‘ท่องเที่ยวบูม’ ทำพิษ 'ธุรกิจบัตรเครดิตญี่ปุ่น' ขาดทุนยับ
เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติแห่ไปเที่ยวญี่ปุ่น การชอปปิง และการรับประทานอาหารของนักท่องเที่ยว ทำเอาบริษัทบัตรเครดิตญี่ปุ่นปวดหัว เพราะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ บางรายเตรียมเก็บค่าธรรมเนียมบัตรที่ออกในต่างประเทศเพิ่มแล้ว
เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติแห่ไปเที่ยวญี่ปุ่น การใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งการชอปปิงและการรับประทานอาหารของนักท่องเที่ยว ทำบริษัทบัตรเครดิตญี่ปุ่นปวดหัว ส่งผลให้บริษัทบางแห่งเตรียมพิจารณาขึ้นค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตที่ออกโดยต่างชาติ
นิกเกอิเอเชียรายงานว่า เมื่อนำบัตรเครดิตที่ออกในต่างประเทศมาใช้ในญี่ปุ่น บริษัทบัตรเครดิตญี่ปุ่นที่รับทำธุรกรรมให้กับร้านค้าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้ออกบัตรต่างประเทศ และบริษัทบัตรเครดิตระหว่างประเทศ เช่น วีซ่า และมาสเตอร์การ์ด
สิ่งที่น่าปวดหัวคือ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีมูลค่ามากกว่าค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากร้านค้าในญี่ปุ่นเสียอีก ทำให้บริษัทบัตรเครดิตขาดทุนและอาจขาดทุนสูงสุด 30,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ หรือขาดทุนจากระดับในปี 2566 มากกว่า 50%
ค่าธรรมเนียมรีดกำไร
เบื้องหลังธุรกิจบัตรเครดิตมีความซับซ้อนมาก หลายบริษัท เช่น ซูมิโตโม มิตซุย การ์ด และมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ นิคอส ออกบัตรเครดิตในญี่ปุ่น แต่ต้องจัดการการชำระเงินให้กับเครือข่ายบัตรเครดิตของร้านค้าด้วย ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ร้านค้าที่ 1.9% ของการชำระเงินแต่ละครั้ง เมื่อมีการซื้อด้วยบัตรเครดิตที่ออกในญี่ปุ่น จะมีอัตรากำไรอยู่ที่ราว 0.2% หลายบริษัทมีการเจรจาเรื่องค่าธรรมเนียมกับร้านค้า แต่ในบางกรณี บริษัทบัตรเครดิตกลับเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าที่เรียกเก็บได้
กรณีเช่นนี้มักเกิดขึ้นเมื่อทำธุรกรรมร่วมกับบัตรเครดิตที่ออกในต่างประเทศ ถ้าบริษัทบัตรเครดิตญี่ปุ่นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมราว 1.8% ให้กับผู้ออกบัตรต่างประเทศ และจ่ายค่าธรรมเนียม 0.8% ให้กับแบรนด์บัตรเครดิตอย่างวีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ด จะส่งผลให้ธุรกิจขาดทุน 0.7% ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายด้านระบบและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ อีก
ผลสำรวจจากบริษัทบัตรเครดิต 7 แห่งจาก 8 แห่ง บ่งชี้ว่า ต้นทุนการใช้จ่ายค่าธรรมเนียมให้กับแบรนด์บัตรเครดิตระหว่างประเทศเป็นปัจจัยที่บั่นทอนกำไรของธุรกิจ
นิกเกอิเผยว่า บริษัทบัตรเครดิตญี่ปุ่นหลายราย ต้องพึ่งพาเครือข่ายการชำระเงินของแบรนด์บัตรเครดิตระหว่างประเทศ ยกเว้น บัตรเครดิตเจซีบี และบริษัทบัตรเครดิตบางรายในญี่ปุ่นที่มีแบรนด์เป็นของตนเอง
แหล่งข่าวบริษัทบัตรเครดิตญี่ปุ่นรายหนึ่ง บอกว่า “พวกเราไม่มีทางเลือกนอกจากต้องยอมรับข้อกำหนดของค่าธรรมเนียม”
