เม็ดเงินไหลเข้า’กองทุนทองคำ’ ทำนิวไฮในรอบ 2 ปี เก็งเฟด'ลดดอกเบี้ย'

เม็ดเงินไหลเข้า’กองทุนทองคำ’ ทำนิวไฮในรอบ 2 ปี เก็งเฟด'ลดดอกเบี้ย'

ทั่วโลกเทเงินลงทุนไหลเข้า 'กองทุนทองคำ’ จนทำนิวไฮสูงสุดในรอบ 2 ปี นักลงทุนคาดเฟด 'ลดดอกเบี้ย’ และการลงทุนระยะสั้น ดันสัญญาฟิวเจอร์สทองคำสูงสุดในรอบ 4 ปี ท่ามกลางความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์

สำนักข่าวนิกเกอิรายงานว่า เม็ดเงินลงทุนกำลังไหลเข้าสู่ตลาดทองคำ เนื่องจากการคาดการณ์เรื่องการ “ลดอัตราดอกเบี้ย”ของสหรัฐ รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงและการลงทุนระยะสั้นที่หนุนให้กระแสเงินสุทธิที่ไหลเข้าสู่กองทุน ETF ที่อ้างอิงทองคำในเดือนก.ค.แตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี

สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าในตลาดนิวยอร์กแตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 2,522.50 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์เป็นเวลาสั้นๆ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. และปิตลาดวานนี้(15ส.ค.)ที่ระดับ 2,457.10 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์

SPDR Gold Shares ซึ่งเป็นกองทุน ETF ทองคำรายใหญ่ของโลก รายงานยอดสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 9 ส.ค. อยู่ที่ 846.6 ตัน นับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้านี้เพิ่มขึ้นประมาณ 1.4 ตัน และเมื่อเทียบกับสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่ายอดสินทรัพย์เพิ่มขึ้นถึง 14.6 ตัน

ทั่วโลกแห่ลงทุน'กองทุนทองคำ'

สภาทองคำโลก (World Gold Council) รายงานว่า ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา มีกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่กองทุน ETF ทองคำสูงถึง 48.5 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เมื่อเกิดวิกฤตการณ์รัสเซียรุกรานยูเครน ทำให้เกิดความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้นอย่างมาก

สภาทองคำโลกระบุว่า แม้ว่าในช่วงต้นปี นักลงทุนในอเมริกาเหนือจะขายทองคำผ่านกองทุน ETF ออกไปจำนวนมากถึง 35 ตันในเดือนม.ค.และก.พ. แต่ในเดือนก.ค.มีกระแสเงินทุนไหลเข้าสุทธิสูงถึง 25.7 ตัน

ส่วนในยุโรป หลังจากมีกระแสเงินไหลออกสุทธิ 52.1 ตันในเดือนเม.ย. ก็ตามมาด้วยกระแสเงินไหลเข้าสุทธิติดต่อกัน 3 เดือนจนถึงเดือนก.ค.

ดังนั้น ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา มีกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่กองทุน ETF ทองคำในทุกภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งแตกต่างจากเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง ที่พบว่ามีเพียงนักลงทุนในเอเชียและยุโรปเท่านั้นที่ยังคงมีความเชื่อมั่นในทองคำ

3 ปัจจัยดันการลงทุน'ทองคำ’

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดทองคำในช่วงที่ผ่านมา คือ การคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการที่เฟดอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยทั่วไปแล้วราคาทองคำมีความสัมพันธ์แบบผกผันกับอัตราดอกเบี้ยระยะยาว เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง ต้นทุนในการถือครองทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีดอกเบี้ยสะสม ก็จะลดลงตามไปด้วย

หลังจากเหตุการณ์รัสเซียรุกรานยูเครนในปี 2565 ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก แม้ว่าในช่วงเวลานั้นอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม สาเหตุหลักมาจากนักลงทุนทั่วโลกต่างต้องการรักษามูลค่าสินทรัพย์ของตนท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์

โคอิจิโร่ คาเมอิ ประธานสถาบันกลยุทธ์การตลาดของญี่ปุ่น ได้แสดงความเห็นว่า "มีความคาดหวังอย่างแรงกล้าว่าราคาทองคำจะเพิ่มขึ้นในอนาคตเนื่องจากการเปลี่ยนไปสู่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงในสหรัฐ นำไปสู่การเข้าซื้อในช่วงขาลง โดยจำนวนผู้ซื้อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นในจีนและอินเดีย"

ความไม่แน่นอนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนหันมาสนใจทองคำมากขึ้น โดยอิตสึโอะ โทชิมะ นักวิเคราะห์ตลาด ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ โดยกล่าวว่า "เมื่อทองคำเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ไม่กี่ชนิดที่คาดว่าจะมีราคาสูงขึ้น เงินลงทุนที่ไม่มีที่ไปก็จะไหลเข้ามาในทองคำ”

นอกจากนี้ ข้อมูลจากคณะกรรมการการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าของสหรัฐ(CFTC) ระบุว่า มีการซื้อสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าสุทธิจำนวนมากถึง 285,000 สัญญา ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี 4 เดือน สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการทองคำในระยะสั้นที่เพิ่มสูงขึ้น

ตามรายงานของสภาทองคำโลกเผยว่า ธนาคารกลางรายใหญ่ทั่วโลกได้ซื้อทองคำสะสมในปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 483.3 ตัน ในช่วงครึ่งแรกของปี  2567 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนและอินเดียที่มีความต้องการทองคำทางกายภาพ เช่น ทองคำแท่ง ทองคำรูปพรรณ หรือเหรียญทองคำมากกว่าประเทสอื่นๆ