ดีลซื้อ ‘เซเว่นญี่ปุ่น’ บทพิสูจน์ความอ่อนไหวค้าปลีกยักษ์ หลังเจอกดดันปรับโครงสร้างธุรกิจ

ดีลซื้อ ‘เซเว่นญี่ปุ่น’ บทพิสูจน์ความอ่อนไหวค้าปลีกยักษ์ หลังเจอกดดันปรับโครงสร้างธุรกิจ

นิกเกอิเอเชียเผย ดีลซื้อ “เซเว่นญี่ปุ่น” ของธุรกิจค้าปลีกแคนาดา ตอกย้ำความอ่อนไหวของบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น ที่กำลังเผชิญแรงกดดันให้ปรับโครงสร้างธุรกิจ และรายได้หดทั้งในและต่างประเทศ

นิกเกอิเอเชีย รายงานวันนี้ว่า ข้อเสนอซื้อกิจการ “เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์” (Seven & i Holdings) ของ “อาลีเมนเทชัน คูช-ทาร์ด” เจ้าของเชนร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่สัญชาติแคนาดา ได้ตอกย้ำถึง “ความอ่อนไหวของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกญี่ปุ่นต่อการเสนอซื้อหุ้น” เนื่องจากความพยายามปรับโครงสร้างธุรกิจประสบความล้มเหลวในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดหุ้น

หลังจากมีการประกาศเข้าชื้อกิจการเมื่อวานนี้ (19 ส.ค.) หุ้นของเซเว่น แอนด์ ไอ ก็ปิดที่ระดับ 2,161 เยนเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 23% และมูลค่าบริษัทก็เพิ่มสู่ระดับราว 5.6 ล้านล้านเยน ซึ่งเพิ่มสูงจากระดับในวันศุกร์ (17 ส.ค.) เกือบ 1 ล้านล้านเยน แต่ยังคงต่ำกว่าอาลีเมนเทชัน คูช-ทาร์ด ที่มีมูลค่าตลาดราว 80,000 ล้านดอลลาร์แคนาดา

บริษัทสัญชาติแคนาดาแห่งนี้ มียอดขายในปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนเม.ย. ที่ 6.92 หมื่นล้านดอลลาร์ น้อยกว่าเซเว่น แอนด์ ไอ ที่มียอดขายประมาณ 7.52 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปีงบประมาณสิ้นสุดเดือน ก.พ. และเซเว่น แอนด์ ไอ มีสาขาร้านสะดวกซื้อมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น

ตามข้อมูลของ QUICK FactSet ระบุ เหตุผลเดียวที่ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นคือ ประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจ โดยผลตอบแทนจากการลงทุนของเซเว่น แอนด์ไอ อยู่ที่ระดับ 3% ขณะที่อาลีเมนเทชัน คูช-ทาร์ด อยู่ที่ 11% 

นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่ใช่ของญี่ปุ่น เผยว่า “เมื่อเทียบกับ 7-eleven อาลีเมนเทชัน มีร้านสะดวกซื้อกับปั๊มน้ำมันที่ทำกำไรได้สูงกว่าในย่านชานเมือง ซึ่งสะท้อนถึงความแตกต่างด้านอำนาจในการสร้างรายได้”

 

ถูกกดดันปรับโครงสร้าง

เซเว่น แอนด์ ไอ ทำธุรกิจหลายประเภท ทั้งร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ต แต่การบริหารจัดการแบบกลุ่มบริษัท ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีประสิทธิภาพ และบรรดาผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว (activist shareholder) มักกดดันบริษัทให้ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้าง

ในปี 2558 Third Point เฮดจ์ฟันด์สหรัฐ ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัท แต่มีสัดส่วนไม่ถึง 5% และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปองค์กร รวมถึงปรับโครงสร้างธุรกิจห้างสรรพสินค้าในเครืออย่าง Sogo & Seibu