สัดส่วนธุรกรรมทำพิษ
แม้บริษัทบัตรเครดิตญี่ปุ่นมีนโยบายค่าธรรมเนียมแตกต่างไปในแต่ละภูมิภาค และอุตสาหกรรม แต่ในตลาดญี่ปุ่น บริษัทตั้งค่าธรรมเนียมโดยมีสมมติฐานว่าบัตรเครดิตญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนการใช้งานมากกว่า 90% ของมูลค่าการทำธุรกรรม และบริษัทตั้งค่าธรรมเนียมต่ำ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับการใช้เงินสด และการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือได้
แต่เมื่อชาวต่างชาติมาเยือนญี่ปุ่น สัดส่วนของมูลค่าการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิตต่างชาติจึงเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทบัตรเครดิตญี่ปุ่นขาดทุนมากขึ้น
บริษัทบัตรเครดิตญี่ปุ่นแห่งหนึ่งบอกว่า ธุรกิจขาดทุนเพิ่มขึ้นจากหลายพันล้านเยน สู่ระดับหมื่นล้านเยนภายใน 1 ปี ขณะที่ร้านค้าบางแห่ง เช่น ร้านเสื้อผ้า และโรงแรมระดับไฮเอนด์ มียอดขาดทุนมากกว่ารายรับจากธุรกรรมบัตรเครดิตในประเทศ
ขณะที่ผลสำรวจพบว่า บริษัทบัตรเครดิตญี่ปุ่น 7 รายจาก 8 ราย ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน และ 6 รายบอกว่ากำลังพิจารณาหรือเริ่มปรับค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตต่างชาตินั้น แตกต่างจากการตั้งราคาแบบสองขั้น “Two-tiered pricing” ที่เป็นการกำหนดราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นแค่กับกลุ่มนักท่องเที่ยว เพราะค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตที่สูงขึ้นจะกระทบกับร้านค้าและร้านอาหาร ไม่ได้กระทบต่อการใช้บัตรเครดิตของชาวต่างชาติ และหากร้านค้าเลือกปฏิเสธจ่ายค่าธรรมเนียมที่แพงขึ้นให้กับบริษัทบัตรเครดิต และเลิกรับบัตรเครดิตที่ออกในต่างประเทศ อาจทำให้พวกเขาพลาดโอกาสโกยรายได้จากการชอปปิงของผู้คนที่มาท่องเที่ยวในญี่ปุ่น
เชนร้านค้าบางแห่งเผยว่า พวกเขาได้รับข้อเสนอจากบริษัทบัตรเครดิตให้ขึ้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ใช้บัตรที่ออกในต่างประเทศ และเชนร้านค้านั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว ขณะที่โรงแรมหรูแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวปฏิเสธปรับใช้อัตราค่าธรรมเนียมสองขั้น
“การขึ้นค่าธรรมเนียมแค่กับคนที่ใช้บัตรเครดิตต่างประเทศเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่การพิจารณาข้อเสนอขึ้นค่าธรรมเนียมสำหรับบัตรทุกประเภท แทนการจงเจาะไปที่บัตรใดบัตรหนึ่งนั้นง่ายกว่ามาก” ตัวแทนโรงแรมกล่าว
ตามข้อมูลจากฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุว่า ญี่ปุ่นอาจมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 35 ล้านคนในปีนี้ และการใช้จ่ายการเดินทางอาจแตะระดับ 8 ล้านล้านเยน และหากคาดการณ์ว่าการใช้จ่ายในการเดินทางราว 60% เป็นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต บริษัทบัตรเครดิตในญี่ปุ่นอาจขาดทุนถึง 3 หมื่นล้านเยนในปีนี้
รายงานนี้มีการปรับเนื้อหาเพิ่มเติม
อ้างอิง: Nikkei Asia
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์