แบรนด์รถยุโรปเสียหายหนัก ครึ่งปีแรก 'ต้นทุนพุ่ง-กำไรร่วงแรง'

แบรนด์รถยุโรปเสียหายหนัก ครึ่งปีแรก 'ต้นทุนพุ่ง-กำไรร่วงแรง'

แบรนด์รถยุโรปเสียหายหนักตั้งแต่ต้นปี ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ และกำไรลดลงอย่างมาก เนื่องจากเผชิญกับการแข่งขันจากรถอีวีจีนอย่างดุเดือด

ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ 5 อันดับแรกในยุโรป เผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากตั้งแต่ครึ่งปีแรก เนื่องจากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าซบเซาลง และต้องเจอกับการแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตของอีวีจีน รวมถึงต้นทุนการพัฒนาและการวิจัยที่เพิ่มขึ้น

 

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า ผลประกอบการและผลกำไรของแบรนด์รถยนต์สัญชาติยุโรป ลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรก

 

โอลิเวอร์ บลูม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) เผยในที่ประชุมรายงานผลประกอบการเมื่อวันพฤหัสบดี (1 ส.ค.) ว่า ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

“เราได้ตัดสินใจทางเทคนิคไปหมดแล้ว เราได้ดำเนินการทุกขั้นตอนที่จำเป็นต้องทำ และตอนนี้ติดที่ต้นทุน ต้นทุน และต้นทุน” บลูมกล่าว  

 

ปัญหาใหญ่ที่สุดของโฟลค์สวาเกนคือ “ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า” ในช่วง 6 เดือนสิ้นสุดในเดือนมิ.ย. ยอดจำหน่ายรถอีวีโฟล์คสวาเกนในยุโรปลดลง 15% จากปีก่อน สู่ระดับประมาณ 180,000 คัน และยอดขายในสหรัฐลดลงราว 15% ขณะที่กำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกร่วง 14% จากปีก่อน สู่ระดับ 7,300 ล้านยูโรและแม้รายได้เพิ่มขึ้น 2% แต่กำไรจากการดำเนินงานลดลงสู่ระดับ 6.3% จาก 7.3% และต่ำกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ 6.5-7.0%

 

อาร์โน แอนท์ลิตซ์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) โฟล์คสวาเกน เผยว่า แม้บริษัทปรับลดต้นทุนไปแล้วประมาณ 1,000 ล้านยูโรเมื่อเดือน ต.ค. ปีก่อน แต่บริษัทยานยนต์สัญชาติเยอรมันยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายกำไรตามที่คาดหวังไว้ได้ และเสริมว่า ผลประกอบการดังกล่าว บ่งชี้ว่าบริษัทมีความจำเป็นต้องดำเนินการลดต้นทุนในช่วงครึ่งปีหลังต่อไป และขณะนี้โฟล์คสวาเกนกำลังพิจารณาปิดโรงงานในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ที่เป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของแบรนด์ในเครืออย่าง “อาวดี้ (Audi)” ด้วย

 

ด้านสเตลแลนทิส (STELLANTIS) เผย กำไรสุทธิร่วงแรง 48% ในช่วงครึ่งปีแรก เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าขณะที่ยอดขายในยุโรปในช่วงเวลาดังกล่าวลดลง 6% และยอดขายในสหรัฐดิ่ง 18% เนื่องจากการทำกลยุทธ์ตลาดล้มเหลว อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงวางแผนเปิดตัวโมเดลรถยนต์รุ่นใหม่ 20 รุ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า

บีเอ็มดับเบิลยู (BMW), เรโนลต์ (Renault) และเมอร์เซเดส-เบนซ์ กรุ๊ป (Mercedes-Benz Group) ต่างมีกำไรสุทธิลดลงในช่วงครึ่งปีแรกเช่นกัน เนื่องจากแบรนด์เผชิญกับเรื่องน่าปวดหัวในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ผู้บริโภคใช้จ่ายซบเซา

 

ยอดขายบีเอ็มดับเบิลยูในจีนลดลงประมาณ 4% สู่ระดับ 370,000 คัน เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม “โอลิเวอร์ ซิปส์” ซีอีโอบีเอ็มดับเบิลยูคาดว่า ยอดขายอาจฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากอาจมีความต้องการรถยนต์อีวีรุ่น Mini Aceman ที่เพิ่งเปิดตัวในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

 

ขณะที่ “โอลา คัลเลเนียส” ซีอีโอเมอร์เซเดส-เบนซ์ กรุ๊ป ได้คาดการณ์ยอดขายของบริษัทในแง่ลบ หลังยอดขายรถยนต์ในจีนร่วง 9% ในช่วงครึ่งปีแรก

 

“ผมคิดว่าทุกคนทราบดี ตั้งแต่เราหลุดพ้นจากมาตรการควบคุมโควิด-19 เมื่อต้นปีก่อน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไม่กลับมาแล้ว อุปสรรคในตลาดจีนปัจจุบัน อาจยังคงอยู่ต่อไปอีก 12 หรือ 18 เดือนข้างหน้า"

 

นอกจากนี้ สงครามราคาสุดโหดจากผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน ได้บั่นทอนอัตรากำไรขั้นต้น รวมถึงยอดจำหน่ายรถยนต์ของผู้ผลิตยานยนต์ยุโรปในตลาดจีนด้วยเช่นกัน

 

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกมาตรการภาษีต่อรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีนขณะที่รัฐบาลปักกิ่งเตรียมพิจารณาขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์สันดาปสู่ระดับ 25% จากระดับ 15% เพื่อตอบโต้มาตรการภาษีของอียู ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้ อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์หรูของบรรดาผู้ผลิตยานยนต์ในยุโรป

 

นอกจากนี้ อียูจ่อเพิ่มความเข้มงวดในกฎระเบียบเกี่ยวกับการลดการปล่อยคาร์บอนมากขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปจึงวางแผนเปิดตัวรถอีวีที่สอดคล้องกับกฎระเบียบที่เตรียมออกมาใหม่ หนุนให้ต้นทุนด้านการวิจัยและการพัฒนาของบริษัทเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ ลงทุนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่อีวีหลายร้อยล้านยูโร และเปิดทำการแล้วเมื่อเดือน ก.ค. ขณะที่บีเอ็มดับเบิลยูใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น 25% ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีแรก ก่อนเตรียมเปิดตัวอีวีรุ่นใหม่ในปี 2568