ธุรกิจต่างชาติในจีน ‘ยอดขายดิ่งหนัก’ ตั้งแต่ครึ่งปี เจอ ‘ตลาดซบ-ท้องถิ่นแข่งเดือด'

ธุรกิจต่างชาติในจีน ‘ยอดขายดิ่งหนัก’ ตั้งแต่ครึ่งปี เจอ ‘ตลาดซบ-ท้องถิ่นแข่งเดือด'

ธุรกิจต่างชาติในจีน ทั้งเชนร้านอาหาร เชนร้านเครื่องดื่ม ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงธุรกิจโรงแรม ต่างมีรายได้หดหายตั้งแต่ครึ่งปีแรก เพราะเผชิญกับความต้องการในจีนซบเซา และต้องแข่งขันกับธุรกิจท้องถิ่นอย่างดุเดือด

หลายสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนที่มีประชากรมากกว่าประชากรในสหรัฐ 4 เท่า สามารถดึงดูดธุรกิจนานาชาติร่วมลงทุนในประเทศได้จำนวนมาก หนุนให้ตลาดในจีนขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่การเติบโตที่ชะลอตัวลงและการแข่งขันในท้องถิ่นที่ดุเดือดมากขึ้น ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน ได้ฉุดผลประกอบการธุรกิจหลายรายลดลงไปตาม ๆ กัน

ธุรกิจต่างชาติรายได้หดหายกันเป็นแถว

"แมคโดนัลด์" เผยว่า ยอดขายในตลาดที่ได้รับใบอนุญาตบริหารธุรกิจระหว่างประเทศลดลง 1.3% จากปีก่อน รวมถึงตลาดจีน แต่แต่ไม่ได้ระบุว่าตลาดจีนลดลงเท่าใด

คริสโตเฟอร์ เคมป์ชินสกี ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) แม็คโดนัลด์ กล่าวเมื่อสิ้นสุดไตรมาส 30 มิ.ย. ว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในจีนเริ่มลดลง พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปมาก และผู้บริโภคมักมองหาทางเลือกอื่นที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้คโดนัลด์ยังคงยืนยันว่า บริษัทยังคงมีเป้าหมายเพิ่มสาขาในจีนกว่า 1,000 สาขาภายในปีนี้

ด้าน “แอปเปิ้ล” มียอดจำหน่ายในเกรตเตอร์ไชนา (Greater china) ซึ่งรวมมาเก๊า และฮ่องกง ลดลง 6.5% ในไตรมาสสิ้นสุด 29 มิ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ “จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน" บอกว่า จีนเป็นตลาดที่อ่อนไหวมาก และภาคธุรกิจสำคัญของบริษัทก็มีผลประกอบการต่ำกว่าคาด

“โกฟี บรูซ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ของเจเนอรัลมิลส์ (General Mills) บริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารแปรรูป เผยว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจีนในไตรมาสสิ้นสุด 26 พ.ค. ตกต่ำอย่างแท้จริง กระทบยอดการเข้าใช้บริการของร้าน Haagen-Dazs และธุรกิจเกี๊ยวพรีเมียม Wanchai Ferry ของบริษัท ขณะเดียวกันยอดขายสุทธิในจีนก็ลดลงสองหลักในไตรมาสที่ผ่านมา

ส่วน “อังเดร ชูลเทน” ซีเอฟโอจาก Procter and Gamble ธุรกิจอุปโภคบริโภคอเมริกัน กล่าวในการประกาศผลประกอบการเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า บริษัทไม่ได้คาดหวังว่ารายได้ในจีน จะกลับมาเติบโตสองหลักเหมือนช่วงก่อนแพร่ระบาดโควิด แต่คาดว่า เมื่อเวลาผ่านไปตลาดจีนจะเติบโตในระดับปานปลาง เหมือนกับตลาดในประเทศกำลังพัฒนา

ทั้งนี้ยอดขายของ Procter and Gamble ในไตรมาสสิ้นสุดเดือน มิ.ย. ลดลง 9% และแม้ว่าอัตราการเกิดในจีนตกต่ำ แต่ธุรกิจยังคงคาดว่า ผลิตภัณฑ์ดูแลเด็กจะเติบโต 6%

ขณะที่ “แมริออท อินเตอร์เนชันแนล” เครือโรงแรมหรู หั่นคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตรายได้ต่อห้องพักในปีนี้ จากระดับ 4% เหลือ 3% เนื่องจากบริษัทคาดว่า ความต้องการในเกรตเตอร์ไชนายังคงซบเซา

โดยรายได้ต่อห้องพักที่ว่างในไตรมาสสิ้นสุด 30 มิ.ย. ลดลงประมาณ 4% ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากชาวจีนเลือกเที่ยวต่างประเทศ รองลงมาเป็นการท่องเที่ยวในประเทศที่ฟื้นตัวน้อยกว่าคาด ขณะที่ผลประกอบการในสหรัฐและแคนาดาก็ลดลง

อย่างไรก็ตาม บริษัทเผยว่า ธุรกิจได้ทำสัญญาโครงการต่าง ๆ ในจีนมากเป็นประวัติการณ์ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ด้านโดมิโนพิซซ่า คาดว่าครึ่งปีแรก รายได้ในจีนจะเติบโตอย่างน้อย 45% สู่ระดับ 2,000 ล้านหยวน สวนทางกับผลประกอบธุรกิจอื่นๆ ข้างต้น

