‘เวียดนาม’ จะมุ่งหน้าไปทางใดในยุค ‘โต เลิม’ หลังผู้อาวุโสสุดของพรรคจากไป

‘เวียดนาม’ จะมุ่งหน้าไปทางใดในยุค ‘โต เลิม’ หลังผู้อาวุโสสุดของพรรคจากไป

หลังจากการเสียชีวิตของ ‘เหงียน ฟู้ จ่อง’ เวียดนามกำลังเผชิญกับยุคใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดี ‘โต เลิม’ นักปฏิบัติที่ขึ้นชื่อเรื่องการกวาดล้างการทุจริต นักวิเคราะห์ชี้ แม้โต เลิมจะสามารถรวบอำนาจได้ แต่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามสำคัญ

นับตั้งแต่เหงียน ฟู้ จ่อง (Nguyen Phu Trong) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2024 ในวัย 80 ปี คณะกรรมการการเมืองและคณะกรรมการกลางของพรรคได้ประกาศว่า ประธานาธิบดี “โต เลิม” (To Lam) จะเข้ามารับช่วงต่อแทนเขา

‘เวียดนาม’ จะมุ่งหน้าไปทางใดในยุค ‘โต เลิม’ หลังผู้อาวุโสสุดของพรรคจากไป

- โต เลิม (เครดิต: baochinhphu) -

การผลัดใบครั้งใหญ่นี้ก่อให้เกิดคำถามสำคัญตามมาว่า ยุคเวียดนามหลังสมัยเหงียน ฟู้ จ่องจะมีหน้าตาเช่นไร และโต เลิมที่รับช่วงต่อ มีแนวโน้มพาเศรษฐกิจเวียดนามไปในทิศทางใดบ้าง

ซาคารี อาบูซา (Zachary Abuza) ศาสตราจารย์ด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติที่วิทยาลัยสงครามแห่งชาติสหรัฐ ในกรุงวอชิงตัน ได้ให้มุมมองเรื่องนี้ในเว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียว่า “โต เลิม” อยู่ในสถานะอันแข็งแกร่งที่จะสืบทอดต่อจากเหงียน ฟู้ จ่องอยู่แล้ว

‘เตาเผาทุจริต’ ขจัดโกงหรือกำจัดศัตรูการเมือง

อาบูซาแสดงความเห็นว่า ช่วงที่โต เลิมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะตั้งแต่ปี 2016 ถึงปี 2024 เขาเป็นบุคคลสำคัญในการรณรงค์กวาดล้างการทุจริตในแคมเปญที่ชื่อว่า “เตาเผาทุจริตอันลุกโชน” แต่ในการทำเช่นนั้น เขาได้นำ “การสืบสวน” มาใช้เป็นอาวุธจัดการคู่แข่งในคณะกรรมการการเมือง โดยบังคับให้ผู้ที่ต่อต้านเขา หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งครบสองสมัยและมีสิทธิสืบทอดตำแหน่งจากเหงียน ฟู้ จ่องต้องลาออกอย่างเป็นระบบ

ภายใต้กฎของพรรคที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสามารถแก้ไขได้ มีเพียงนายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (Pham Minh Chinh) เท่านั้นที่มีสิทธิ์ แม้ว่าข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตของเขาเอง จะดูเหมือนเป็นตัวถ่วงไม่ให้เขาทำอะไรได้มากนัก

ที่ผ่านมา เหงียน ฟู้ จ่องแต่งตั้งผู้ภักดีในตำแหน่งสำคัญในกระทรวงความมั่นคงสาธารณะและสำนักงานคณะกรรมการกลาง โดยในอีก 17 เดือนข้างหน้า เป็นไปได้ว่าจะเห็นการเมืองที่มีความมั่นคงมากขึ้น โดยการรณรงค์ต่อต้านทุจริตได้ช่วยทำให้โต เลิมสามารถรวบอำนาจได้กระชับมากกว่าเดิม

เรื่องความมั่นคงทางการเมือง ถือเป็นสิ่งจำเป็น แม้ว่าเวียดนามจะได้รับประโยชน์จากการกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน โดยนักลงทุนต่างประเทศให้สัญญาว่า จะลงทุนในเวียดนามโดยตรงที่ประมาณ 36,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2023 และ 15,000 ล้านดอลลาร์ในครึ่งแรกของปีนี้ แต่นั่นไม่ได้การันตีว่าจะเกิดขึ้นได้แน่นอน

นอกจากเรื่องการต่อสู้ทางการเมืองภายในแล้ว เวียดนามยังประสบปัญหาการจัดหาพลังงานไฟฟ้าที่ไม่สม่ำเสมอ โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ค่อยครอบคลุม การทุจริตที่แพร่หลาย การดำเนินนโยบายล่าช้า ค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงกลุ่มแรงงานด้านทักษะเทคโนโลยีขั้นสูงยังคงขาดแคลน

ยิ่งไปกว่านั้น คำมั่นสัญญาต่าง ๆ ที่จะลงทุนในเวียดนาม มีทั้งการลงทุนที่ให้สัญญา และการลงทุนที่จริงจัง โดยนักลงทุนบางรายได้เลี่ยงเวียดนามไปแล้ว ขณะที่มาเลเซียกับฟิลิปปินส์กำลังขึ้นเป็น “จุดดึงดูดการลงทุนใหม่” แทน หลังจากทั้งสองประเทศจัดระเบียบการเมืองของตนเองใหม่

