็นอัยการเขตซานฟรานซิสโกในปี 2546 และได้รับเลือกเป็นอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายสูงสุดของรัฐ ในปี 2554 และ 4 ปีต่อจากนั้น เธอได้รับเลือกเป็นอัยการสูงสุดอีกครั้ง
ในปี 2559 แฮร์ริสได้รับเลือกเข้าเป็นวุฒิสมาชิสภาสหรัฐ จากรัฐแคลิฟอร์เนีย และกลายเป็นบุคคลอันดับต้น ๆ ที่วิจารณ์โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตปธน.สหรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายผู้อพยพ
ทั้งนี้ แฮร์ริส สมรสกับ “ดักลาส เอ็มฮอฟฟ์” ทนายความที่กลายมาเป็น สุภาพบุรุษหมายเลข 2 คนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐ หลังการเลือกตั้งในปี 2563 แต่ทั้งสองคนไม่มีลูกด้วยกัน อย่างไรก็ตาม แฮร์ริสยังมีบทบาทหน้าที่แม่ ในฐานะมารดาเลี้ยงของเอลลา และโคล เอ็มคอฟฟ์ ซึ่งเป็นบุตรของภรรยาเก่าของเอ็มฮอฟฟ์
ผู้หญิงผิวดำคนแรกเกือบทุกวงการ
แฮร์ริส เป็นผู้หญิงผิวดำที่ครองตำแหน่ง “คนแรก” ในหลายด้าน ตลอดเส้นทางอาชีพของเธอ
เธอกลายเป็นผู้หญิงคนแรก และคนผิวดำคนแรกที่ดำรงตำแหน่งอัยการเขตซานฟรานซิสโก และอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย และเป็นผู้หญิงผิวดำคนแรกที่ครองตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐ ขณะที่สามีของเธอได้เป็นสุภาพบุรุษหมายเลขสองคนแรกของสหรัฐเช่นกัน
เส้นทางรองประธานาธิบดี
ในการเลือกตั้งปี 2563 แฮร์ริสเคยลงสมัครชิงประธานาธิบดี แต่ก็ถอนตัวอย่างรวดเร็วในการเลือกตั้งขั้นต้น หลังแสดงผลงานอภิปรายได้น่าเบื่อ และการดีเบตเมื่อปี 2562 แฮร์ริสเคยท้าทายไบเดนในการแข่งขันชิงปธน. ซึ่งใครหลายคนมองว่า การท้าทายดังกล่าวอาจดับโอกาสในการเป็นรองปธน.ได้
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดไบเดนก็เลือกแฮร์ริสขึ้นมาเป็นรองปธน. ซึ่งแสดงถึงความพยายามดึงดูดฐานเสียงคนผิวดำ เพื่อรวบรวมฐานเสียงของพรรคเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ความน่าเชื่อถือในด้านการบังคับใช้กฎหมายของแฮร์ริสและแนวทางที่เป็นกลาง ยังถือเป็นเครื่องมือช่วยดึงผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งที่ลังเล ให้ออกห่างทรัมป์ได้
แฮร์ริสในฐานะรองประธานาธิบดี
เจนนิเฟอร์ วิกเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยจอร์จเมสัน อธิบายไว้ว่า แฮร์ริสเป็นรองปธน.ธรรมดาทั่วไป
เธอสนับสนุนนโยบายที่เป็นเอกลักษณ์ของฝ่ายบริหารของไบเดนเป็นส่วนใหญ่ เช่น กฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน กฎหมายการเข้าเมือง การควบคุมอาวุธปืน และความพยายามปกป้องสิทธิในการทำแท้งของผู้หญิง
“คะแนนความนิยมของเธอไม่สูงมาก และยังไม่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับเธอมากนัก เธอไม่ได้ตกเป็นเป้าของวาทกรรมทางการเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ฉันคิดว่าเราจะได้เห็นเธอตกเป็นเป้าวาทกรรมทางการเมืองเพิ่มขึ้น” วิกเตอร์ กล่าว
แฮร์ริสเอาชนะทรัมป์ได้หรือไม่
อัลจาซีราระบุว่า คำถามนี้ยังเป็นคำถามใหญ่สำหรับเดโมแครต
