ลาก่อนแบรนด์เนม ชาวจีนหันมานิยม ‘ของเทียบแท้’ ถูกกว่า คุณภาพคล้ายแบรนด์ดัง
ในภาวะเศรษฐกิจจีนที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก เหล่าผู้บริโภคชาวจีนได้เปลี่ยนไปนิยม ‘Dupe’ หรือสินค้าเลียนแบบแบรนด์หรู แต่มีราคาจับต้องได้และคุณภาพใกล้เคียงกันแทน โดยแบรนด์จีนหน้าใหม่ผุดขึ้นท้าทาย จนอาจกลายเป็นภัยคุกคามใหม่ของตลาดสินค้าหรูแบบเดิม
KEY
POINTS
- สินค้าคล้ายแบรนด์หรูที่โด่งดังขณะนี้ คือ แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่น ‘Chicjoc’ ของเซี่ยงไฮ้ ทำยอดขายสูงสุดใน Alibaba ที่ 978 ล้านหยวนต่อปี แซงหน้า Gucci และ Burberry ในแพลตฟอร์ม
- สินค้าเทียบเคียงแบรนด์ดัง กำลังส่งผลกระทบต่อสินค้าระดับไฮเอนด์ จนอาจทำให้อนาคตของสินค้าเหล่านั้นเติบโตได้ยากขึ้นในจีน
- ผู้บริโภคจีนยุคปัจจุบัน หันมาหาผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายจากผู้ผลิตโดยตรง โดยตัดตัวกลางของแบรนด์ออกไป
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจจีนที่ซบเซา เทรนด์บริโภคสินค้าแบรนด์หรูก็มาถึง “จุดเปลี่ยน” เมื่อชาวจีนสมัยนี้อาจไม่ได้ติดที่แบรนด์ไฮเอนด์เหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่หันมาให้ความสนใจสินค้าที่คล้ายคลึงกับแบรนด์หรูแทน แม้จะไม่ใช่แบรนด์ดัง แต่มีราคาจับต้องได้มากกว่า และที่สำคัญคือ มีคุณภาพใกล้เคียงกับแบรนด์หรูด้วย
สินค้าเทียบเคียงแบรนด์หรูเหล่านี้ ถูกเรียกในชื่อว่า “Dupe” ซึ่งมาจากคำว่า “Duplicate” อันหมายถึง จำลองหรือสำเนา โดยไม่ได้หมายถึงสินค้าก๊อบปี้ผิดลิขสิทธิ์ แต่เป็นสินค้าที่คล้ายคลึงกับแบรนด์หรูเดิม ทั้งหน้าตา ลูกเล่น และการใช้งาน โดยผลิตจากเนื้อผ้าและวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง พร้อมเกรดพรีเมียม เพียงแต่ราคาไม่ได้แรงเท่าแบรนด์ดัง จนกลายเป็นจุดดึงดูดผู้บริโภคจีนในยุคนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนเจน Z
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ตัวอย่างสินค้าคล้ายแบรนด์หรูที่โด่งดังขณะนี้ คือ แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่น "Chicjoc" ของเซี่ยงไฮ้ ทำยอดขายสูงสุดในแพลตฟอร์ม Alibaba ที่ 978 ล้านหยวนต่อปี แซงหน้ายอดขายแบรนด์ Gucci และ Burberry ในแพลตฟอร์ม ซึ่ง Chicjoc ขายเสื้อโค้ทแบบเนื้อผ้าทวีด ด้วยราคาเพียง 3,200 หยวนหรือราว 15,000 บาท โดยบริษัทระบุว่าตัวเสื้อทำจากผ้าอิตาลีที่ได้มาจากซัพพลายเออร์ที่ส่งให้แบรนด์ดังอย่าง Prada SpA และ Bottega Veneta ด้วย
- แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่น Chicjoc ใน Taobao (เครดิต: Chicjoc) -
แม้ว่ายอดขายออนไลน์จะไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมดสำหรับแบรนด์หรูต่างชาติที่มีร้านค้าปลีก แต่การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสินค้าเลียนแบบ กำลังเป็นภัยคุกคามต่อแบรนด์หรูเดิมที่ดูเหมือนอาจยังตามไม่ทันผู้บริโภคชาวจีนว่าต้องการอะไร
ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่เป็นอยู่ ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แม้แต่ยอดขายแบรนด์ระดับกลางอย่าง Nike และ Uniqlo ก็ยังสะดุด แต่การเติบโตของ “สินค้าเทียบเคียง” หรือ “Dupe” น่าจะสะท้อนถึงสิ่งที่ Uniqlo เรียกว่า “ชุดค่านิยมใหม่ของผู้บริโภค” ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคแสวงหาผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายจากผู้ผลิตโดยตรง โดยตัดตัวกลางของแบรนด์ออกไป
