กฎหมายระหว่างประเทศฉบับใหม่ เครื่องมือยุติ ‘มลพิษจากพลาสติก’ | World Wide View

กฎหมายระหว่างประเทศฉบับใหม่ เครื่องมือยุติ ‘มลพิษจากพลาสติก’ | World Wide View

ขยะพลาสติก ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์ และโลกอาจมีขยะพลาสติกเกิน 1 พันล้านตันต่อปี ภายในปี 2603 นานาประเทศจึงร่วมกันจัดทำกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อร่วมกันยุติมลพิษจากพลาสติก

ปัจจุบัน มีขยะพลาสติกเกือบ 100 ล้านตันที่ได้รับการจัดการอย่างไม่ถูกต้องหรือถูกปล่อยให้รั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม ทำให้ปัญหามลพิษจากพลาสติกขยายตัวรุนแรง ส่งผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์ นอกจากนี้ วงจรชีวิตพลาสติกยังก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เร่งภาวะโลกร้อนอีกด้วย ซึ่งองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดว่าปริมาณขยะพลาสติกจะเกิน 1 พันล้านตันต่อปีภายในปี 2603 นานาประเทศจึงได้พยายามแก้ไขปัญหานี้ โดยเริ่มจากที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2565 มีข้อมติเห็นชอบให้จัดทำกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อยุติมลพิษจากพลาสติก

ต่อมาไทยและประเทศต่าง ๆ รวม 193 ประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negotiating Committee: INC) เพื่อร่างกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าว การประชุม INC ได้รับการจับตามองอย่างมาก เนื่องจากมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมอย่างกว้างขวาง และตั้งแต่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของพลาสติก ประเทศผู้ใช้พลาสติก ประเทศที่เน้นเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์ และประเทศที่ได้รับผลกระทบด้านระบบนิเวศ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นทั้งผู้ผลิตหรือผู้ใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกรายหลัก โดยเฉพาะประเทศหมู่เกาะ ในส่วนของประเทศไทย มีคณะผู้แทนไทยโดยกรมควบคุมมลพิษ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการเจรจา

การประชุม INC จัดมาแล้ว 4 ครั้ง โดย การประชุม INC-4 จัดเมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่แคนาดา มีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 2,500 คน ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคเอกชน และกำหนดให้กระบวนการแล้วเสร็จในการประชุม INC-5 ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่เมืองปูซาน ทั้งนี้ ก่อนการประชุม INC-4 กลุ่ม Break Free From Plastic ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรภาคประชาสังคมทั่วโลก ได้เรียกร้องหน้ารัฐสภาแคนาดาให้จัดทำกฎหมายระหว่างประเทศให้สำเร็จตามกำหนดในปีนี้ และเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วหยุดการส่งออกขยะไปยังประเทศกำลังพัฒนา 

หากจะถามว่า ร่างกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อยุติมลพิษจากพลาสติกฉบับใหม่มีความสำคัญอย่างไร และทำไมไทยต้องเข้าร่วมการเจรจาด้วยนั้น ไทยมีขยะมากถึงวันละประมาณ 70,000 ตัน ติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีขยะพลาสติกรั่วไหลลงทะเลมากที่สุด ไทยจึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก และได้เข้าร่วมในการเจรจาร่างกฎหมายระหว่างประเทศฉบับนี้ โดยมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนของไทย เข้ามามีส่วนร่วมในการเตรียมท่าทีไทยและการเจรจา ทั้งภาครัฐ ภาควิจัย ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมให้ข้อมูลและกำหนดทิศทางการจัดทำร่างกฎหมายระหว่างประเทศฉบับนี้ให้มีความเป็นธรรมและตอบโจทย์การจัดการมลพิษจากพลาสติกทั้งวงจรชีวิตพลาสติก ตั้งแต่กระบวนการผลิตถึงการจัดการขยะ 

ไทยยึดหลักการเจรจาที่คำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละประเทศ การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างเสริมขีดความสามารถ ตลอดจนหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR)

ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมให้ความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฯ ได้ที่เว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ (https://www.thaipost.net/abroad-news/154844/) เพื่อร่วมผลักดันการจัดทำร่างกฎหมายระหว่างประเทศที่มีความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของประเทศ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งสุขภาพมนุษย์ต่อไป