เศรษฐกิจอินโดฯ ช้ำจาก “ลองโควิด” ‘ชนชั้นกลาง’ ลด หมดกำลังจ่าย
เศรษฐกิจอินโดนีเซียช้ำหนักจาก "ลองโควิด" ซึ่งมาในรูปของกลุ่มชนชั้นกลางลดลง เพราะถูกเลิกจ้างในช่วงการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง
สำนักงานสถิติอินโดนีเซียเตือน เศรษฐกิจอินโดนีเซียกำลังช้ำหนักจากลองโควิด (long COVID) ซึ่งมาในรูปแบบของประชากรชนชั้นกลางลดลง เนื่องจากผู้คนถูกเลิกจ้างเป็นวงกว้างในช่วงการแพร่ระบาดโควิด ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น และภาคอุตสาหกรรมซบเซา
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติกลาง (บีพีเอส) ระบุว่า สัดส่วนชนชั้นกลางอินโดนีเซียลดลงจาก 21.4% ของประชากร 267 ล้านคนในปี 2562 มาอยู่ที่ 17.1% ของประชากร 289 ล้านคนในปี 2567 ขณะที่สัดส่วนประชากร “ที่จะขยับเป็นชนชั้นกลาง” (aspiring middle class) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 48.2% สู่ระดับ 49.2% ส่วนกลุ่มผู้เปราะบางเพิ่มขึ้นจากระดับ 20.6% สู่ระดับ 24.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน และเมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ประชากรชนชั้นกลางลดลงราว 9.5 ล้านคน
“อามาเลีย อดินิงการ์ วิดยาสันติ” ผู้อำนวยการบีพีเอส กล่าวโดยสรุปในข้อมูลสถิติล่าสุดว่า
“นี่คืออาการลองโควิดของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลกระทบที่บั่นทอนเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาด"
และเสริมว่า ประชากรชนชั้นกลางเป็นกลุ่มคนที่สำคัญเพราะเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ มีการใช้จ่ายปริมาณมากและรวดเร็ว
ตามความหมายของบีพีเอสที่อ้างอิงมาจากความหมายของธนาคารโลก ระบุว่า ชนชั้นกลางอินโดนีเซีย คือ กลุ่มคนที่มีการใช้จ่ายมากกว่าเส้นความยากจน 3.5 - 17 เท่า ซึ่งเส้นความยากจนในอินโดนีเซียปัจจุบันอยู่ที่ระดับรายได้ 582,993 รูเปี๊ยะต่อเดือน หรือราว 1,278 บาท ดังนั้น ชนชั้นกลางอินโดนีเซียคือคนที่ใช้จ่ายราว 130-640 ดอลลาร์ต่อเดือน (ราว 4,400 - 21,000 บาท)
“มุลยาวาน อาหมัด” ชาวเมืองจาการ์ตาตะวันออก ซึ่งเป็นหนึ่งในเหยื่อของเศรษฐกิจลองโควิด เผยว่า ตนถูกให้ออกจากตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีของบริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดสูงเมื่อปี 2563 ซึ่งอาหมัดถือเป็นหนึ่งในแรงงาน 2.8 ล้านคนที่ต้องตกงานในช่วงวิกฤติดังกล่าว
อาหมัดเผยว่าในตอนแรกตนยังมีความหวังต่อหน้าที่การงานในอนาคตของตนเอง เพราะได้รับเงินชดเชยก้อนหนึ่ง และเหลือผ่อนที่อยู่อาศัยอีก 8 ปีเท่านั้น แต่โชคไม่เข้าข้าง เพราะเขาไม่สามารถหางานประจำได้ในวัย 49 ปี ต้องพึ่งพาอาชีพฟรีแลนซ์เพื่อเลี้ยงชีพ ทำให้เขามีรายได้ลดลงราว 2 ใน 3 ของรายได้ประจำที่เคยทำ ทั้งยังเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ชีวิตยังคงมีอุปสรรคด้านการใช้จ่าย
“ตอนนั้นผมไม่ได้คิดว่าในปีต่อๆ ไป ทุก ๆ อย่างจะแพงขนาดนี้” อาหมัดกล่าว และว่าค่าใช้จ่ายสินเชื่อบ้านที่สูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยลอยตัว กลายเป็นความกังวลทางการเงินเรื่องใหญ่ที่สุดของเขา
“เป็นสัดส่วนการใช้จ่ายที่มากที่สุดอันดับสอง รองจากค่าใช้จ่ายสำคัญอื่น ๆ อย่าง ค่าอาหารและสาธารณูปโภค” อาหมัดย้ำ
“ฟิทรา ไฟซาล ฮัสเตียดี” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากซามูเอล เซกูริตาส บอกว่า สัดส่วนคนชนชั้นกลางลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับกลุ่มประชากรที่จนที่สุด 20% และกลุ่มที่รวยที่สุด 10% เป็นส่วนใหญ่
