'เวียดนาม' อ้าแขนรับนักลงทุนชิป ลดหย่อนภาษีสูงสุด 150% อนุมัติวีซ่าฟาสต์แทรก
'เวียดนาม' อ้าแขนรับนักลงทุนชิป ร่างกฎหมายให้สิทธิประโยชน์ ลดหย่อนภาษีสูงสุด 150% อนุมัติวีซ่าฟาสต์แทรก พร้อมให้เงินอุดหนุน - ใช้ที่ดินฟรีนาน 10 ปี กับ 2 ความท้าทายด้านภาษี และงบประมาณรัฐที่เวียดนามต้องเผชิญ
KEY
POINTS
- 'เวียดนาม' เร่งคว้าโอกาสจากสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีน และสหรัฐ
- ออกร่างกฎหมาย DTI ดึงดูดนักลงทุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ทั้งลดหย่อนภาษี ให้เงินอุดหนุน ใช้พื้นที่ฟรีนาน 10 ปี และอนุมัติวีซ่าแบบฟาสต์แทรก
- เตรียมเรียกหน่วยงานรัฐ-เอกชน รับทราบข้อตกลงของกฎหมาย คาดเริ่มใช้กลางปี 68
- เผชิญ 2 ความท้าทายด้านภาษีในเกณฑ์ระดับโลก และรัฐที่ต้องแบกรับภาระด้านงบประมาณ
สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานว่า เวียดนามกำลังร่างกฎหมายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลฉบับใหม่ (DTI) ซึ่งมาพร้อมกับสิทธิประโยชน์มากมายเพื่อดึงดูดบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ระดับโลกให้เข้ามาลงทุนในประเทศ เช่น “อินวิเดีย” (Nvidia) ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตชิปจากสหรัฐที่ร่วมมือกับ FPT บริษัทเทคโนโลยีใหญ่สุดในเวียดนามในการสร้างโรงงานสำหรับส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI และ “เบซี่” (Besi) ผู้ผลิตอุปกรณ์ชิปจากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้ลงทุนเบื้องต้น 4.9 ล้านดอลลาร์ในปีนี้(ราว 164 ล้านดอลลาร์)
ภายใต้ร่างกฎหมาย DTI เวียดนามได้เตรียมสิทธิประโยชน์มากมายเพื่อดึงดูดนักลงทุนในภาคเทคโนโลยี เช่น ลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 150% สำหรับค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการลงทุน อนุมัติวีซ่าแบบฟาสต์แทรกเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงานในโครงการ และการใช้ที่ดินฟรีเป็นเวลา 10 ปี
นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 160 ล้านดอลลาร์ (ราว 5 พันล้านบาท) ขึ้นไป โดยให้มีการพิจารณาเอกสารอนุมัติอย่างเร่งด่วน และยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับวัตถุดิบ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ รวมถึงการยกเว้นภาษีรายได้ส่วนบุคคลสำหรับผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
คว้าโอกาสในสงครามการค้า
เวียดนามกำลังนำเสนอกฎระเบียบใหม่ๆ เพื่อคว้าโอกาสที่เกิดขึ้นจากสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีน และสหรัฐ ซึ่งได้ผลักดันให้บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ และบริษัทอื่นๆ ต้องกระจายห่วงโซ่อุปทานของตน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเวียดนามต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามาตรการจูงใจทางภาษีที่นำเสนอนั้น สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ภาษีขั้นต่ำระดับโลกที่นานาชาติกำลังผลักดันหรือไม่
เจิ่นแมงฮุง จากเบเคอร์ แม็คเคนซี มองว่า ร่างกฎหมายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเวียดนามจริงจังแค่ไหนในการดึงดูดบริษัทชิป
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้บริหารด้านชิปของสหรัฐ ตั้งแต่ "แพท เกลซิงเกอร์” ของอินเทล (Intel) ไปจนถึง “เจนเซน หวง” ของอินวิเดีย ได้เดินทางไปเยือนกรุงฮานอย ได้จุดกระแสความสนใจจากสื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่เหล่านี้เข้ามาในเวียดนาม
"เวียดนามได้นำข้อเสนอแนะเหล่านี้มาพิจารณาในการปรับปรุงนโยบาย และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มากยิ่งขึ้น”ทราน กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงสารสนเทศของเวียดนาม เองก็กำลังจัดประชุมกับหน่วยงานอื่นๆ และตัวแทนภาคเอกชน เพื่อให้ข้อมูลในการสรุปกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะถูกนำเสนอต่อรัฐสภาในเดือนต.ค.2567 และมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปี 2568
สิทธิประโยชน์เหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อเร่งให้เวียดนามก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก รวมทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านพลังงาน และการฝึกอบรม ที่เวียดนามยังด้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีอุตสาหกรรมขั้นสูงกว่า
อุตสาหกรรมชิปของเวียดนามยาวนานเกือบ 20 ปี แต่ได้เข้าสู่ยุคทองในปี 2563 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความตึงเครียดทางเทคโนโลยีทั่วโลกได้ผลักดันให้เวียดนามกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้กับแบรนด์ชั้นนำอย่างซัมซุง(Samsung) ไปจนถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ออกแบบชิปให้กับบริษัทระดับโลก เช่น อินฟินีออน ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และบริษัทออกแบบชิป ไซนอปซิส
2 ความท้าทายของเวียดนาม
เวียดนามกำลังเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวเข้ากับมาตรฐานภาษีใหม่ของโลก โดยต้องบาลานซ์ระหว่างการดึงดูดนักลงทุนด้วยมาตรการจูงใจต่างๆ กับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ภาษีขั้นต่ำ 15% ที่องค์กรเพื่อความร่วมมือ และพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) และกว่า 140 ประเทศทั่วโลกให้การสนับสนุน ซึ่งหมายถึงการยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีบางส่วนที่เคยใช้เป็นเครื่องมือดึงดูดนักลงทุนในอดีต แม้ว่าภาคธุรกิจจะพยายามผลักดันให้มีมาตรการชดเชย เช่น เงินอุดหนุนหรือเครดิตภาษีก็ตาม
และความท้าทายด้านงบประมาณก่อนหน้านี้ อินเทลได้เรียกร้องให้เวียดนามปรับปรุงนโยบายจูงใจเพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งรายเดิม และรายใหม่ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่นักลงทุนย่อมส่งผลกระทบต่องบประมาณของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โทมัส แมคเคลแลนด์ หัวหน้าฝ่ายภาษีของดีลอยท์ เวียดนาม ชี้ให้เห็นว่า โครงการดังกล่าวอาจสร้างภาระทางการเงินให้กับรัฐบาลซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านงบประมาณและความท้าทายในการจัดสรรเงินทุนสำหรับมาตรการจูงใจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ่ายเงินล่วงหน้า
"การนำระบบจูงใจใหม่มาใช้จะทำให้เกิดภาระงานด้านการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการรับคำขอ และประเมินคุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ รวมถึงการติดตาม และตรวจสอบการใช้สิทธิประโยชน์ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบนี้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้"
นอกเหนือจากปัญหาการขาดแคลนพลังงาน และบุคลากรที่มีทักษะแล้ว อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนามยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกจำกัดการนำเข้าชิประดับไฮเอนด์จากบริษัทอย่าง Nvidia เนื่องจากข้อกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐที่เกรงว่าชิปเหล่านี้อาจถูกส่งต่อไปยังจีน
อ้างอิง nikkei
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์