ดีมานด์ซบ คนประหยัด ท้องถิ่นแข่งดุ

โคคาโคล่า” มีรายได้จากการดำเนินงานสิ้นสุด 28 มิ.ย. ลดลง 4% จากปีก่อนสู่ระดับ 1,510 ล้านดอลลาร์ และย้ำว่า ความเชื่อมันผู้บริโภคในจีนลดลง ตรงข้ามกับการเติบโตในประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เกาหลีใต้และญี่ปุ่น

“เจมส์ ควินซีย์” ประธานกรรมการและซีอีโอโคคาโคล่า กล่าวในการประกาศผลประกอบการว่า เศรษฐกิจมหภาคทั่วไปซบเซา เพราะเศรษฐกิจโดยรวมเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งอสังหาริมทรัพย์ ราคาสินค้า และอื่น ๆ และเชื่อว่า ยอดขายที่ลดลงในจีนทั้งหมดเป็นผลมาจากผลิตภัณฑ์น้ำที่ไม่ทำกำไร แต่คาดว่ายอดขายน้ำดื่มสปาร์กลิงเติบโตเชิงบวกในจีน

ด้าน “ลักซ์แมน นาราซิมฮาน” ซีอีโอสตาร์บัคส์ กล่าวในการประกาศผลประกอบการว่า บริษัทยังคงเผชิญกับการใช้จ่ายที่ระมัดระวังมากขึ้นของผู้บริโภค และการแข่งขันที่ดุเดือดมากในปีก่อน

ในไตรมาสสิ้นสุด 30 มิ.ย. ยอดขายสาขาเดิม (same-store sales) ของสตาร์บัคส์ในจีนร่วง 14% ตกต่ำกว่าในสหรัฐอย่างมาก ซึ่งลดลงเพียง 2% 

ขณะที่คู่แข่ง เชนร้านกาแฟสัญชาติจีนยักษ์ใหญ่ “ลัคกิ้น คอฟฟี่” (Luckin Coffee) ที่จำหน่ายเครื่องดื่มราคาถูกกว่า สตาร์บัคส์ครึ่งหนึ่ง มียอดขายสาขาเดิมลดลง 20.9% ในไตรมาสสิ้นสุด 30 มิ.ย. แต่บริษัทอ้างว่า ยอดขายของสาขาที่บริษัทบริหารทั้งหมด เพิ่มขึ้นเกือบ 40% หรือมีมูลค่า 863.7 ล้านดอลลาร์ 

ทั้งนี้ ลัคกิ้นคอฟฟี่มีสาขามากกว่า 13,000 แห่งที่บริษัทบริหารด้วยตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน

ขณะที่สตาร์บัคส์มีสาขาในจีน 7,306 แห่ง และมีรายได้โดยรวมลดลง 11% สู่ระดับ 733.8 ในช่วงไตรมาสเดียวกัน เนื่องจากทั้งสองธุรกิจต่างเผชิญกับคู่แข่งจำนวนมากในจีน ตั้งแต่เชนร้านกาแฟถูก ๆ อย่าง Cotti Coffee ไปจนถึงร้านระดับไฮเอนด์อย่าง Peet’son ซึ่งร้านกาแฟไฮเอนด์นี้ เผยว่า มียอดขายเติบโตสองหลักอย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้อีกด้วย

แบรนด์กีฬายังโตแกร่ง

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าแบรนด์อุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่จะเผชิญกับความยากลำบากไปเสียทุกแบรนด์

ธุรกิจเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายอย่างแคนาดากูส (Canada Goose) มียอดขายในจีนเติบโต 12.3% สู่ระดับ 21.9 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสสิ้นสุด 30 มิ.ย.

ขณะที่แบรนด์สินค้ากีฬาหลายรายก็มียอดขายเติบโตในจีนเช่นกัน แม้ก่อนหน้านี้ได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับรายได้ที่อาจชะลอตัว โดยไนกี้ (Nike) มีรายได้เติบโต 7% ในเกรตเตอร์ไชนา เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 15% ของรายได้ทั้งหมดของไนกี้ในไตรมาสสิ้นสุดเดือน พ.ค.

ขณะที่อาดิดาส (Adidas) มีรายได้พุ่ง 9% ในจีนในไตรมาสล่าสุด ซึ่งรายได้จากจีนคิดเป็นสัดส่วน 14% ของรายได้สุทธิทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แม้อาดิดาสครองส่วนแบ่งตลาดอันดับต้นๆ ในจีน แต่แบรนด์ท้องถิ่นก็เข้ามาแข่งขันดุเดือดเช่นกัน เนื่องจากมีซัพพลายเชนในประเทศ ที่สามารถส่งของจากโรงงานไปยังร้านค้าภายในประเทศได้โดยตรง การส่งสินค้าจึงมีความรวดเร็วและราคาสินค้าคุ้มค่ามากกว่า

ด้าน Skechers มีรายได้เติบโตเติบโต 3.4% ในจีนในไตรมาสสิ้นสุด 30 มิ.ย. เมื่อเทียบกับปีก่อน และยังคงเชื่อมั่นว่าตลาดจีนจะฟื้นตัว โดยคาดว่าครึ่งปีหลังจะดีกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่บริษทยังคงต้องจับตาดูอย่างระมัดระวัง

 

อ้างอิง: CNBC