วิเคราะห์ผลกระทบ หลัง 'สังหารฮานิเยห์' สงครามตะวันออกกลางจะไปสุดที่ตรงไหน

วิเคราะห์ผลกระทบ หลัง 'สังหารฮานิเยห์' สงครามตะวันออกกลางจะไปสุดที่ตรงไหน

อัลจาซีรา รวบรวมวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการถึงผลกระทบ หลังเกิดการสังหารผู้นำฝ่ายการเมืองของฮามาส ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะไปสุดที่ตรงไหน?

"อิสมาอิล ฮานิเยห์" ผู้นำฝ่ายการเมืองของฮามาส เสียชีวิตในบ้านของเขาหลังถูกถล่มในกรุงเตหะราน เมื่อวันพุธ (31 ก.ค.) และทำให้องครักษ์เสียชีวิต 1 คน เหตุการณ์สังหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังฮานิเยห์เข้าร่วมพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีมาซุด เปเซชคิยัน แห่งอิหร่านเมื่อวันอังคาร (30 ก.ค.) ทำให้เกิดกระแสความกังวลมากมายว่า ความขัดแย้งตะวันออกกลางจะบายปลายหรือไม่

อัลจาซีราสรุปวิเคราะห์จากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญไว้ดังนี้

เสี่ยงทำความขัดแย้งบานปลาย

การสังหารฮานิเยห์ จะผลักดันให้อิหร่านและฮิซบอลเลาะห์ตอบโต้เบาๆ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความขัดแย้งในภูมิภาคอย่างเต็มรูปแบบ

มีรายงานว่า นักการทูตสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) เตรียมเข้าไปหารือกับคู่เจรจาในระดับภูมิภาค เพื่อพยายามป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามไปมากกว่านี้ โดยเชื่อว่าอียูจะโฟกัสไปที่อิหร่าน ประเทศที่ผู้นำให้คำมั่นว่าจะแก้แค้นอิสราเอลอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งเป็นประเทศที่พวกเขาโทษว่าเป็นผู้สังหารฮานิเยห์ในเตหะราน

ด้านนักวิเคราะห์ภูมิภาคตะวันออกกลางเผยกับอัลจาซีราว่า ไม่ว่าจะเกิดการตอบโต้ในรูปแบบใด หรือแม้ออกมาในรูปแบบมาตรการ อาจเพิ่มความเป็นไปได้ที่ความขัดแย้งจะบานปลาย

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังไม่แน่ใจว่า ฮามาสจะตอบโต้อย่างไร เนื่องจากอยู่ในระหว่างทำสงครามกับอิสราเอลมานานนับ 10 เดือน

เนการ์ มอร์ตาซาวี” ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอิหร่าน และนักวิชาการอาวุโสจากศูนย์นโยบายระหว่างประเทศ บอกว่า “ฉันไม่คิดว่าอิหร่านต้องการให้ (สงคราม) บานปลาย พวกเขา (พยายาม) หลีกเลี่ยง เห็นได้จากเมื่อเดือน เม.ย. ที่เห็นอิหร่านตอบโต้การโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในซีเรีย ในลักษณะที่พยายามลดผลกระทบ(การโจมตี) เพื่อหลีกเลี่ยงการบานปลาย และฉันคิดว่าสถานการณ์นี้จะเป็นเช่นนั้น”

มอร์ตาซาวี เล่าถึงการโจมตีของอิหร่านเมื่อเดือน เม.ย. ที่ยิงขีปนาวุธและโดรนโจมตีอิสราเอลจำนวนมากเพื่อตอบโต้การโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในซีเรียของอิสราเอล ที่คร่าชีวิตผู้คนไป 7 ราย รวมถึงนายพลอิหร่าน 2 ราย

ดีลหยุดยิงอาจจบเร็ว?

นักวิเคราะห์บอกว่า “การสังหารฮานิเยห์” ซึ่งเป็นผู้เจรจาคนสำคัญสำหรับอิสราเอลในการยุติสงครามกาซานั้น อาจเป็นชนวนที่ทำลายหรือเร่งรัดการเจรจาสันติภาพ

ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ฮามาสและอิสราเอลยังคงอยู่ในห้วงการเจรจาหยุดยิงเพื่อยุติการสู้รบในกาซา และปล่อยตัวประกันอิสราเอลเพื่อแลกเปลี่ยนกับนักโทษชาวปาเลสไตน์หลายพันคน แต่นักวิจารณ์และผู้เชี่ยวชาญบอกว่า “เบนจามิน เนทันยาฮู” นายกรัฐมนตรีอิสราเอลมักเป็นผู้ที่ทำให้การเจรจาหยุดยิงชะงัก

คนกลุ่มนี้มักโทษว่าเนทันยาฮู ผู้นำที่ได้รับความนิยมต่ำ เป็นคนที่ไม่อยากให้สงครามนี้จบลง เพราะกลัวว่าอาจทำลายรัฐบาลฝ่ายขวาสุดของตน และอาจทำให้เกิดการเลือกตั้งเร็วขึ้น

