สตรีและเด็กผู้หญิง : สมการสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน | World Wide View
หนึ่งในหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือการให้ความสำคัญกับความหลากหลายและการไม่แบ่งแยก โดยเฉพาะ “สตรีและเด็กผู้หญิง” ซึ่งไทยก็มีหน่วยงานหลายแห่งที่ได้พัฒนาชุดเครื่องมือสนับสนุนธุรกิจในการสร้าง และส่งเสริมสถานที่ทำงานรับความหลากหลายและเท่าเทียม
การส่งเสริมให้เกิดสังคมที่ครอบคลุมเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน นำพาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ
หลังจากที่วุฒิสภาไทยผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวสำคัญ ที่สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการอันน่าชื่นชมของสังคมไทยในการเปิดรับความหลากหลาย และมุ่งมั่นสู่ความเท่าเทียมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์อันงดงามให้กับประเทศไทยที่พร้อมจะ ก้าวไปข้างหน้าในฐานะจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรสำหรับทุกคน (Pride Friendly Destination) รวมถึงการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยและคนไทยพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มจากทั่วโลกอย่างเปิดกว้างและเป็นธรรม
หนึ่งในหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) อยู่ที่การให้ความสำคัญกับความหลากหลายและการไม่แบ่งแยก โดยเฉพาะ “สตรีและเด็กผู้หญิง” ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ว่าด้วยเรื่อง Gender Equality หรือ ความเท่าเทียมทางเพศ มีเป้าหมายหลักเพื่อบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน
ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ผู้ชายเก่งเลข ผู้หญิงเก่งภาษา” ปฏิเสธไม่ได้สิ่งเหล่านี้อาจเป็นภาพจำ ของใครหลายคน เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทุกเพศทุกวัย ระบบการศึกษาจึงควรได้รับการปรับเปลี่ยนเนื้อหาเรื่องเพศให้ทันสมัย และลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยเหตุนี้ UNICEF หรือ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ได้ออกแนวคิด “Gender Transformative education” หรือ “การศึกษาแบบปรับกระบวนทัศน์ใหม่ทางเพศ” เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเปลี่ยนทัศนคติและโครงสร้างสังคมที่ก่อให้เกิด การเลือกปฏิบัติ
หนึ่งในวิธีการคือ การปรับหลักสูตรการสอนให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก มุ่งเน้นที่การลบภาพจำเดิมๆ เกี่ยวกับเพศ ค้นหาเครื่องมือหรือสร้างแนวทางการเรียนรู้แก่เด็กแบบใหม่ ๆ สร้างแนวทางการเรียนรู้แบบใหม่ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครู รวมถึงการผสานความร่วมมือสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน
ทั้งนี้ ในรายงาน UNICEF ได้เสนอ 7 แนวทางที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาระบบการศึกษา ได้แก่ (1) นโยบายของภาครัฐ (2) แนวทางการสอนของครู (3) สภาพแวดล้อมในโรงเรียน (4) การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน (5) ภาวะผู้นำในชุมชน (6) การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วยเสีย และ (7) การประเมินผลลัพธ์ของแผนปฏิบัติการทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการศึกษา ตั้งแต่รัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ภาคธุรกิจ ชุมชน โรงเรียน และนักเรียนทุกคน (ท่านผู้อ่านสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่ https://www.unicef.org/reports/gender-transformative-education)
ไม่ใช่แค่สตรีและเด็กผู้หญิงเท่านั้น สหประชาชาติยังส่งเสริมความเสมอภาคสำหรับ “ทุกคน” โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือศศินทร์ และ Workplace Pride ร่วมมือกันพัฒนาและเปิดตัวชุดเครื่องมือสนับสนุนธุรกิจไทยในการสร้างและส่งเสริมสถานที่ทำงานที่โอบรับความหลากหลายและความเท่าเทียม
ชุดคู่มือนี้ใช้ชื่อว่า “คู่มือเรียนรู้วิธีสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับองค์กรและภาคธุรกิจ” หรือ “Inclusion Toolkit for Organizations and Business” เป็นคู่มือที่จะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ มีกลยุทธ์และแนวปฏิบัติเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ทุกคนรู้สึกมีคุณค่า ได้รับความเคารพ ตลอดจนเกื้อหนุนให้แต่ละปัจเจกบุคคลสามารถมีมุมมองและส่วนร่วมในการทำงานได้อย่างเต็มที่
การส่งเสริมความเท่าเทียมและการสร้างสังคมที่ครอบคลุมเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม การปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา หรือการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เท่าเทียม ล้วนเป็นก้าวสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ การร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างสังคมที่ทุกคนได้รับการเคารพและมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง “เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืน คือการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”