‘อุตฯชิ้นส่วน’ ยานยนต์ญี่ปุ่น เร่งปรับตัวรับ ‘อีวี’ หวังอยู่รอด

‘อุตฯชิ้นส่วน’ ยานยนต์ญี่ปุ่น  เร่งปรับตัวรับ ‘อีวี’ หวังอยู่รอด

เมื่อโลกหนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ญี่ปุ่น ที่แต่เดิมอยู่ในอุตฯเครื่องยนต์สันดาป ต้องเร่งปรับตัวรับอีวี เพื่อความอยู่รอด

ในยุคที่โลกเร่งส่งเสริมให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดโลกร้อนและบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ส่งผลให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในญี่ปุ่น ที่ส่วนใหญ่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการการผลิตรถอีวี และตอนนี้หลายบริษัทกำลังปรับกลยุทธ์อย่างแข็งขันเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด

โทโมฮิโกะ บาบา ผู้จัดการทั่วไปของเควายบี คอร์ป ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ญี่ปุ่น เผยกับนิกเกอิเอเชียว่า บริษัทเริ่มคิดเปลี่ยนแปลงธุรกิจสู่การผลิตเพื่ออีวีอย่างจริงจังเมื่อสี่หรือห้าปีก่อน และกำลังพัฒนาชิ้นส่วนของตน พร้อมพิจารณาถึงการทำงานกับระบบไฟฟ้า

บริษัทเควายบีได้พัฒนาโช้คที่ควบคุมได้ด้วยไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จะทำให้การขับขี่รถยนต์ไฟฟ้ามีความนุ่มนวลมากกว่าโช้คแบบดั้งเดิม บริษัทยังได้โฟล์คสวาเกนเป็นลูกค้ารายใหม่เมื่อปีก่อน และยังมีบริษัทอีวีจีนเป็นลูกค้าด้วยเช่นกัน

นิกเกอิระบุว่า การเดิมพันธุรกิจเพื่อยานยนต์อีวีของเควายบี และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งหมดในญี่ปุ่นนั้นสูงมาก

อุตฯชิ้นส่วนต้องเตรียมรับมือ

ตามข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่น ระบุว่า ในภาคการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีแรงงานราว 666,000 คน มากกว่าจำนวนพนักงานของบริษัทผลิตยานยนต์ชั้นนำอย่างฮอนด้าและนิสสัน 3 เท่า ขณะที่ข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ญี่ปุ่น เผยว่า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ครองสัดส่วนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดในญี่ปุ่นมากที่สุด ซึ่งคิดเป็น 10.5% ของผลผลิตทั้งหมดเมื่อคำนวณจากมูลค่าการจัดส่ง ขณะที่ผู้ผลิตยานยนต์ครองสัดส่วน 6.3%

ริวตะ โมริชิมะ ประธานสมาคมแบตเตอรี่เพื่อห่วงโซ่อุปทานของญี่ปุ่น (บีเอเอสซี) ระบุ ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมรับมือกับความต้องการยานยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

“ผมไม่สนว่ายอดขายอีวีจะชะลอตัวในตอนนี้หรือไม่ แต่ไม่มีเวลาให้พักแล้ว” โมริชิมะ กล่าว

ทั้งนี้ บีเอเอสซี พยายามดึงบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาทำธุรกิจแบตเตอรี่มากขึ้น ผ่านการจัดโครงการสัมมนาและการฝึกอบรม เพราะทราบว่าหลายบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปกำลังประสบปัญหา

ข้อมูลจากโตเกียวโชโกรีเสิร์ช เผยว่า ภาคชิ้นส่วนยานยนต์เผชิญกับแรงกดดัน เพราะรถยนต์ไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนรถยนต์น้อยกว่ารถยนต์ทั่วไปมากถึงครึ่งหนึ่ง แต่ญี่ปุ่นมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มากกว่า 20,000 ราย และบริษัทเหล่านี้ที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กต่างพึ่งพาการทำธุรกิจจากผู้ผลิตรถยนต์เพียงรายเดียวเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม เตรียมให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอีวีเพื่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แล้ว ซึ่งมีทั้งการให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และให้งบฯอุดหนุนผ่านโครงการมิกาตะ (Mikata Project) แต่ยังคงมีผู้ผลิตชิ้นส่วนอื่น ๆ ที่ยังคงให้ความสำคัญกับคำสั่งซื้อที่มีอยู่มากเกินไป จนไม่มีเวลาคิดปรับใช้ความรู้ที่มีเพื่อการผลิตชิ้นส่วนสำหรับอีวี

พัฒนายางรถยนต์เพื่ออีวี

ผู้ผลิตยางรถยนต์ต่างกำลังปรับผลิตภัณฑ์ของตนให้พร้อมรับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าอย่างแข็งขัน