แต่ “ไมราฟ ซอนสเซน” ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จาก International Crisis Group เชื่อว่า เนทันยาฮูสามารถพยายามโน้มน้าวว่า การลอบสังหารฮานิเยห์เป็นชัยชนะของอิสราเอลได้ และอาจมีความเป็นไปได้ทางการเมืองว่าเนทันยาฮูจะเห็นด้วยกับข้อตกลงหยุดยิง

ด้าน อัซมี เคชาวี นักวิจัยจาก Crisis Group และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับฮามาส เชื่อว่า อิสราเอลอาจเห็นด้วยกับข้อตกลงหยุดยิงเร็ว ๆ นี้ ถ้าพวกเขาสามารถใช้ประโยชน์จากการโน้มน้าวเกี่ยวกับการสังหารฮานิเยห์ได้

ขณะที่ชาวอิสราเอลจำนวนมาก ออกมาเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในกาซาเพื่อปล่อยตัวประกัน และลดแรงกดดันต่อกองทัพอิสราเอลที่กำลังเหลืออาวุธยุทโธปกรณ์และกองหนุนน้อยลง

เคชาวี เตือนว่า ถ้าอิสราเอลยืดการเจรจาออกไปอีก อาจได้เห็นผู้นำที่มาแทนที่ฮานิเยห์ที่มีความประนีประนอมน้อยลง

“ฮานิเยห์ไม่ใช่ผู้นำสายแข็ง เขาเป็นคนที่สร้างความเป็นหนึ่งเดียว และพร้อมจะประนีประนอม ตอนนี้เขาไม่อยู่แล้ว อิสราเอลอาจต้องเผชิญกับผู้นำสายแข็งจากผู้นำระดับสูงของฮามาส แล้วถ้าอิสราเอลและสหรัฐฉลาด พวกเขาจะอ้างชัยชนะที่พวกเขาใฝ่หา เพื่อออกจาก(ความขัดแย้ง)กาซา”

อิสราเอลรู้สึกมีอำนาจ

โอรี โกลด์เบิร์ก” นักวิจารณ์และนักวิเคราะห์เกี่ยวกับอิสราเอลเผยว่า แม้การโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 ของฮามาส เป็นความล้มเหลวทางด้านข่าวกรองของอิสราเอลในสายตาผู้เชี่ยวชาญ แต่การสังหารฮานิเยห์ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงและด้านข่าวกรองให้กับชาวอิสราเอลจำนวนมาก

“สิ่งที่การโจมตีทำ คือต่อลมหายใจ มอบชีวิตใหม่ ให้กับผู้นำระดับสูงของกองทัพอิสราเอล พวกเขาจะบอก นี่ ! เรายังคงสามารถทำอะไรได้และเราไม่ได้ไร้ความสามารถเหมือนที่เคยเป็น” และเสริมว่า “แต่การสังหารฮานิเยห์ในเตหะรานเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของอิหร่านครั้งใหญ่และไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้ามได้”

“อิมัด ซาลามีย์” นักรัฐศาสตร์และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเลบานีสอเมริกัน มีความเชื่อเช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ว่า อิหร่านและพรรคพวก (กลุ่มติดอาวุธที่เกี่ยวข้องกับอิหร่าน) รู้สึกว่าตนเองต้องตอบโต้

“การโจมตีของอิสราเอลอาจกระตุ้นให้เกิดการตอบโต้จากพรรคพวกอิหร่านในเลบานอน เยเมน และอิรัก อาจใช้อาวุธที่ซับซ้อนและอันตรายมากขึ้น แต่อิหร่านมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนความขัดแย้งที่มีความรุนแรงต่ำ และดึงอิสราเอลเข้าสู่ 'สงครามพร่ากำลัง' ที่ยืดเยื้อ”

ด้านโอมาร์ ราห์มัน ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จาก Middle East Council on Foreign Relations ในกรุงโดฮา กาตาร์ บอกว่า สหรัฐเป็นผู้แบกรับความรับผิดชอบมากที่สุดในการให้อิสราเอลขัดขวางการเจรจาหยุดยิง และกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในภูมิภาค

“เพราะการสนับสนุนที่ไร้เงื่อนไขของสหรัฐ อิสราเอลจึงรู้สึกได้รับอำนาจในการปฏิบัติการตามเห็นสมควร และแผลงฤทธิ์ออกมาล่าสุดในกรุงเบรุตและเตหะราน” และว่า “การสนับสนุนอิสราเอลของสหรัฐเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังทุกอย่างที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 7 ต.ค. 2566 และภัยคุกคามต่อสงคามในภูมิภาคก็เกิดขึ้นจากปัจจัยนี้”

 

อ้างอิง: Al Jazeera