รู้จัก ‘4 ดินแดนเศรษฐกิจ’ใหม่ เปิดประตูสู่โอกาสธุรกิจในอนาคต
รู้จัก ‘4 ดินแดนเศรษฐกิจ’ใหม่ เปิดประตูสู่โอกาสธุรกิจในอนาคต
จุดเริ่มต้นจาก ‘เศรษฐกิจคนโสด’คนไม่อยากมีครอบครัว หัน’เลี้ยงสัตว์’แทนลูก รักงานอิสระ ท่ามกลางสังคมที่กำลังเข้าสู่ยุค ‘ผู้สูงอายุ’
ในยุคที่โลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเข้าใจแนวโน้ม”เศรษฐกิจ”ใหม่ๆ เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ วันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับ 4 "ดินแดนเศรษฐกิจ" ที่กำลังเติบโตและมีศักยภาพในการคว้าโอกาสทางธุรกิจก้อนโตที่ไม่ควรมองข้าม
1.Solo Economy “เศรษฐกิจคนโสด”
ตลาดที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของคนที่เลือกใช้ชีวิตโสด ปัจจุบันจำนวนคนโสดในหลายประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ที่ระบุว่า ในปี 2566 มีคนโสดทั่วโลกมากถึงราว 2.12 พันล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 3 พันล้านคน ภายในปี 2030
นอกจากคนโสดจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นทั่วโลกแล้ว ประชากรกลุ่มนี้ยังมีอำนาจในการจับจ่ายสินค้าและบริการสูง รวมทั้งยังมีแนวโน้มปรนเปรอตัวเอง (Self indulgence) และกล้าใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อความสุขให้ตัวเองมากกว่าผู้บริโภคกลุ่มอื่นอีกด้วย
เทรนด์นี้จุดกระแสร้านอาหารทำกลยุทธ์ตอบโจทย์ลูกค้าสำหรับนั่งทานคนเดียว “Table for one” อย่างร้าน MK เปิดโซนหม้อเดี่ยวและเซตอาหารสำหรับกินคนเดียวไว้ให้บริการ รวมทั้งธุรกิจจัดส่งวัตถุดิบพร้อมปรุง (Meal kits delivery) เพื่อตอบโจทย์คนโสดที่อยากทำอาหารทานเองแต่มีเวลาน้อย
2.Silver Economy “เศรษฐกิจผู้สูงอายุ”
เมื่อโลกกำลังเข้าสู่สังคม “ผู้สูงอายุ” สาเหตุหลักมาจาก อายุขัยที่ยาวนานขึ้นและอัตราการเติบโตของครอบครัวที่น้อยลง
องค์การสหประชาชาติ (UN) รายงานในปี 2566 ระบุว่า จำนวนประชากรโลกที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เป็น 1.6 พันล้านคนภายในปี 2593
ส่วนประเทศไทย มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรวัยสูงอายุ เป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยข้อมูลจากกรมผู้สูงอายุชี้ว่า ในปี 2565ไทยมีจํานวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 12.7 ล้านคน หรือ 19%
ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เกิดจากสังคมผู้สูงอายุ ธุรกิจสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ เช่น อุปกรณ์ช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน บริการดูแลสุขภาพ หรือกิจกรรมสันทนาการสำหรับผู้สูงวัย
บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งได้ปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ไปแล้ว อย่าง “พานาโซนิค”ยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ได้ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเป้าไปที่ประชากรสูงอายุมาตั้งแต่ปี 2533 แล้ว รวมถึงบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว “โซจิรุชิ” นำเสนอ คุณสมบัติผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุ เช่น กาต้มน้ำไฟฟ้าที่สามารถส่งอีเมลไปยังที่อยู่อีเมลที่ลงทะเบียนไว้เมื่อใช้งาน เพื่อให้ญาติสามารถติดตามกิจกรรมของผู้สูงอายุในครอบครัวได้
นอกจากนี้ “ไดโอ เปเปอร์”บริษัทผู้ผลิตผ้าอ้อมเด็กในญี่ปุ่นกำลังลงทุนในตลาดใหม่ หันมาจับตลาดผู้สูงวัยซึ่งมีรายได้เพิ่งถึง 2 เท่าและทดแทนผ้าอ้อมเด็กทารก หลังยอดขายลดฮวบตามอัตราการเกิดที่ลดลง
3.Pet Economy เศรษฐกิจสัตว์เลี้ยง
ตลาดที่เติบโตจากเศรษฐกิจคนโสด โดยครัวเรือนคนเดียวยังมีแนวโน้มเลี้ยงสัตว์และปลูกต้นไม้มากขึ้น ซึ่งมีครัวเรือนคนเดียวกว่า 2.7 แสนครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 32.9% จากปี 2562
จากรายงานของวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2566 ยังพบอีกว่า คนโสด 80.7% นิยม เลี้ยงสัตว์เปรียบเสมือนลูก โดยในจำนวนนี้ 49% ระบุเหตุผลว่า เลี้ยงเพื่อคลายความเหงา เช่นเดียวกันกับ ครัวเรือนคนเดียวอีกกว่า 2.3 แสนคน ที่นิยมปลูกต้นไม้/ไม้ดอก/ไม้ประดับ ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่าตัว จากปี 2562
ล่าสุด ttb analytics เผยข้อมูลว่าการเติบโตของมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงไทยนับตั้งแต่ปี 2562-2567 มีการเติบโตเฉลี่ย 17.5% ส่วนในปีนี้คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยจะมีมูลค่า 74,800 ล้านบาท เติบโต 12.4% จากปี 2566
อย่างไรก็ตาม ตลาดสัตว์เลี้ยงที่คึกคักไม่ได้ผลักดันแค่ฝั่งของธุรกิจอาหารและอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเท่านั้น ยังผลักดันบริการรักษาสัตว์และการทำฟาร์มเพาะสัตว์เลี้ยงอีกด้วย
4.Gig Economy “เศรษฐกิจกิ๊ก”
รูปแบบการทำงานแบบชั่วคราวหรือเป็นงานอิสระ ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากแนวโน้มนี้โดยการจ้างงานแบบยืดหยุ่น หรือพัฒนาแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงผู้ว่าจ้างกับฟรีแลนซ์
สำหรับในประเทศไทย มีแพลตฟอร์มจำนวนมากมายในลักษณะนี้ ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มให้บริการขนส่ง เช่น Grab, GET หรือ Lalamove แพลตฟอร์มให้บริการสั่งอาหาร เช่น Line Man หรือ Foodpanda และ แพลตฟอร์มจ้างงานอื่นๆ เช่น จ้างแม่บ้าน BeNeat หาคนทำงานอิสระ (หรือฟรีแลนซ์) เช่น Fastwork นอกจากนี้ในกรณีที่งานเป็นแบบดิจิทัล สามารถทำงานที่ใดก็ได้ ก็ยังมีแพลตฟอร์มจ้างงานเช่น Upwork, Fiverr, หรือ Freelancer ที่ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างไม่จำเป็นต้องอยู่ในประเทศเดียวกัน
ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการคว้าโอกาสจากเทรนด์นี้ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและโมเดลธุรกิจเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์และตรงใจผู้บริโภคกลุ่มใหม่