“ความเข้าใจของผู้บริโภคชาวจีนเกี่ยวกับสินค้าหรูกำลังเปลี่ยน เนื่องจากความคิดเดิมที่ว่ากระเป๋าหรูสามารถสื่อถึงสถานะอันทรงเกียรตินั้น ไม่ได้เป็นความชอบเดียวของพวกเขาอีกต่อไป” แบลร์ จาง (Blair Zhang) นักวิเคราะห์สินค้าหรูและแฟชั่นระดับสูงจาก Mintel บริษัทวิจัยตลาดแห่งสหราชอาณาจักรกล่าว
Yaok Group บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจกล่าวในรายงานเดือนนี้ว่า Dupe หรือ สินค้าเทียบเคียงแบรนด์ดัง กำลังส่งผลกระทบต่อสินค้าระดับไฮเอนด์ จนอาจทำให้อนาคตของสินค้าเหล่านั้นเติบโตได้ยากขึ้นในจีน
คุณภาพเทียบเท่า ราคาต่างกัน สินค้า Dupe สะเทือนตลาดหรู
Chicjoc เป็นหนึ่งในแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นจีนที่ใหญ่ที่สุดบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Taobao และ Tmall กำลังทำการตลาดผลิตภัณฑ์ โดยชูว่าเสื้อผ้าของตนทำมาจากขนสัตว์จากโคเปนเฮเกนที่ผลิตจากซัพพลายเออร์เดียวกันกับ LVMH และ Fendi
ขณะเดียวกัน Sitoy Group ผู้ผลิตสินค้าหนังของจีนกล่าวในวิดีโอโซเชียลมีเดียว่า คุณภาพของกระเป๋าถือราคา 100 ดอลลาร์ของตนนั้น เกือบจะเหมือนกับกระเป๋าที่ขายในราคา 1,000 ดอลลาร์ขึ้นไปเมื่อผลิตจากสายการผลิตเดียวกันกับที่ผลิตให้กับแบรนด์หรูอย่าง Prada, Tumi และ Michael Kors
สำหรับ Sitoy เดิมทีเป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับแบรนด์อื่น ๆ ได้เห็นคำสั่งซื้อชะลอตัวลง ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น
เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ บริษัท Sitoy ได้ตัดสินใจสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง พร้อมขยายธุรกิจสู่ช่องทางออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ โดยลงทุนปรับปรุงโรงงานสี่ชั้นในเมืองตงกวนให้เป็นศูนย์ขายสินค้า ครอบคลุมตั้งแต่สตูดิโอไลฟ์สตรีมไปจนถึงร้านค้าปลีกและโชว์รูม
“การผลิตสินค้าให้แบรนด์ระดับโลกไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจ” หญิงคนหนึ่งกล่าวในวิดีโอขายสินค้าของบริษัทที่โพสต์บน Douyin
“ดังนั้น เราจึงตัดสินใจก้าวขึ้นมาข้างหน้า โดยใช้ระดับวัสดุและฝีมือเดียวกับแบรนด์หรู และคนงานที่มีประสบการณ์เหมือนกัน เพื่อสร้างแบรนด์ของเราเอง”
ชาวจีนหันมาใช้ของเทียบ ช่วยลดรายจ่าย
ติง เซียวหยิง นักวิเคราะห์หุ้นชาวเซินเจิ้นเล่าว่า หลังจากตลาดหุ้นจีนผันผวนหนักจนโบนัสประจำปีของเธอลดลงครึ่งหนึ่ง เธอจึงตัดสินใจลดค่าใช้จ่ายส่วนตัวลง โดยเลิกซื้อสินค้าแบรนด์เนมราคาแพงที่เคยซื้อเป็นประจำ
“ฉันได้ย้ายการใช้จ่ายเสื้อผ้าบางส่วนไปยังแบรนด์ที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียง” เธอกล่าวชมเชยคุณภาพเนื้อผ้าของสินค้าเทียบเคียง
สำหรับผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยมองว่า แทบไม่มีความแตกต่างระหว่างสินค้าเทียบเคียง และสินค้าแบรนด์เนมที่ถูกเลียนแบบ เช่น ขวด Facial Treatment Essence ขนาด 330 มิลลิลิตรของ SK-II ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ความงามจากญี่ปุ่นที่ขายดีที่สุด โดยทั่วไปจะขายในราคาเกือบ 1,700 หยวน เมื่อเทียบกับสินค้าเลียนแบบในแบรนด์ Chando จากจีนที่มีส่วนผสมคล้ายกันในราคา 569 หยวน
จะเห็นได้ว่า ตลาดสินค้าหรูในจีนกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สินค้า Dupe กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก และคาดว่าจะยังคงเติบโตต่อไปในอนาคต แบรนด์หรูอาจจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ หากต้องการรักษาฐานลูกค้าและสร้างการเติบโตในระยะยาว
อ้างอิง: bloomberg