เหงียน ฟู้ จ่อง นักอุดมการณ์ VS โต เลิม นักปฏิบัติ

สำหรับเหงียน ฟู้ จ่องนั้น อาบูซาเล่าว่า เขาเป็น “นักอุดมการณ์มาร์กซิสต์” แบบเข้มข้น ซึ่งอุดมการณ์นี้ได้ฝังรากลึกในความคิดของเขา นอกเหนือจากช่วงเวลา 5 ปีที่ดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาแห่งชาติตั้งแต่ปี 2001-2006 ตลอดอาชีพการงานของจ่องคือ นักทฤษฎีมาร์กซิสต์ โดยเขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่มุ่งมั่นต่อมาร์กซิสม์อย่างลึกซึ้ง ซึ่งนักอุดมการณ์เช่นนี้หายากขึ้นทุกที

‘เวียดนาม’ จะมุ่งหน้าไปทางใดในยุค ‘โต เลิม’ หลังผู้อาวุโสสุดของพรรคจากไป

- เหงียน ฟู้ จ่อง (เครดิต: xaydungchinhsach) -

เช่นเดียวกับสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีของจีน เหงียน ฟู้ จ่อง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม คัดค้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากต้องแลกมาด้วยการสูญเสียอำนาจควบคุมของพรรค เขาจึงทำการกวาดล้างบรรดานักเทคโนแครตที่พยายามเปลี่ยนโฟกัสการตัดสินใจออกไปจากการควบคุมของพรรค 

ขณะที่โต เลิม เขาเคยเป็นตำรวจมืออาชีพ ตำแหน่งของเขาในกระทรวงความมั่นคงสาธารณะคือการรักษาอำนาจของพรรค แต่เขาไม่ใช่นักอุดมการณ์

แม้ว่าโต เลิมจะเป็นผู้นำเผด็จการ แต่เขาก็เป็น “นักปฏิบัติ” ที่มองว่าความชอบธรรมของพรรค ซึ่งหมายถึงความมั่นคงของพรรค จะได้รับการสนับสนุนด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่การติดกับดักรายได้ปานกลาง

โปลิตบูโรชุดปัจจุบัน เน้นกุมอำนาจมากกว่าเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม อาบูซาชี้ถึงจุดที่น่ากังวลว่า คณะกรรมการการเมืองชุดปัจจุบันที่มีสมาชิก 16 คน  รวมถึงสมาชิก 4 คนที่เข้ามาในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 9 ของพรรคคอมมิวนิสต์ในเดือนพฤษภาคม ขาดประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจอย่างมาก ด้วยสมาชิก 5 คนมาจากกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ 3 คนมาจากกองทัพ และส่วนหนึ่งเป็นตัวแทนขององค์กรอาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม สะท้อนว่าคณะทำงานนี้เน้นที่ “การควบคุมอำนาจ ไม่ใช่ด้านเศรษฐกิจ”

เป็นที่คาดว่า โต เลิมจะดำรงตำแหน่งทั้งประธานาธิบดี และรักษาการเลขาธิการใหญ่พร้อมกัน โดยนี่ไม่ควรถูกตีความว่า การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะหมายถึงการเปลี่ยนพื้นฐานนโยบายต่างประเทศ เพราะความเป็นกลางอย่างขันแข็งของเวียดนาม ซึ่งฮานอยเรียกว่า “การทูตแบบไม้ไผ่” ถูกกำหนดไว้ในนโยบายที่ร่างขึ้นร่วมกัน รวมถึงในสมุดปกขาวว่าด้วยการป้องกันประเทศปี 2019

สิ่งที่สะท้อนความเป็นไผ่ลู่ลมของเวียดนาม คือ ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว เวียดนามได้ต้อนรับประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย

เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจีนจะยังคงเป็นนักลงทุนสำคัญ สหรัฐฯ และยุโรปเป็นตลาดส่งออกหลัก ขณะที่เวียดนามยังคงได้รับประโยชน์จากการกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน 

ในขณะเดียวกัน เวียดนามยังคงเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในภาคใต้ของจีน แม้จะเกรงกลัวการรุกรานของจีนในทะเลจีนใต้ แต่ฮานอยก็มีความกังวลร่วมกับปักกิ่งเกี่ยวกับ “ทฤษฎีวิวัฒนาการอย่างสันติ” ที่สหรัฐพยายามแทรกซึมแนวคิดประชาธิปไตยและค่านิยมตะวันตกเข้าไปในหมู่ประเทศคอมมิวนิสต์ และ “การปฏิวัติสี” ซึ่งเกี่ยวกับการลุกฮือครั้งใหญ่ของประชาชน เพื่อประท้วงรัฐบาล

หลังจากช่วงเวลา 20 เดือนของการต่อสู้ทางการเมืองภายในเวียดนามถึงจุดสูงสุด โต เลิมเห็นว่าตัวเองเป็นคนที่สามารถจัดการความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกัน และผลประโยชน์ที่ตรงกันข้ามเหล่านี้ได้

อ้างอิง: nikkei