ไทยศูนย์กลางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์อียู-อาเซียน

ไทยศูนย์กลางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์อียู-อาเซียน

คริส ฮัมฟรีย์ กรรมการบริหารสภาธุรกิจอียู-อาเซียน ผู้นำในการริเริ่มเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและอาเซียน

KEY

POINTS

  • ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจอียู-อาเซียน ฉบับล่าสุดระบุ   ธุรกิจยุโรป 59% รู้สึกว่าอียูไม่ได้สนับสนุนผลประโยชน์ของพวกเขาในภูมิภาคนี้มากพอ
  • ถือเป็นความไม่พอใจระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มสำรวจในปี 2015
  • ความรู้สึกดังกล่าวชัดเจนในไทยที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของอาเซียน

คริส ฮัมฟรีย์ กรรมการบริหารสภาธุรกิจอียู-อาเซียน ผู้นำในการริเริ่มเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและอาเซียน

บริษัทยุโรปกำลังเรียกร้องให้สหภาพยุโรป (อียู) มีส่วนร่วมกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น และไทยเป็นศูนย์กลางสำคัญของเสียงเรียกร้องนั้น ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจอียู-อาเซียน ฉบับล่าสุดเผยว่า ธุรกิจยุโรป 59% รู้สึกว่าอียูไม่ได้สนับสนุนผลประโยชน์ของพวกเขาในภูมิภาคนี้มากพอ ถือเป็นความไม่พอใจระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มสำรวจในปี 2015 และความรู้สึกดังกล่าวชัดเจนในไทยที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของอาเซียน

นอกเหนือจากที่บริษัทกังวล ผู้กำหนดนโยบายในไทยเองก็สังเกตเห็นว่า

มีอียูอยู่ไม่มากนักในภาคส่วนสำคัญธุรกิจ  ในการสนทนากับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ในภูมิภาคนี้ ผมเห็นความสงสัยและกังวลเพิ่มมากขึ้นถึงการมีอยู่ของอียู โดยเฉพาะเมื่อผู้เล่นระดับโลกรายอื่นๆ อย่างจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐ ต่างเข้ามาเพิ่มมากขึ้น

การมองไม่เห็นอียูเป็นเรื่องน่าฉงน เมื่อพิจารณาประวัติของอียูในอาเซียน ที่ยังคงเป็นผู้สร้างการพัฒนาใหญ่สุดรายหนึ่งของภูมิภาค ด้วยเม็ดเงินหลายร้อยล้านยูโรลงทุนในโครงการต่างๆ ทั่วประชาคมอาเซียน แต่ความทุ่มเทเหล่านี้มักไม่ได้รับการให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในไทย ประเทศที่มีเสียงเรียกร้องให้อียูเข้ามาเกี่ยวข้องในระดับสูงเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอียูกับอาเซียนเบ่งบานด้วยข้อตกลงการค้าเสรีที่ลงนามกับสิงคโปร์และเวียดนาม ส่วนการเจรจาเอฟทีเอกับไทยที่กำลังดำเนินอยู่ ส่งสัญญาณถึงศักยภาพมหาศาลสำหรับการเติบโตในอนาคต กระนั้น แม้ความพยายามเหล่านี้ควรค่าแก่การรับรู้ อียูยังไปไม่ถึงจุดที่ควรจะเป็น แตกต่างจากคู่เจรจาของอาเซียนรายอื่นๆ ที่ระดมความพยายามเพื่อเผยแพร่ผลงานของตน

  • ผลกระทบอียูขาดการมีส่วนร่วมกับภาคธุรกิจยุโรปในประเทศไทย

สำหรับธุรกิจที่ปฏิบัติการในไทย ผลที่ตามมาจากการปล่อยปละของอียูนั้นเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม อาเซียนซึ่งรวมถึงไทยเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของอียู แต่การตอบรับอย่างเฉื่อยชาของยุโรปก่อให้เกิดสุญญากาศที่ประเทศอื่นเข้ามาเติมเต็มโดยเร็ว

ขณะที่อียูมีสถานะเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์กับอาเซียน ชาติอื่นกลับรุกคืบไปเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์อย่างครอบคลุมแล้ว ซึ่งอียูคาดว่าจะบรรลุสถานะนี้ภายในปี 2027