“คนกลุ่มนี้ (ชนชั้นกลาง) ไม่มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางสังคม และไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่เช่นกัน เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรือการซื้ออสังหาริมทรัพย์” ฮัสเตียดี เผยกับนิกเกอิเอเชีย
และเสริมว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิดในระยะยาวได้เปลี่ยนแปลงการจ้างงาน จากการจ้างงานแบบทางการ เป็นการจ้างงานแบบไม่ทางการ ทำให้แรงงานได้ค่าแรงน้อยกว่าที่เคยได้ แม้อัตราการว่างงานจะปรับตัวดีขึ้นแล้วก็ตาม
บีพีเอสรายงานว่า ค่าอาหารของชนชั้นกลางมีสัดส่วนอยู่ที่ 41.67% ของรายจ่าย รองลงมาเป็นค่าที่อยู่อาศัย 28.52% ขณะที่เงินเฟ้อในอินโดนีเซียปัจจุบันอยู่ที่ 2.12% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาสินค้าสำคัญปรับตัวสูงขึ้น เช่น ราคาข้าว ราคาพริกไทย และราคาน้ำตาล
แม้ประชากรชนชั้นกลางลดลง แต่เศรษฐกิจอินโดนีเซียยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจขยายตัวมากกว่า 5% และคาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2567 ซึ่งส่วนใหญ่ได้แรงหนุนมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้น
“ยูนิ ราห์มาวาตี” แม่บ้านที่อาศัยอยู่ในจาการ์ตา บอกว่า ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของครอบครัว
ครอบครัวของราห์มาวาตีมีสามีที่ประกอบอาชีพข้าราชการพลเรือน ซึ่งมีรายได้อยู่ที่ 513 ดอลลาร์ต่อเดือน (ราว 17,400 บาทต่อเดือน) เป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวเป็นหลัก
“บ้างครั้งก็น่าหงุดหงิดที่เราไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะมีข้อจำกัดในงบประมาณการเลือกซื้อโปรตีนสำหรับมื้ออาหารในแต่ละวัน” คุณแม่ลูกสองกล่าว
ด้านนักเศรษฐศาสตร์ฮัสเตียดี ย้ำว่า “ชนชั้นกลางรู้สึกอาชีพของตนยังไม่เพียงพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” ขณะที่วิดยาสันติ จากบีพีเอส เชื่อมั่นว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิดอาจคงอยู่ไม่นานนัก เพราะเขาเชื่อว่า “รัฐบาลจะออกนโยบายช่วยเหลือเศรษฐกิจให้ฟื้นกลับมาสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดได้”
ในการประชุมร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสเมื่อสัปดาห์ก่อน “แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานเศรษฐกิจ ย้ำถึงความสำคัญของชนชั้นกลาง รวมถึงชนชั้นที่จะขยับขึ้นเป็นชนชั้นกลาง ซึ่งโดยรวมแล้วทั้งสองกลุ่มมีสัดส่วนการบริโภค 81.49% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
“การรักษาความสามารถในการฟื้นตัวของชนชั้นกลางคือความท้าทายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” ฮาร์ตาร์โตกล่าว
แต่ฮัสเตียดี แย้งว่า รัฐบาลไม่สามารถจัดการกับความท้าทายได้อย่างเหมาะสม และย้ำว่า การขึ้นของภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 11% สู่ระดับ 12% เมื่อวันที่ 1 ม.ค. รวมถึงการเสนอเก็บภาษีเงินเดือน 3% เพื่อนำไปเป็นเงินอุดหนุนที่อยู่อาศัยให้กับชนชั้นล่าง เป็นนโยบายที่จะทำให้อำนาจการใช้จ่ายของชนชั้นกลางลดลงไปอีก
“รัฐบาลต้องพิจารณาเลื่อนการปรับขึ้น VAT และรอจนกว่าชนชั้นกลางจะมีสัดส่วนถึง 25% ของประชากร เพื่อสร้างรากฐานเศรษฐกิจที่มั่นคง”