OECD มีมติเจรจากับไทย – เปิดประตูสู่การเป็นสมาชิกเต็มตัว | World Wide View
คณะมนตรีขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มีมติที่จะเปิดรับไทยเข้าสู่การเจรจาเป็นสมาชิก การที่ไทยมี OECD คอยสนับสนุนการปฏิรูปและปรับปรุงมาตรฐานของไทย ก็จะช่วยให้การยกเครื่องให้ไทยดำเนินนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
นึ่งในข่าวที่น่ายินดียิ่งในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา คือที่ประชุมคณะมนตรีขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ได้มีมติเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่จะเปิดรับไทยเข้าสู่กระบวนการเจรจาเข้าเป็นสมาชิก OECD อย่างเป็นทางการ หากการยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกก่อนหน้านี้เปรียบได้กับการเคาะประตู มติในครั้งนี้ ก็เทียบได้ว่าประตูบานแรกสู่การเป็นสมาชิก OECD อย่างเต็มตัว ได้เปิดออกแล้วสำหรับประเทศไทย
คำว่าประตู “บานแรก” ในที่นี้ เป็นนัยให้เราเห็นภาพว่าจะมีประตูบานต่อไป เพราะหลังจากนี้ ไทยและ OECD จะต้องร่วมกันจัดทำ Accession Roadmap หรือแผนการเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งจะระบุรายละเอียดของขั้นตอนและเงื่อนไขต่าง ๆ ในการเข้าเป็นสมาชิก รวมถึงสิ่งที่ไทยจะต้องดำเนินการเพื่อปรับปรุงมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD หลังจากนั้น เมื่อ OECD ประเมินว่าไทยได้ดำเนินการตาม Roadmap เสร็จสิ้นแล้ว จึงจะพิจารณามีมติรับไทยเข้าเป็นสมาชิกเต็มตัว เป็นอันครบถ้วนกระบวนความ ถามว่าขั้นตอนทั้งหมดนี้จนถึงวันที่จะได้เข้าเป็นสมาชิก จะใช้เวลาอีกเท่าไร ก็คงจะตอบได้ยาก เพราะระดับความพร้อมของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน บางประเทศอาจใช้เวลา ไม่กี่ปี ขณะที่บางประเทศอาจใช้เวลา 6-7 ปี หรือบางประเทศก็อาจค่อยเป็นค่อยไป มีการหยุดหรือชะลอไประหว่างทางบ้าง ก่อนกลับมาเริ่มใหม่ก็มี
แล้วไทยล่ะ? เชื่อได้ว่าความมุ่งมั่นของเรามีเกินร้อยแน่ ๆ แต่เราจะเดินตามเส้นทางนี้ต่อไปได้อย่างราบรื่น เรียบร้อยและรวดเร็วแค่ไหน คงต้องขึ้นกับความเอาจริงและร่วมแรงรวมใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โจทย์ใหญ่คงหนีไม่พ้นการปฏิรูปโครงสร้างภายในประเทศ ถ้าเรามองย้อนไปในอดีต มีหลายครั้งหลายคราที่ปัจจัยภายนอก เช่น การเข้าร่วมกรอบความร่วมมือหรือการเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศ มีส่วนช่วยกระตุ้นและเร่งรัดให้เกิดการปฏิรูปหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภายในประเทศได้
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตอนไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกหรือ WTO ในปี 2535 ไทยก็ต้องปรับปรุงแก้ไขและตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการค้าหลายฉบับ รวมถึงด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งนี้เกิดขึ้นมาแล้วกับหลายประเทศ เช่น จีนได้ปฏิรูปเศรษฐกิจขนานใหญ่ ก่อนจะเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกเมื่อปี 2544 ได้ ซึ่งการปรับโฉมเศรษฐกิจจีนในหลาย ๆ ด้านในตอนนั้น ได้กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้จีนเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก และกลายเป็น ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจจนทุกวันนี้ นอกจากนี้ การปฏิรูประบบเศรษฐกิจในช่วงที่เกาหลีใต้เข้าเป็นสมาชิก OECD ในปี 2539 ก็มีส่วนทำให้เกาหลีใต้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมแนวหน้าของโลก
ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมและการแข่งขันระหว่างประเทศที่ร้อนแรงขึ้นทุกขณะ นโยบายของรัฐบาลจึงมุ่งเน้นการรักษาและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งในระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงนโยบายเชิงรุกในการเจรจา FTA โดยเฉพาะกับเกาหลีใต้และสหภาพยุโรปที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยในตลาดโลกได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ขณะเดียวกันก็จะเป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูงกว่าทุกฉบับที่ไทยเคยทำมา
ดังนั้น การที่ไทยเริ่มกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ในช่วงเวลานี้ จึงถือว่าเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมและสอดรับกันอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงเพราะมาตรฐานในทั้งสองกรอบเป็นไปในทิศทางเดียวกัน (สมาชิกสหภาพยุโรปเกือบทั้งหมดก็เป็นสมาชิก OECD) แต่การที่ไทยมี OECD ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ องค์ความรู้ และประสบการณ์ในการกำหนดนโยบายของโลก อยู่เคียงข้างคอยสนับสนุนการปฏิรูปและปรับปรุงมาตรฐานของไทย ก็จะช่วยให้การยกเครื่องขนานใหญ่ของไทยในครั้งนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
วันนี้ ประตูบานแรกเปิดแล้ว จากนี้ เราต้องก้าวเดินไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้ถึงจุดหมายในที่สุด