ธุรกิจยุโรปในประเทศไทยกังวลเรื่องที่ไม่มีตัวแทนอียูในการเจรจาระดับสูง ซึ่งการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือน ก.ย. จะเป็นหนึ่งโอกาสให้สองภูมิภาคได้เกี่ยวข้องกัน แต่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ดูเหมือนว่าอียูไม่ส่งคณะกรรมาธิการการค้ามาร่วมประชุม ครั้งสุดท้ายที่มาประชุมด้วยตนเองคือในปี 2018 การไม่มามีส่วนร่วมแบบนี้ยิ่งชวนสงสัยเมื่อประเทศอื่นๆ ร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง

ในประเทศไทย ที่ซึ่งการแข่งขันดุเดือดและกฎระเบียบในพื้นที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การขาดการสนับสนุนทางการเมืองในระดับสูงเช่นนี้ทำให้บริษัทยุโรปเสียเปรียบ ถ้าไม่มีตัวแทนอียูอันแข็งแกร่ง ภาคธุรกิจย่อมพลาดโอกาสกำหนดนโยบาย มาตรฐาน และกฎระเบียบที่ส่งผลโดยตรงต่อปฏิบัติการของพวกเขา

  • โอกาสอียูที่จะก้าวเข้ามาในประเทศไทย

ไทยยังคงเป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจอาเซียน และเป็นหุ้นส่วนสำคัญสำหรับยุโรปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการยกระดับความสัมพันธ์ล่าสุดระหว่างไทยกับอียูขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในไตรมาสสาม ปี 2024 ถือเป็นการรื้อฟื้นโอกาสแห่งความร่วมมือ การมีตัวแทนระดับรัฐมนตรีด้านพลังงานเป็นสาขาเร่งด่วนที่อียูสามารถทำได้ โดยเฉพาะเมื่อไทยกำลังเร่งพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอาเซียน ประสบการณ์โครงข่ายไฟฟ้าทั่วทวีปของยุโรปมีคุณค่าที่อาจเร่งการบูรณาการด้านพลังงานของอาเซียนได้

ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยยังคงเป็นพื้นที่สำคัญของความร่วมมือขณะที่อาเซียนกำลังเจรจาข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลระดับภูมิภาคฉบับแรกของโลก ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือสำคัญ ในเดือน ก.ย.2567 ตอกย้ำความเป็นผู้นำของไทยในอาเซียน อียูจึงควรเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งในการกำหนดกรอบงานด้านดิจิทัลที่กำลังบังเกิด

ความยั่งยืนเป็นอีกหนึ่งจุดเน้นสำคัญ ข้อตกลงสีเขียวของยุโรป (European Green Deal) ได้รับการตอบรับอย่างผสมผสานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมของไทยให้มากขึ้นจึงไม่ใช่แค่ลดความตึงเครียด แต่ยังเป็นการเพิ่มความร่วมมือให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศร่วม

ความเชี่ยวชาญของอียูในโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียนและเทคโนโลยีสีเขียวแสดงถึงโอกาสเชิงกลยุทธ์ในการส่งเสริมความสัมพันธ์สาขานี้

  • อียูต้องเดินหน้า

เมื่อพันธมิตรด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์กำหนดโดยการแสดงตัว อียูต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกมองว่าไม่เข้ามามีส่วนร่วม ไทยก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่ให้คุ้นค่ากับความเป็นพันธมิตรที่มองเห็นได้

การสื่อสารและดำรงอยู่อย่างสม่ำเสมอสำคัญยิ่งในการรักษาความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งที่สร้างสมมานานหลายสิบปี ถ้าอียูไม่เข้ามาข้องเกี่ยวให้มากขึ้น ย่อมเสี่ยงสูญเสียไม่ใช่เพียงแค่อิทธิพลแต่ยังรวมถึงส่วนแบ่งตลาดที่ต้องเสียให้กับคู่แข่งที่มีอยู่มากกว่าและแข็งขันกว่า

เมื่อคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) จะเปลี่ยนผู้นำในปีนี้ เราจึงได้แต่หวังว่านี่จะส่งสัญญาณให้กลับมาสนใจอาเซียนอีกครั้งโดยเฉพาะไทย อาเซียนยังคงเป็นหนึ่งในโอกาสอันสุกใสของเศรษกิจโลก และสำหรับอียูการกระชับสัมพันธ์กับไทยสำคัญต่อการสร้างหลักประกันว่า ธุรกิจอียูจะลงหลักปักฐานอย่างแข็งแกร่งในภูมิภาคนี้