สองคำถามกวนใจ นายกฯคนใหม่ | กันต์ เอี่ยมอินทรา
สองคำถามกวนใจ เมื่อประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่อายุน้อยที่สุดอย่างแพทองธาร คำถามแรกคือเรื่องวัยวุฒิ คำถามที่สองคือ ผิดด้วยหรือที่มีบิดาเป็นอดีตนายกฯ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้ว อาจไม่ใช่เรื่องแปลก กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์
นายกฯคนใหม่ของไทยอายุน้อยติดอันดับโลก ซึ่งหลายคนก็มองว่าอาจเป็นทั้งประโยชน์และโทษเสมือนดาบสองคม?
และอีกหนึ่งคำถาม คือการเป็นนายกฯที่มีอดีตนายกฯเป็นพ่อ ที่หลายคนเรียกว่า “สืบทอดอำนาจ” นั้นจะเป็นคุณหรือโทษมากกว่ากัน?
คำถามแรกเรื่องวัยวุฒินั้นหากมองเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ก็จะพบว่านายกฯไทยเรานั้นก็ไม่ได้เรียกว่าอ่อนวัยที่สุด แต่ถ้าจะให้พูดอย่างตรงไปตรงมาและเป็นธรรมที่สุด ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่น้อยประเทศนักที่เบอร์ 1 จะมีอายุน้อย ประเทศที่มีเบอร์ 1 อายุน้อยหลายประเทศ ขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่ ประชากรไม่มาก ไม่ได้มีความซับซ้อนเฉกเช่นบางประเทศ เช่นประเทศไทยของเรา
หรืออย่างฝรั่งเศสที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่มีนายกฯคนใหม่อย่างแกเบรียล อัททาล ก็อายุเพียง 34 ปีเท่านั้น สิ่งที่แกเบรียลมีคือหน้าตาที่ดี หล่อเหลา มีเสน่ห์ ถือเป็นนักการเมืองดาวรุ่ง ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนก็วิพากษ์ในทำนองว่า เป็นการตั้งนายกฯเพื่อดึงคะแนนเสียงคนรุ่นใหม่ และเอามาต่อกรกับผู้นำฝ่ายตรงข้ามพรรคขวาจัดที่ก็หล่อเหลา อายุน้อยไม่แพ้กัน
แต่สิ่งที่แกเบรียลมีคือประสบการณ์ เพราะก่อนจะมาเป็นนายกฯเคยเป็นรัฐมนตรีศึกษามาก่อน และที่สำคัญที่สุดคือ นายกฯฝรั่งเศสนั้นไม่ได้มีอำนาจมาก ไม่ได้เป็นผู้นำฝ่ายบริหารดังนั้นตำแหน่งนี้จึงเสมือนเป็นการฟูมฟักก่อนจะเข้าสู่การเป็นประธานาธิบดี ดังนั้นจึงไม่ปรากฎว่า ประเทศใดในโลกที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ซับซ้อน ประชากรมาก จะมีผู้นำเบอร์ 1 ที่อายุน้อยเท่าแพทองธาร
คำถามสอง แล้วมันผิดหรือ ที่มีบิดาเป็นอดีตนายกฯ ซึ่งก็ทำให้เกิดข้อครหาเรื่องการสืบทอดอำนาจ หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลกแล้ว การที่มีคนในครอบครัวเล่นการเมืองจนประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ ครึ่งใบ หรืออำนาจนิยมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เลย ในบางประเทศที่มีระบบชนชั้นแต่เดิม อาทิ ญี่ปุ่น ก็มักมีกรณีคู่พ่อลูกนายกฯ หรือปู่-หลานที่เป็นนายกฯ คือชนชั้นนำ ชื่อสกุล ยังไงก็ยังสำคัญและเป็นฐานความนิยมชั้นดี แต่ญี่ปุ่นนั้นมีประชาธิปไตยที่เต็มใบ จะชนะเลือกตั้งด้วยเหตุผลใด แต่นายกฯก็ชนะเลือกตั้ง มาจากประชาชน
สหรัฐ และแคนาดา ก็มีตระกูลผู้นำ อาทิ ตระกูลเคเนดี ตระกูลบุช หรือตระกูลทรูเดอร์ของแคนาดา หรือทางฝั่งอังกฤษ ถึงแม้จะไม่เคยมีคู่พ่อลูกนายกฯในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ แต่นายกฯส่วนใหญ่ของอังกฤษก็มาจากตระกูลที่ดี มีฐานะ มาจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ดี
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างสิงคโปร์ กัมพูชา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ใกล้เคียงกับไทยมากที่สุด อย่างสิงคโปร์ที่ลีกวนยู ส่งไม้ต่อให้ลีเซียนลุงแต่การส่งไม่ต่อนี้ ทำก็ต่อเมื่อสังคมเห็นตรงกันแล้วว่าลีเซียนลุงนั้นมีพรรษาและประสบการณ์ที่มากพอ เพราะใช้เวลาเรียนรู้งานหลายปีในฐานะรัฐมนตรีก่อนจะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ทั้งเรื่องภูมิหลังทางการศึกษา สติปัญญาก็เรียกได้ว่าไม่ทำให้คนสิงคโปร์ขายหน้า
อย่างที่กัมพูชา อดีตนายกฯฮุนเซน ซึ่งตอนนี้เป็นประธานองคมนตรี ก็ส่งไม้ต่อให้บุตรชาย ฮุน มาเนต ที่เป็นทหารอาชีพตั้งแต่ปี 2538 และไต่เต้าจนได้เป็นผู้บัญชาการทหารบกในปี 2562 แน่นอนว่าการขึ้นตำแหน่งจากนายร้อยกระทั่งเป็นผบ.นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเส้นสาย แต่คีย์เวิร์ดก็คือ 25 ปีแห่งประสบการณ์ การฝึกงาน การบ่มเพาะ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดฮุน มาเนตน่าจะมี
สรุปก็คือ นายกฯคนใหม่ของไทยน่าจะเป็นเบอร์ 1 ด้านวัยวุฒิของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจไม่เล็ก และมีประชากรที่มากอย่างไทย ที่น่าจะมีประสบการณ์บ่มเพาะฝึกฝนเรียนรู้การบริหาร ระบบราชการ ที่น้อยที่สุดในโลก ซึ่งก็อาจจะมีทั้งข้อดีและด้อย และเวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์