‘เมียนมา’ ยอมเอ่ยปาก ‘ขอความช่วยเหลือต่างชาติ’ หลังประสบน้ำท่วมรุนแรง

‘เมียนมา’ ยอมเอ่ยปาก ‘ขอความช่วยเหลือต่างชาติ’ หลังประสบน้ำท่วมรุนแรง

รัฐบาลทหารเมียนมาเอ่ยปาก ขอความช่วยเหลือต่างชาติ หลังเผชิญน้ำท่วมรุนแรง ซึ่งถือเป็นการร้องขอที่แทบไม่ค่อยเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลทหารมักปฏิเสธความช่วยเหลือจากต่างชาติ

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า หลัง พายุไต้ฝุ่น ยางิ ที่ทำให้เกิดฝนตกหนัก พัดถล่มบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้เกิดน้ำท่วมและแผ่นดินถล่มหลายแห่ง คร่าชีวิตผู้คนในเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยเกือบ 300 คน

รัฐบาลทหารเมียนมา เผยเมื่อวันศุกร์ (13 ก.ย.) ว่า ประชาชนในเมียนมามากกว่า 235.000 คน ต้องพลัดถิ่นเพราะน้ำท่วม ส่งผลให้ประเทศที่เกิดสงครามตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจเมื่อปี 2564 ประสบกับความยากลำบากมากขึ้น

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลจำเป็นต้องติดต่อกับต่างประเทศเพื่อขอรับความช่วยเหลือ และส่งมอบความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กัประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

“จำเป็นต้องจัดการมาตรการช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ และฟื้นฟู โดยเร็วที่สุด” ผู้นำเมียนมาย้ำ

รัฐบาลรายงานเมื่อวันศุกร์ว่า พายุยางิ ได้คร่าชีวิตประชาชนในเมียนมาไป 33 ราย แต่ก่อนหน้าสำนักงานดับเพลิงเผยว่า พบร่างผู้เสียชีวิตแล้ว 36 ราย

ด้านโฆษกกองทัพรายงานว่า ขาดการติดต่อกับพื้นที่หลายแห่งในประเทศ และกำลังตรวจสอบรายงานที่ระบุว่า มีคนติดอยู่ใต้ดินที่ถล่มในพื้นที่เหมืองทองในภูมิภาคมัณฑะเลย์

ขณะที่รถบรรทุกกองทัพได้ขนเรือกู้ภัยขนาดเล็กเข้าไปยังพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมรอบ ๆ เมืองหลวงเนปิดอว์แล้วในวันนี้

นอง ตุน เกษตรเมียนมาเผยกับนักข่าวว่า ตนสูญเสียข้าว ไก่ และเป็ดไปกับน้ำท่วม และว่าคนที่หาเช้ากินค่ำอย่างเขาได้รับความเดือดร้อนหนัก

การขอความช่วยเหลือจากต่างชาติของเมียนมา เป็นเรื่องที่แทบไม่ค่อยเกิดขึ้น เพราะก่อนหน้านี้กองทัพเมียนมามักขัดขวางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากต่างประเทศ

เมื่อปีก่อนกองทัพได้ระงับใบอนุญาตเดินทางของกลุ่มให้ความช่วยเหลือที่พยายามเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนราว 1 ล้านคน ซึ่งพายุดังกล่าวได้พัดถล่มทางตะวันตกของประเทศ และตอนนั้นสหประชาชาติได้ประณามการตัดสินใจระงับใบอนุญาตว่าเป็นเรื่องที่ไม่อาจเข้าใจได้

นอกจากนี้ ตอนที่เมียนมาถูกพายุไซโคลนนาร์กิสถล่มในปี 2551 ที่คร่าชีวิตประชาชนอย่างน้อย 138,000 ราย รัฐบาลทหารในขณะนั้นถูกกล่าวหาว่า ขัดขวางการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน และปฏิเสธไม่ให้เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมและสิ่งของจำเป็นเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยในช่วงแรก