กระแสชาตินิยมรุนแรง กรณีศึกษาอังกฤษ สหรัฐ ฝรั่งเศส | กันต์ เอี่ยมอินทรา
การสุมไฟให้ความเห็นต่างของฝั่งสุดขั้วทั้งซ้ายจัดและขวาจัดของชนชั้นนำ เพื่อได้มาซึ่งคะแนนเสียงและอำนาจนั้น มีผลกระทบต่อสังคมมาก และผู้ที่เสียหายที่สุดคือ "ประชาชน"
เหตุการณ์ความรุนแรงอันเนื่องมาจากการใช้เหตุความรุนแรงแทงหมู่ ณ เมืองเซาท์พอร์ต ของอังกฤษที่ส่งผลให้มีเยาวชนเสียชีวิต 3 ศพ และบาดเจ็บอีกนับสิบรายนี้เกิดขึ้นในคลาสเต้นโยคะ ในเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งได้ถูกใช้เป็นต้นฟืนและโหมเข้าด้วยกระแสขวาจัด กีดกันผู้อพยพและพลเมืองผิวสีของฝ่ายขวา ประกอบกับการถือโอกาสก่อจราจลในหลายเมือง ทำให้ขณะนี้เหตุจราจลนี้ถือได้ว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 13 ปี
ซึ่งการกระพือข่าวเท็จที่ว่าผู้ที่ก่อความรุนแรงนี้คือผู้อพยพชาวมุสลิม ก็ไม่มีข้อเท็จจริงรองรับแต่อย่างใด ข่าวลือที่ถูกผลิต ทำซ้ำและส่งต่อด้วยโซเชียลมีเดียอย่างจงใจบิดเบือนนี้เองคือต้นไฟ ที่กระตุ้นให้เกิดจราจลของกลุ่มขวาจัด ผนวกกับประชาชนในพื้นที่ ก่อจราจลในเมืองใหญ่น้อยทั่วอังกฤษกว่า 38 เมือง ทำให้รัฐจำต้องระดมตำรวจชุดพิเศษเพื่อจัดการกับสถานการณ์ความรุนแรงนี้กว่า 6,000 คนทั่วประเทศ
การจราจลนี้แท้จริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร หากมองเป็นภาพรวมจากสายตาคนไทยหรือเอเชียเอง เพราะความรุนแรงจากการปะทะของขั้วความคิดขวาจัด และซ้ายจัด มีมาอย่างต่อเนื่อง และก็มักวนเวียนอยู่ในประเด็นเรื่องของการเปิดประเทศ รับผู้อพยพ
เช่นเดียวกับอังกฤษ ฝรั่งเศสก็มีการจราจลความรุนแรงเช่นเดียวกัน และล่าสุดก็อยู่ในช่วงโอลิมปิกพอดิบพอดี ซึ่งการจราจลก็เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งที่ในที่สุดฝ่ายซ้ายกลาง สามารถครองที่นั่งข้างมากในสภา เขี่ยความน่าจะเป็นที่ฝ่ายขวาน่าจะกุมชัยชนะได้ในการเลือกตั้งรอบแรก ประกอบกับความไม่พอใจในผลงานของรัฐบาล ซึ่งฝรั่งเศสก็มีประท้วงในทำนองนี้อยู่บ่อยครั้ง
ขณะที่ทางฝั่งอเมริกาเพิ่งมีเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดี ซึ่งก็สามารถพูดได้ว่าการใช้ความเห็นต่าง โดยเฉพาะในเรื่องของความคิดชาตินิยม การอพยพ การแย่งงานและสงครามการค้า ตลอดจนการป้ายสีฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นศัตรูของระบอบประชาธิปไตย นั้นไม่เพียงแต่จะทำให้สังคมเกิดความแตกแยกอย่างหนัก แต่ก็นำมาซึ่งความรุนแรงทั้งในระดับประเทศ และในระดับทั่วไป อาทิ ความรุนแรงต่อคนผิวสี และคนเอเชียในช่วงโควิด
การสุมไฟให้ความเห็นต่างของฝั่งสุดขั้วทั้งซ้ายจัดและขวาจัดของชนชั้นนำเพื่อได้มาซึ่งคะแนนเสียงและอำนาจนั้น มีผลข้างเคียงที่กระทบต่อสังคมโดยรวมอย่างยิ่ง และผู้ที่เสียหายที่สุดก็คือประชาชน ซึ่งก็เห็นได้ทั้งในสหรัฐ และอังกฤษเอง ที่เหยื่อผู้เสียชีวิตนั้นคือประชาชนผู้บริสุทธิ์
เหตุการณ์ที่อังกฤษนั้น มีผู้เล่นฝ่ายขวาจัดที่ชัดเจนคือ พรรค Reform UK ซึ่งแตกออกมาจากปีกขวาจัดในพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งปีกนี้ก็ส่งอิทธิพลทางความคิดกับคนอังกฤษเรื่อยมา ตั้งแต่การรณรงค์แคมเปญ Brexit ซึ่งในที่สุดแล้วก็สามารถเอาชนะ และส่งผลให้นายกฯกลางขวาอย่าง เดวิด คาเมรอน จำต้องสละเก้าอี้ในที่สุด
คนอังกฤษโดยเนื้อแท้แล้วเป็นคนที่มีความคิดค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม มีความภูมิใจในประวัติศาสตร์ ประเพณี ความเป็นมา ภาษา วัฒนธรรม และยังติดภาพของจักรวรรดิอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ในอดีตอยู่ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เองจึงเป็นดาบสองคมที่ให้ทั้งประโยชน์และโทษ เมื่อนักการเมืองหยิบฉวยมาใช้เพื่อหลอกล่อจูงจมูกผู้คน เช่นเดียวกันกับประเทศไทยที่รักของเรา