อลัน ฟิชเชอร์ ผู้สื่อข่าวจากอัลจาซีรา ระบุว่า แม้ไบเดนสนับสนุนแฮร์ริส แต่ไม่ได้หมายความว่าเธอจะได้รับการสนับสนุนจากพรรคเดโมแครต ซึ่งเหลือเวลาไม่ถึง 1 เดือนก่อนที่การประชุมพรรคเดโมแครตจะเริ่มต้นขึ้น
“เดโมแครตคงไม่อยากจะห่ำหั่นกันในที่ประชุมในชิคาโก มันดูไม่เหมาะสม ดังนั้น พวกเขาอาจจะร่วมกันสนับสนุนคามาลาแฮร์ริส และมองหารองปธน.ที่อาจช่วยพวกเขาในด้านอื่น ๆ” ฟิชเชอร์ กล่าวเสริม
อนึ่ง โพลสำรวจล่าสุดที่มีขึ้นหลังจากไบเดนแสดงผลงานดีเบตได้ด้อยกว่า ทรัมป์ ไม่มีสำนักใดบ่งชี้ว่าแฮร์ริสมีแนวโน้มเอาชนะทรัมป์ได้มากกว่าไบเดน ขณะที่ผู้สนับสนุนแฮร์ริสโต้ว่า ผลสำรวจอาจเปลี่ยนแปลงแล้วเมื่อไบเดนถอนตัวจากการแข่งขัน
โพลของนักเศรษฐศาสตร์จากยูกอฟ (YouGov) เมื่อสัปดาห์ก่อนพบว่า ไบเดนอาจแพ้ทรัมป์ โดยมีคะแนนความนิยมเพียง 41% ขณะที่ทรัมป์ขึ้นนำอยู่ที่ 43% และโพลยังแสดงให้เห็นว่าแฮร์ริสพ่ายแพ้ทรัมป์เช่นกัน โดยมีความนิยมเพียง 39% ขณะที่ทรัมป์ขึ้นนำที่ 44%
ส่วนโพลของรอยเตอร์ พบว่า ทั้งไบเดนและแฮร์ริส มีคะแนนความนิยมพอ ๆ กับทรัมป์ ดังนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีโอกาสชนะอยู่ที่ 50%
ทำไมแฮร์ริสยังมีข้อกังขา
แฮร์ริสเรียกตัวเองว่าเป็น “อัยการหัวก้าวหน้า” แต่เธอมีผลงานร่วมกับฝ่ายก้าวหน้าของพรรคไม่กี่งานเท่านั้น
นักวิจารณ์ยังได้กล่าวหาว่า เธอมีแนวทางดำเนินนโยบายผสมปนเปทั้งดีและไม่ดีปะปนกันไป เช่น การผลักดันบังคับใช้กฎหมายละทิ้งหน้าที่
กฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้ทนายความของเขตต่าง ๆ ตั้งข้อหาผู้ปกครองด้วยความผิดลหุโทษ หากลูกขาดเรียนหนังสือโดยไม่มีเหตุผลสมควร กฎหมายนี้ส่งผลกระทบกับหญิงผิวดำคนหนึ่งในแคลิฟอร์เนียที่ถูกจับเพียงเพราะลูกเธอขาดเรียนบ่อย เนื่องจากป่วยเป็นโรคโลหิตจางเรื้อรัง และมีอาการแทรกซ้อนมากมาย การจับกุมหญิงคนนั้นจึงเป็นที่ถกเถียงถึงความเหมาะสมของการใช้กฎหมายดังกล่าว
ขณะที่ทีมของเธอพยายามป้องกันไม่ให้มีการปล่อยตัวนักโทษออกมาเพิ่ม แม้เรือนจำในแคลิฟอร์เนียมีนักโทษแออัดจำนวนมากก็ตาม และในฐานะที่เธอเป็นอัยการสูงสุดของรัฐ เธอเคยโต้แย้งคดีที่ปกป้องการใช้โทษประหารชีวิตในแคลิฟอร์เนีย แม้ส่วนตัวแล้วเธอเป็นผู้ต่อต้านบทลงโทษดังกล่าวก็ตาม
แม้แฮร์ริสได้รับการยกย่องว่าเป็นอนาคตของเดโมแครตมานาน แต่เธอยังคงเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่สามารถประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง และนักวิจารณ์บอกว่าเธอขาดคาริสมา หรือความสามารถในการขึ้นนำพรรค
จุดยืนแฮร์ริสต่อสงครามในกาซา
แฮร์ริสมีแนวทางใกล้เคียงกับรัฐบาลไบเดนในการสนับสนุนอิสราเอล และเธอมักปกป้องสิทธิของอิสราเอลในการป้องกันตนเองอยู่เสมอ รวมถึงในระหว่างเกิดสงครามในกาซา
เธอมีกำหนดพบเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลในสัปดาห์นี้ เมื่อเนทันยาฮูไปเยือนสหรัฐ
แฮร์ริสยังคงเป็นหนึ่งในสมาชิกแกนนำฝ่ายบริหารที่เน้นย้ำถึงวิกฤติด้านมนุษยธรรมในกาซา และเมื่อเดือนมี.ค. เธอเป็นสมาชิกระดับสูงสุดของฝ่ายบริหารที่เรียกร้องด้วยคำว่า “หยุดยิง” เพื่อให้ยุติการสู้รบชั่วคราวตามหลักมนุษยธรรม
อ้างอิง: Al Jazeera