สหรัฐจ่อแบนชิ้นส่วนและระบบรถจีน-รัสเซีย หวั่นถูกแฮ็กระบบ-ล้วงข้อมูล
"รัฐบาลไบเดน" เตรียมออกกฎห้ามใช้ซอฟต์แวร์-ฮาร์ดแวร์จีนและรัสเซียในรถยนต์ เริ่มปี 2027-2030 อ้างเหตุผลด้านความมั่นคง ขณะเดียวกันทุ่มงบกว่า 9 ล้านดอลลาร์ หนุนห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้าในมิชิแกน พร้อมระดมทุน 1 พันล้านดอลลาร์ช่วยผู้ผลิตรายย่อย
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ว่า รัฐบาลของโจ ไบเดน อยู่ในช่วงเสนอกฎระเบียบเพื่อสกัดกั้น (แบน) การขายและนำเข้าทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สำหรับยานพาหนะที่มีการเชื่อมต่อกับสัญญาณภายนอก (Connected Vehicles) ซึ่งผลิตในจีนและรัสเซีย ท่าทีดังกล่าวอาจเป็นการเสริมความมั่นคงของสหรัฐต่อภัยคุกคามจากการแฮ็กที่กระทรวงพาณิชย์อธิบายว่าเป็น "ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจริง"
การประกาศแบนในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาความปลอดภัยของยานพาหนะที่สามารถสื่อสารภายนอกผ่านระบบ Wi-Fi, Bluetooth, เครือข่ายมือถือ หรือดาวเทียม ซึ่งพบได้มากขึ้นในยานพาหนะรุ่นใหม่ เจ้าหน้าที่กล่าวว่าระบบเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการแทรกแซงจากต่างประเทศซึ่งอาจนำไปสู่การหยุดชะงักและการก่อวินาศกรรม
"นี่ไม่ใช่เรื่องการค้าหรือความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการดำเนินการด้านความมั่นคงแห่งชาติโดยเฉพาะ"
จีนา เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว พร้อมเสริมว่า "เรามุ่งเน้นไปที่ภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจริง ที่ยานพาหนะลักษณะดังกล่าวจะสร้างความเสี่ยงให้ประเทศและชาวอเมริกัน"
ขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐและยุโรปกล่าวหาว่า รัฐบาลจีนและผู้ผลิตรถยนต์ในท้องถิ่นให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมอย่างไม่เป็นธรรม โดยอาจนำไปสู่การนำเข้าสินค้าราคาถูกจำนวนมากเข้ามาบิดเบือนตลาด ซึ่งทำให้ทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรปต้องขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าจากจีน แม้รัฐบาลกลางปักกิ่งจะปฏิเสธว่าระบบของพวกเขาไม่ได้ก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความปลอดภัย และกล่าวว่าภาษีศุลกากรเป็นความพยายามที่จะยับยั้งการแข่งขันก็ตาม
ด้าน เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติกล่าวว่า ยานพาหนะที่เชื่อมต่อกันเป็นภัยคุกคาม เนื่องจากระบบฝังตัวอยู่ลึกในโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐรวมถึงสถานีชาร์จ ระบบจัดเก็บ และการผลิตพลังงาน
"รถยนต์ในปัจจุบันมีกล้อง ไมโครโฟน ระบบติดตาม GPS และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เราแทบจะไม่ต้องใช้จินตนาการมากนักในการเข้าใจว่าคู่แข่งต่างชาติที่เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้จะก่อให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงต่อทั้งความมั่นคงแห่งชาติและความเป็นส่วนตัวของพลเมืองสหรัฐได้อย่างไร" เรมอนโดกล่าวในแถลงการณ์
บลูมเบิร์กรายงานเมื่อวันเสาร์ว่า รัฐบาลไบเดนวางแผนที่จะนำกฎระเบียบนี้มาใช้ โดยแผนนี้ถูกรายงานครั้งแรกโดยรอยเตอร์ส
บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า ข้อเสนอนี้เป็นผลมาจากการสืบสวนว่ายานพาหนะที่ผลิตในจีนคุกคามความมั่นคงแห่งชาติหรือไม่ โดยกระทรวงพาณิชย์เริ่มการสอบสวนในเดือนก.พ. โดยอ้างถึงการไหลเข้าของข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากที่รถยนต์รับเข้ามาผ่านเซ็นเซอร์และกล้อง
การห้ามใช้ซอฟต์แวร์จะมีผลบังคับใช้สำหรับยานพาหนะรุ่นปี 2027 ในขณะที่กฎระเบียบเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์จะมีผลบังคับใช้สำหรับยานพาหนะรุ่นปี 2030 ส่วนยานพาหนะที่ไม่มีการระบุรุ่นปีจะอยู่ภายใต้กฎระเบียบนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2029
ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลกล่าวว่า เหตุผลเบื้องหลังคือยานพาหนะส่วนใหญ่ในตลาดสหรัฐไม่มีซอฟต์แวร์ที่ผลิตในจีนหรือรัสเซียทำให้แง่มุมนี้ของกฎระเบียบเป็นเพียงมาตรการป้องกันเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงจากการใช้ฮาร์ดแวร์ที่ผลิตในจีนอาจใช้เวลานานกว่า
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่าปัจจุบันมียานพาหนะที่มีฮาร์ดแวร์ที่ผลิตในจีนจำนวนเท่าไรหรือห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐจะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อรองรับกฎระเบียบที่อาจเกิดขึ้นนี้ โดยเมื่อมีการเสนอกฎระเบียบ กระทรวงพาณิชย์จะเปิดรับความคิดเห็นจากสาธารณชนเป็นเวลา 30 วันหลังจากการประกาศ
ในอีกด้านหนึ่ง ทำเนียบขาวเพิ่งประกาศสัญญาผูกพันสำหรับผู้ผลิตยานยนต์ขนาดเล็กและขนาดกลางเมื่อวันจันทร์ โดยมีเงินอุดหนุน 9.1 ล้านดอลลาร์เพื่อเปิดตัวโครงการเปลี่ยนผ่านห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าในรัฐมิชิแกน
ส่วนหนึ่งของการดำเนินการของสหรัฐ บริษัท Monroe Capital ได้ให้คำมั่นที่จะระดมทุนสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สำหรับผู้ผลิตยานยนต์ขนาดเล็กเพื่อการเติบโตและกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจของพวกเขา
อ้างอิง: Bloomberg