ขณะที่ ValueAct Capital เฮดจ์ฟันด์จากสหรัฐอีกรายหนึ่ง ได้ยื่นข้อเสนอแก่ผู้ถือหุ้นเมื่อปี 2566 เรียกร้องให้แยกซูเปอร์สโตร์อย่าง Ito-Yokado และธุรกิจอื่น ๆ ออกไป และขอให้ริวอิจิ อิซากะ ประธานกรรมการเซเว่น แอนด์ ไอ ลงจากตำแหน่ง

บริษัทพยายามทำตามข้อเรียกร้องเหล่านั้น โดยขาย Sogo & Seibu ให้กับกองทุนสหรัฐเมื่อเดือน ก.ย. 2566 ขณะที่ Ito-Yokado ที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมของบริษัท ประกาศยกเลิกทำธุรกิจเสื้อผ้า และมีแผนปิดสาขา 33 แห่งภายในเดือน ก.พ. 2569

แม้เซเว่น แอนด์ ไอ มีความพยายามตอบสนองคำเรียกร้อง แต่การประเมินราคาของตลาดก็ยังไม่ดีขึ้น

เมื่อวันศุกร์ (17 ส.ค.) ราคาหุ้นของเซเว่น แอนด์ ไอ ร่วง 6% จากสิ้นปี 2566 ต่างจากดัชนีนิกเกอิที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14% ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่ราคาหุ้นของฟาสต์ รีเทลลิง (Fast Retailing) บริษัทแม่ยูนิโคล่และอิออน (Aeon) เพิ่มขึ้น 25% และ 10% ตามลำดับ

 

ธุรกิจร้านสะดวกซื้อรายได้หด

อิซากะ ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้บริษัทเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกระดับโลกในด้านอาหาร แต่ธุรกิจร้านสะดวกซื้อหลักในญี่ปุ่นและสหรัฐยังคงเผชิญกับภาวะชะลอตัวลง

เซเว่น อีเลฟเว่นของญี่ปุ่น เป็นผู้นำอุตสาหกรรมร้านสะดวกซื้อในประเทศ มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นบริการและนวัตกรรมมากมาย เช่น ข้าวโอนิกิริ เปิดร้าน 24 ชั่วโมง มีบริการชำระค่าสาธารณูปโภค มีตู้กดเงินอัตโนมัติ และยอดขายรายวันเฉลี่ยต่อสาขาสูงกว่าคู่แข่งอย่างร้านลอว์สัน (Lawson) และแฟมิลีมาร์ท (FamilyMart) มาก

อย่างไรก็ตาม รายได้จากการดำเนินของธุรกิจร้านสะดวกซื้อภายในประเทศในช่วงเดือนมี.ค. - พ.ค. ลดลง 4% จากปีก่อน ขณะที่ยอดขายสาขาเดิม (Same-store) ในเดือน ก.ค. ลดลง 0.6% เมื่อเทียบรายปี และลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 แล้ว

ส่วนธุรกิจร้านสะดวกซื้อในต่างประเทศ ที่มีสัดส่วนเป็น 70% ของรายได้จากการดำเนินงานโดยรวม มีรายได้จากการดำเนินงานลดลง 80% ในช่วงเดือน มี.ค. - พ.ค. เมื่อเทียบกับปีก่อน อีกทั้งกำลังซื้อของครัวเรือนรายได้ต่ำในสหรัฐก็ลดลง เพราะเงินเฟ้อย่ำแย่ กระทบต่อร้านค้าในตัวเมือง และส่งผลให้ยอดขายสาขาเดิมลดลงติดต่อกัน 11 เดือนแล้ว

อดีตพนักงานเซเว่น แอนด์ ไอ กล่าวกับนิกเกอิ ว่า “ปีนี้ครบรอบ 50 ปีที่ 7-eleven เปิดในญี่ปุ่น แต่บริษัทยังคงพึ่งพาโมเดลความสำเร็จในอดีต” และพนักงานคนนี้ชี้ว่า บริษัทไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อย่างเต็มที่

 

อ้างอิง: Nikkei Asia