ปกติแล้วรถยนต์ไฟฟ้ามีน้ำหนักมากกว่ารถยนต์ทั่วไปเมื่อเทียบรถยนต์ขนาดเท่ากัน ซึ่งน้ำหนักมีส่วนทำให้ยางรถอีวีสึกหรอง่ายกว่ารถปกติ จึงต้องพัฒนายางรถอีวี และด้วยรถอีวีแทบไม่มีเสียงของมอเตอร์ ดังนั้น เสียงจากยางรถยนต์ขณะวิ่งบนนถนน ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการผลิตอีวี

หลายบริษัทอย่าง “ซูมิโตโม รับเบอร์ อินดัสทรีส์” และ “บริดจ์สโตน” ได้ทดสอบวัสดุทางเลือกและออกแบบยางรถใหม่ เพื่อสร้างยางรถยนต์ที่เหมาะสำหรับใช้กับรถอีวีมากขึ้น

บริดจ์สโตนออกแบบยางรถยนต์สำหรับอีวีเป็นครั้งแรกเมื่อปีก่อน โดยใช้วัสดุคอมโพสิตน้ำหนักเบา และคิดค้นสูตรยางขึ้นใหม่ให้มีความทนทานและลดเสียงรบกวนได้ดี ซึ่งธุรกิจหันไปโฟกัสการผลิตสินค้าเฉพาะ และเริ่มลดการผลิตสินค้าแบบดั้งเดิม เป็นเพราะยางรถยนต์แบบทั่วไปมีคู่แข่งอย่างจีนและเกาหลีใต้ ที่สามารถผลิตยางรถยนต์ได้ถูกกว่า

ตอนนี้ยางรถอีวีของบริดจ์สโตนได้เป็นพันธมิตรกับ Lamborghini Temerario รถซูเปอร์คาร์ไฮบริดที่จะเปิดตัวในปีหน้า และยางรถอีวีของบริดจ์สโตนยังได้นำไปใช้ในรถอีวีมากถึง 31 รุ่นเมื่อปี 2566

ขณะที่ซูมิโตโมรับเบอร์ก็เดินกลยุทธ์ในแบบเดียวกันเพื่อพัฒนาความทนทานของยางรถยนต์ รวมถึงความต้านลมของยาง ซึ่งจากการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ บริษัทตั้งเป้าทำให้ยางรถยนต์ลดการใช้พลังงาน โดยจะปรับความกว้างของดอกยางในส่วนไหล่ยางให้แคบลง เพื่อให้แรงกดสัมผัสกับพื้นถนนมีความสม่ำเสมอ

ด้านนิสชินแมนูแฟคเจอริ่ง ก็เผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ เนื่องจากผลิตภัณฑ์หลักคือชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปที่เรียกว่า ร็อกเกอร์อาร์ม (rocker arm) แต่นิสชินก็ได้ตัดสินใจร่วมเป็นพันธมิตรกับอินโมทีฟ สตาร์ตอัปของแคนาดาที่พัฒนาเทคโนโลยีระบบส่งกำลังน้ำหนักเบา และทั้งสองจะพัฒนระบบส่งกำลังของรถอีวีร่วมกัน ซึ่งอาจหนุนให้บริษัทขึ้นเป็นผู้นำในการผลิตระบบส่งกำลังในอนาคต

ทาเตบายาชิ โมลดิ้ง โค (ทีเอ็มซี) บริษัทผลิตแม่พิมพ์โลหะที่ใช้สำหรับสร้างชิ้นส่วนโครงรถยนต์ ก็ตัดสินใจดำเนินกิจการในฐานะบริษัทในเครือบีวายดี ผู้ผลิตอีวีจีน ตั้งแต่ปี 2553 และมุ่งมั่นที่จะสานสัมพันธ์แน่นแฟ้นนี้ต่อไป

ยูกิโอะ คาวามูระ ประธานบริษัททาเตบายาชิเผยว่า หากทีเอ็มซีไม่เข้าร่วมกับบีวายดีกรุ๊ป ตอนนี้บริษัทอาจประสบความยากลำบาก แต่หลังจากเข้าร่วมกับบีวายดีกรุ๊ป ธุรกิจก็มีพนักงานเพิ่มขึ้น 20% และการทำงานร่วมกับบีวายดี ผลักดันให้ บริษัทต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพใหม่ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการออกแบบใหม่ ๆ ได้รวดเร็วขึ้น และด้วยบีวายดีเติบโตอย่างรวดเร็วจนติดอันดับผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของโลก คาวามูระจึงหวังว่า ทีเอ็มซีจะสามารถขยายขนาดการผลิตสู่ระดับที่สามารถรับคำสั่งซื้อได้เพิ่มขึ้น