'มาเลเซีย' จ่อขึ้นภาษี 'เครื่องดื่มมีน้ำตาล' อีก 20% หวังลดคนป่วยเบาหวาน

'มาเลเซีย' จ่อขึ้นภาษี 'เครื่องดื่มมีน้ำตาล' อีก 20% หวังลดคนป่วยเบาหวาน

มาเลเซีย วางแผนขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลอีกราว 20% หวังลดการบริโภคน้ำตาลของประชาชน เพื่อพยายามลดจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคไม่ติดต่อชนิดอื่น ๆ ในประเทศ

ดซุลเกฟลี อาหมัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้น โดยจะนำเสนอในการประชุมร่างประมาณประจำปี 2568 ในรัฐสภาในวันที่ 18 ต.ค.

ก่อนหน้านี้ในปี 2562 มาเลเซียเก็บภาษีที่ระดับ 0.4 ริงกิตต่อเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 5 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร และเครื่องดื่มผลไม้ที่มีน้ำตาลเกิน 12 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ส่วนเครื่องดื่มที่ปรุงขึ้นใหม่ตามร้านอาหารได้รับการยกเว้นภาษี

ต่อมาในปีนี้รัฐบาลมาเลเซียได้ขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล สู่ระดับ 0.5 ริงกิตต่อลิตร (ราว 3.87 บาท) ซึ่งดซุลเกฟลี บอกว่า การปรับขึ้นภาษีดังกล่าวช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลได้ 9.25%

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของอัตราภาษีใหม่ของเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลยังไม่ได้เปิดเผย แต่ดซุลเกฟลีเคยเสนอต่อรัฐสภาเมื่อเดือน ก.ค. ว่า รัฐบาลอาจเพิ่มอัตราภาษีอีก 20%

ข้อเสนอขึ้นภาษีล่าสุดมีขึ้นขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ ประสบกับปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนที่ยังคงมีอยู่ แม้เก็บภาษีน้ำตาลเพิ่มขึ้นเมื่อปี 2562 แล้วก็ตาม

จากการสำรวจสุขภาพและอัตราการเจ็บป่วยแห่งชาติปี 2566 ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีชาวมาเลเซียราว 3.6 ล้านคนหรือผู้ใหญ่ 15.6% เป็นโรคเบาหวาน และคนมาเลเซียมากกว่า 500,000 คน เจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อร้ายแรง ทั้งเบาหวานความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วน ขณะที่อัตราการเกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในผู้ใหญ่ชาวมาเลเซีย เพิ่มขึ้นจาก 44.5% ในปี 2554 เป็น 54.4% ในปี 2566

คริสโตเฟอร์ ลี อดีตรองอธิบดีกรมอนามัย ของกระทรวงฯ บอกว่า สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ คือการพยายามทำให้การบริโภคน้ำตาลเป็นที่นิยมน้อยลง ด้วยการสร้างผลกระทบต่อกระเป๋าเงินของผู้คน แม้มาตรการนี้ไม่ได้ช่วยให้ลดโรคไม่ติดต่อร้ายแรง แต่เขาเชื่อว่านี่เป็นก้าวที่ถูกต้อง และก้าวต่อไปคือการสร้างความตระหนักและให้ความรู้ผ่านการศึกษา

ขณะที่ มาเกศวารี สังการาลิงคัม เจ้าหน้าที่สมาคมผู้บริโภคปีนัง เชื่อว่ารัฐบาลควรขยายขอบเขตผลิตภัณฑ์ที่จะเก็บภาษีน้ำตาล เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของมาตรการ เพราะการจำกัดเก็บภาษีเพียงเครื่องดื่มน้ำอัดลมอาจทำให้ผู้บริโภคหันไปเลือกเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลชนิดอื่น ๆ ทดแทนได้

เฮลมี ฮาจา ไมดิน ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายของ Social and Economic Research Initiative แย้งว่า แนวทางการขึ้นภาษีควรเป็นไปในเชิงองค์รวม และควรมีมาตรการด้านราคาเพื่อป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมเหล่านี้แบกรับภาระภาษี และยกตัวอย่างว่าการดำเนินการแนวนี้ได้ผลในอังกฤษ

จากการสำรวจโภชนาการและโภชนาการแห่งชาติของสหราชอาณาจักร ระหว่างปี 2554 ถึง 2562 ภาษีน้ำตาลทำให้มีการซื้อเครื่องดื่มอัดลมน้อยลง และผู้ผลิตได้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อลดปริมาณน้ำตาลเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี

 

อ้างอิง: Nikkei Asia