สถานทูตฝรั่งเศสชวนร่วมเทศกาลภาพยนตร์ 'บียอนด์แอนิเมชัน 2567' 12-21 ก.ย. นี้ !

สถานทูตฝรั่งเศสชวนร่วมเทศกาลภาพยนตร์ 'บียอนด์แอนิเมชัน 2567' 12-21 ก.ย. นี้ !

สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชวนนักเรียน/นักศึกษา และประชาชนที่สนใจแอนิเมชัน ร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์แอนิเมชัน “Beyond Animation Festival” 12-21 ก.ย. ใน 3 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และพะเยา คนรักแอนิเมชันห้ามพลาด !

สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) ร่วมกับหน่วยงาน Institut Français ภูมิใจเสนอ เทศกาลภาพยนตร์แอนิเมชัน “Beyond Animation Festival” ประจำปี 2567 ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และพะเยา

เทศกาลภาพยนตร์แอนิเมชันนี้ประกอบด้วย การฉายภาพยนตร์ เวิร์กชอบ การเสวนา และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ส่งเสริมนักศึกษาไทย รวมถึงสาธารณชนให้เข้าถึงภาพยนตร์แอนิเมชันร่วมสมัย และพบกับแขกรับเชิญพิเศษ คุณฌูเลียต เปอปอร์ติเยร์ นักสร้างภาพเคลื่อนไหวชาวฝรั่งเศส นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังมีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์โลกเสมือนจริงผ่านแว่นวีอาร์รุ่น Astrea และ Atlas

BEYOND ANIMATION มุ่งมั่นที่จะจัดสรรการอบรมเพื่อสร้างอาชีพ จึงมีโปรแกรมกิจกรรมยาวถึงเดือนธันวาคม โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือเยาวชนในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกลุ่มนักเรียน นักศึกษาสาขาดังกล่าว

แอนิเมชัน กุญแจสำคัญแห่งศิลปะ

แอนิเมชันเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่เราพบได้ในสื่อบันเทิงทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ โฆษณา หรือแม้กระทั่งสื่อออนไลน์ และยังเป็นศิลปะที่ทั้งประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสมีความเป็นเลิศ

ประเทศฝรั่งเศส เป็นประเทศแรกในทวีปยุโรปและนับเป็นประเทศที่สามของโลกที่ผลิตและส่งออกภาพยนตร์แอนิเมชัน ประเทศฝรั่งเศสยังมีเครือข่ายสตูดิโอและสถาบันการศึกษาด้านแอนิเมชันที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับระดับโลก นอกจากนี้ ดินแดนน้ำหอมแห่งนี้ยังเป็นสถานที่จัดเทศกาลภาพยนตร์และงานแสดงสินค้าด้านแอนิเมชันระดับโลก อย่างเทศกาลภาพยนตร์แอนิเมชันนานาชาติอานซี (AIAFF) และการแสดงงานแอนิเมชันนานาชาติ (MIFA)

ส่วนประเทศไทยเองก็เป็นแหล่งรวมทรัพยากรสำคัญของวงการแอนิเมชันและผู้ชำนาญด้านการทำเอฟเฟกต์พิเศษต่าง ๆ ที่ใช้ในการตัดต่อผลงานระดับสากล โดยประเทศไทยมีสตูดิโออยู่จำนวนมาก ซึ่งมีขนาดและความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป จึงทำให้มีอัตราการแข่งขันสูง

ในปี 2567 นี้ ภาพกราฟิกหลักของเราได้รับแรงบันดาลใจมาจากความเชื่อพื้นบ้านของไทย ผสมกับกลิ่นอายแบบฝรั่งเศสผ่านปลายดินสอของเซบาสเตียง อิแวร์ มาเลต์ นักวาดชาวฝรั่งเศส ร่วมกับนักศึกษาชาวไทย 2 คนจากมหาวิทยาลัยรังสิต

รายละเอียดเกี่ยวกับภาพยนตร์ ภาพยนตร์สั้น สถานที่ และเวลาฉาย

สถานทูตฝรั่งเศสชวนร่วมเทศกาลภาพยนตร์ \'บียอนด์แอนิเมชัน 2567\' 12-21 ก.ย. นี้ !

ติดตามรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Sawasdee France

รู้จักแขกรับเชิญพิเศษ คุณฌูเลียต เปอปอร์ติเยร์

ฌูเลียต เปอปอร์ติเยร์ นักสร้างภาพเคลื่อนไหวแบบสองมิติชาวฝรั่งเศส จากเมืองอ็องกูแล็ม ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองเกิดของนักสร้างแอนิเมชัน นักวาดภาพประกอบและสตูดิโอมากมาย ตอนเป็นเด็กเธอเริ่มมีความสนใจในแอนิเมชัน เมื่อเธอได้ชมภาพยนตร์เรื่อง The King and the Mockingbird (Le Roi et L’oiseau) และยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเธอได้ชมผลงานของสตูดิโอจิบลิ 

หลังจบการศึกษาจากโรงเรียน GOBELINS ในปี 2558 เธอเชี่ยวชาญด้านการสร้างภาพเคลื่อนไหวประกอบภาพยนตร์จากการ์ตูนวาดด้วยมือ เธอเริ่มอาชีพนักสร้างภาพเคลื่อนไหวครั้งแรกให้กับภาพยนตร์เรื่อง The Breadwinner ของบริษัท Cartoon Saloon และทำงานให้กับภาพยนตร์ยุโรปหลายเรื่อง เช่น Funan, the New People, a Childhood of Martha, Princess Dragon, Little Nicolas: Happy as can be และ Mars Express 

ในปัจจุบัน เธอทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายแอนิเมชันให้กับซีรีย์เชิงสารคดีเรื่อง The Legends of Paris: a Tale of the 19th century Artistic Scene และภาพเคลื่อนไหวเพื่อโปรโมทวิดิโอเกมส์ นอกจากนี้ เธอกำลังทำงานให้กับภาพยนตร์เรื่อง Arco ผลงานของนักเขียนการ์ตูน อูโก้ เบียงเวอนูว์

ตลอดช่วงเทศกาล จะมีเวิร์คชอบ การเสวนา และการพูดคุยแบบถาม-ตอบ จัดขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้เส้นทางอาชีพด้านแอนิเมชันของฌูเลียต รวมถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอเลือกทำงานในสาขานี้อีกด้วย และยังเป็นโอกาสที่เหล่าแฟนคลับภาพยนตร์แอนิเมชันจะได้พูดคุยกับผู้อยู่เบื่องหลังหนึ่งในภาพยนตร์ที่เรานำมาฉาย เรื่อง Mars Express และทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างภาพยนตร์แอนิเมชันของยุโรป กับแบบอื่น ๆ ทั่วโลก

มาร่วมพูดคุยและทำเวิร์กชอปกับแขกรับเชิญได้วันที่ 7 ตุลาคมนี้ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต