UN เผย ‘เมียนมา’ สังหารคนเห็นต่างต่อเนื่อง ดับกว่า 5,000 ราย จับกุมเกือบ 30,000

UN เผย ‘เมียนมา’ สังหารคนเห็นต่างต่อเนื่อง ดับกว่า 5,000 ราย จับกุมเกือบ 30,000

ยูเอ็นเผยรัฐบาลทหารเมียนมาเดินหน้าปราบปราม ผู้เห็นต่างต่อเนื่อง ประชาชนเสียชีวิตแล้วกว่า 5,000 ราย ถูกจับกุมเกือบ 30,000 ราย รวมเยาวชน ทั้งยังมีการทรมานผู้เห็นต่างด้วยอาวุธต่างๆ

รายงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาเดินหน้าสังหาร และจับกุมผู้คนมากขึ้น เพื่อปราบปรามฝ่ายตรงข้าม ซึ่งถูกจับกุมไปแล้วหลายหมื่นคนตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อ 3 ปีก่อน

อัลจาซีรา รายงานว่า กองทัพเมียนมา โค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของ อองซาน ซูจี และขึ้นมามีอำนาจในเดือน ก.พ.2564 ทำให้เกิดการประท้วงทั่วประเทศ และถูกเจ้าหน้าที่ปราบปรามอย่างรุนแรง

กลุ่มผู้ประท้วงได้กลายมาเป็นกลุ่มกบฏติดอาวุธที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง และการต่อสู้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในด่านหน้า และเมื่อเดือนก.พ.กองทัพประกาศใช้กฎหมายบังคับเกณฑ์ทหาร เพื่อเพิ่มกองกำลังของตนเอง

รายงานที่เผยแพร่โดย “โวลเกอร์ เติร์ก” ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ประชาชนในเมียนมาถูกกองทัพสังหาร 5,350 ราย นับตั้งแต่ก่อรัฐประหาร

ในรายงานระบุด้วยว่า ประชาชน 2,414 ราย ที่เสียชีวิตจากการรายงานล่าสุดในช่วงเม.ย.2566 - มิ.ย.2567 เพิ่มขึ้นจากการรายงานช่วงก่อนหน้า 50% บางคนเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ และการโจมตีด้วยปืนใหญ่

รายงานดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลจากการสัมภาษณ์เหยื่อ และพยานหลายร้อยคน เนื่องจากผู้ทำการสืบสวนถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ

ด้านลิซ ทรอสเซลล์ โฆษกจากสำนักงานสิทธิมนุษยชนยูเอ็นบอกว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,853 ในระหว่างการจับกุมตั้งแต่มีรัฐประหาร ซึ่งในนั้นมีเด็กเสียชีวิตมากถึง 88 คน

“เจมส์ โรดเฮเวอร์” หัวหน้าฝ่ายสิทธิมนุษยชนของสำนักงานสหประชาชาติประจำเมียนมา กล่าวว่า

“กองทัพเมียนมาได้สร้างวิกฤติด้วยการทำให้ระบบกฎหมายเป็นเครื่องมือ และพยายามทำให้ทุกความเห็นที่ต่อต้านการปกครองเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย”

นอกจากนี้ รายงานของยูเอ็นเปิดเผยด้วยว่า มีประชาชนถูกจับกุมเกือบ 27,400 คน ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร และคาดว่าตอนนี้อยู่ในศูนย์ฝึกทหาร ที่น่าเป็นห่วงคือ ในบรรดาผู้ถูกจับกุมมี “เยาวชน” ที่ถูกนำตัวส่งไปที่นั่นเพราะไม่สามารถติดตามตัวพ่อแม่ได้ ซึ่งถือเป็นการลงโทษผู้ต่อต้านทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง

โรดเฮเวอร์ เล่าว่า จากการสัมภาษณ์ผู้ถูกจับกุม พบว่า ทางการปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมไม่เหมาะสม เช่น จับแขวนกับเพดานโดย ไม่ให้อาหาร และน้ำ ถูกบังคับให้คุกเข่าหรือคลานบนวัตถุที่แข็งหรือคม นำสัตว์เข้าไปสร้างความหวาดกลัว เช่น งู หรือแมลง หรือสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีการตีด้วยท่อนเหล็ก ไม้ไผ่ กระบอง ด้ามปืนไรเฟิล เข็มขัดหนัง สายไฟ และโซ่รถจักรยานยนต์

อย่างไรก็ตาม กองทัพเมียนมายังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อรายงานของยูเอ็น ด้านเติร์กย้ำว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ควรเรื่องส่งไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ

ขณะที่ตัวเลขล่าสุดจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่กำลังจับตาเกี่ยวกับสถานการณ์ปราบปรามหลังรัฐประหาร พบว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 5,665 ราย และกำลังอยู่ระหว่างการยืนยันผู้เสียชีวิตอีก 2,500 ราย

 

อ้างอิง: Al Jazeera

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์