‘IIA’ ตัวช่วยบริหารความเสี่ยง ในโลกแห่งความท้าทาย | World Wide View

‘IIA’ ตัวช่วยบริหารความเสี่ยง ในโลกแห่งความท้าทาย | World Wide View

ความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างประเทศ ตัวช่วยบริหารความเสี่ยง ในโลกแห่งความท้าทาย ซึ่งปัจจุบันไทยมีความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างประเทศที่มีผลใช้บังคับอยู่รวม 47 ฉบับ ครอบคลุมประเทศและเขตเศรษฐกิจทุกภูมิภาคของโลก

ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ยิ่งเป็นการลงทุนระหว่างประเทศ ปัจจัยเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะมาจากอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงทางการเมืองและนโยบายของประเทศที่เราเข้าไปลงทุน หรือแม้แต่ความเสี่ยง จากประเด็นท้าทายใหม่ ๆ เช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิกฤติสาธารณสุข เป็นต้น นักลงทุนจึงจำเป็นต้องมีตัวช่วยในการบริหารความเสี่ยง เช่น การจ้างที่ปรึกษามาช่วย เจรจาสัญญาให้รัดกุม หรือการซื้อประกันภัยความเสี่ยงการลงทุน 

ในวันนี้ จะขอเชิญผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ อีกหนึ่งตัวช่วยสำหรับนักลงทุน ซึ่งก็คือ ความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment Agreement: IIA)

 

ความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างประเทศ คือความตกลงหรือสนธิสัญญาที่จัดทำขึ้นระหว่างรัฐบาล เพื่อกำหนดหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองแก่นักลงทุนและการลงทุนของกันและกัน โดยเฉพาะ ความคุ้มครองจากความเสี่ยงทางการเมืองและความเสี่ยงจากมาตรการของรัฐบาลในประเทศที่เข้าไปลงทุน ซึ่งรวมถึงความคุ้มครองที่การประกันภัยความเสี่ยงทางการเมืองของเอกชนทั่วไปอาจไม่ครอบคลุม 

ความตกลงแต่ละฉบับอาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปแล้วจะให้ความคุ้มครองหลัก ๆ ในเรื่อง การไม่เลือกประติบัติ (ต้องให้การประติบัติที่ไม่ด้อยกว่าที่ให้แก่การลงทุนของคนชาติของประเทศนั้น ๆ หรือ คนชาติของประเทศที่สาม) การประติบัติที่เป็นธรรมและเที่ยงธรรม (ต้องไม่ดำเนินมาตรการที่ไม่ชอบธรรม ตามอำเภอใจ ต้องไม่ผิดคำมั่นสัญญา ต้องมีกระบวนการอันชอบธรรมและโปร่งใส) การให้ความคุ้มครองและความมั่นคงอย่างเต็มที่ การรับประกันการโอนเงินและผลตอบแทนจากการลงทุนโดยเสรี การคุ้มครอง จากการเวนคืนและการชดเชยค่าเสียหายจากการเวนคืน และการชดเชยค่าเสียหายจากเหตุการณ์รุนแรง รวมถึงการจลาจลและการก่อการร้าย ซึ่งนับวันจะยิ่งกลายเป็นภัยใกล้ตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มทางเลือกในการเยียวยาเพิ่มเติมในกรณีที่เกิดข้อพิพาท โดยหากนักลงทุนไม่มั่นใจในระบบศาลภายใน ก็อาจใช้กลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐที่อยู่ภายใต้ความตกลงนี้ก็ได้

ความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างประเทศจึงเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลทั่วโลก รวมถึงรัฐบาลไทย ในการให้ความคุ้มครองแก่นักลงทุนและการลงทุนของไทยในต่างประเทศ (ทั่วโลกมีความตกลงลักษณะนี้มากกว่า 3,000 ฉบับ!) ช่วยสร้างหลักประกันให้แก่นักลงทุนในการออกไปแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในตลาดใหม่ ๆ หรือประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจแต่อาจมีความเสี่ยงทางการเมืองสูง ขณะเดียวกัน ก็เป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ช่วยให้ความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย ช่วยส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนที่มีคุณภาพ เข้ามายังไทย ทั้งนี้ การลงทุนที่ได้รับความคุ้มครองจะต้องเป็นการลงทุนทางตรงที่มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และไม่ครอบคลุมการลงทุนประเภทเก็งกำไร

ปัจจุบัน ไทยมีความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างประเทศที่มีผลใช้บังคับอยู่รวม 47 ฉบับ ครอบคลุมประเทศและเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ในทุกภูมิภาคของโลก ล่าสุดคือความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครอง การลงทุนระหว่างไทยกับไต้หวันฉบับใหม่ ซึ่งเพิ่งลงนามไปสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา หากนักลงทุนหรือผู้สนใจท่านใดต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างประเทศ เชิญเรียกดูได้ที่ globthailand.com

ความตกลงนี้มีอะไรมากกว่าที่คุณคิด!