'ดิสนีย์' ยอมถอย! เปิดทางเคสแพทย์หญิงไทยเสียชีวิตฟ้องศาลได้
'วอลท์ ดิสนีย์' ยอมถอย เปิดทางให้สามีของแพทย์หญิงชาวไทยที่เสียชีวิตในสวนสนุกฟ้องศาลได้ หลังใช้ข้ออ้างเงื่อนไขในสัญญาสตรีมมิ่ง Disney+ กันการถูกฟ้องก่อนหน้านี้
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่าบริษัทวอลท์ ดิสนีย์ (Walt Disney) ตกลงยอมเปิดทางให้สามีของ พญ.กนกพร แต่งสวน สามารถยื่นฟ้องในชั้นศาลได้แล้ว กรณีที่แพทย์หญิงชาวไทยรายนี้เสียชีวิตจากการแพ้อาหารที่สวนสนุกดิสนีย์ในฟลอริดาเมื่อปีที่แล้ว แต่แต่ดิสนีย์ปฏิเสธการฟ้องศาลโดยยกเงื่อนไขในข้อตกลงบริการสตรีมมิ่ง Disney+ มาใช้กับเคสนี้
ทั้งนี้ พญ.กนกพร จากศูนย์การแพทย์แลนกอน มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้รับประทานอาหารที่ร้าน Raglan ในดิสนีย์ สปริงส์เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว โดยมีการแจ้งย้ำกับพนักงานหลายครั้งว่ามีอาการแพ้อาหารอย่างรุนแรงในถั่วและนม จึงขอให้มีการทำอาหารที่ปราศจากวัตถุดิบที่แพ้ ซึ่งพนักงานเสิร์ฟตกลงรับทราบ
แต่หลังจากนั้นพญ.กนกพรมีอาการแพ้อย่างรุนแรงและเสียชีวิตภายในวันเดียวกัน ซึ่งผลชันสูตรศพที่ระบุในเอกสารฟ้องร้องของเจฟฟรีย์ เจ พิกโคโล ผู้เป็นสามีพบว่า ผู้เสียชีวิตมีอาการแพ้อาหารอย่างรุนแรง และพบระดับของนมและถั่วในร่างกายในปริมาณมาก
สามีของพญ.กนกพรยื่นฟ้องทางร้านและดิสนีย์เรียกร้องค่าเสียหายกว่า 50,000 ดอลลาร์ แต่ทางดิสนีย์ใช้ข้ออ้างที่ผู้เป็นสามีเคยสมัครสมาชิกบริการสตรีมมิ่ง Disney+ เมื่อปี 2562 ที่มีเงื่อนไขห้ามฟ้องร้องบริษัทเอาไว้ จึงอ้างว่าไม่สามารถฟ้องร้องในกรณีนี้ได้และขอไปใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยยอมความนอกศาลแทน
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ส.ค. จอร์จ ดามาโร ประธานแผนก Disney Experiences ได้เปิดเผยกับรอยเตอร์สผ่านทางอีเมลว่า "เราเชื่อว่าสถานการณ์นี้ควรได้รับการดำเนินการอย่างละเอียดอ่อน เพื่อเร่งแก้ปัญหาให้กับครอบครัวผู้ที่สูญเสียอย่างเจ็บปวด"
"ด้วยเหตุนี้ เราจึงตัดสินใจสละสิทธิในการใช้กลไกอนุญาโตตุลาการและให้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวในศาล" ดามาโรกล่าวเสริม
ทั้งนี้หลังจากถูกยื่นฟ้อง ในช่วงแรกเดือน เม.ย. ทางดิสนีย์ยังปฏิเสธโดยอ้างว่าบริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีนี้ เนื่องจากดิสนีย์เป็นเพียงเจ้าของที่ และไม่มีส่วนในการควบคุมการดำเนินงานหรือบริหารงานของร้าน Raglan
ทว่าต่อมาในเดือน พ.ค. ดิสนีย์ได้อ้างข้อต่อสู้ใหม่เรื่องเงื่อนไขในสัญญาให้บริการสตรีมมิ่ง Disney+ รวมถึงเงื่อนไขที่ผู้เป็นสามีได้ใช้เว็บไซต์ของดิสนีย์ในการซื้อตั๋วเข้าสวนสนุกในปี 2566
อย่างไรก็ตาม โจเซฟ เซลเลอร์ส ทนายฝ่ายโจทก์ ซึ่งเคยมีผลงานการฟ้องคดีเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ระบุว่า การที่ดิสนีย์ตัดสินใจไม่ใช้สิทธิอนุญาโตตุลาการไกล่เกลี่ยนอกศาลถือเป็นเรื่องผิดปกติ และบ่งชี้ว่าทนายฝ่ายของดิสนีย์เชื่อว่าข้อตกลงใน Disney+ ไม่สามารถใช้กับกรณีนี้ได้