The Leadership Paradox: บทเรียนจากการวิ่งเทรลระยะไกล
เคยมีคนบอกว่าการทำธุรกิจก็เหมือนการ “วิ่งมาราธอน” เพราะความสำเร็จมันต้องวัดกันยาวๆ ถ้าคุณอึดไม่พอ ทนไม่ได้ก็อย่าหมายเห็นเส้นชัย
ล่าสุดดิฉันมีโอกาสพูดคุยกับผู้นำองค์กรเกี่ยวกับการนำธุรกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 และการเตรียมรับมือ 2568 นาทีนี้วิ่งมาราธอนอย่างเดียวคงไม่พอ การนำองค์กรในไตรมาสสุดท้ายและมองยาวๆ ไปจนถึงปีหน้าคงเปรียบกับการวิ่งเทรลระยะไกล (Ultra Trail Running) บนเส้นทางที่ท้าทาย ผู้นำต้องพร้อมรับมือกับอุปสรรคที่ไม่คาดคิด ทั้งวิ่งขึ้นลงทางชัน และการต้องปรับตัวตลอดเวลาเพื่อให้ถึงเป้าหมาย
ในปีนี้เป็นอีกปีที่ดิฉันมีโอกาสไปเป็นทีมสนับสนุนนักวิ่งในการแข่งขันโอลิมปิกเทรล Ultra-Trail du Mont-Blanc (UTMB) ซึ่งเป็นหนึ่งในการแข่งขันวิ่งเทรลที่หฤโหดที่สุดในโลก ไม่ใช่แค่การทดสอบความแข็งแกร่งทางกาย แต่ยังเป็นการทดสอบจิตใจ ความยืดหยุ่น และความสามารถในการจัดการกับความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง
ผู้นำในโลกธุรกิจปัจจุบันเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า Paradox สองสิ่งที่มันอยู่คนละขั้ว หรือความขัดแย้งเหล่านี้ในทุกๆ วัน การบริหารงานที่ดีจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างแรงผลักดันในการบรรลุเป้าหมายระยะสั้นกับการรักษาวิสัยทัศน์ระยะยาว ทั้งยังต้องดูแลทีมให้พร้อมเผชิญกับความท้าทายต่างๆ โดยไม่หมดพลังหรือท้อแท้ไปก่อนถึงเส้นชัย
การเป็นสมาชิกในทีมสนับสนุนในการแข่งขัน ทำให้ดิฉันได้เห็นอย่างใกล้ชิดว่านักวิ่งระยะไกลต้องสร้างความสมดุลระหว่างความขัดแย้งเหล่านี้อย่างไร ซึ่งเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าสำหรับผู้นำที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายในโลกธุรกิจในปัจจุบัน
ความมุ่งมั่นกับการดูแลตัวเอง (Persistence vs. Self-Care)
หนึ่งในความขัดแย้งที่เห็นได้ชัดในการแข่งขันวิ่งระยะไกลคือความสมดุลระหว่างความมุ่งมั่นและการดูแลตัวเอง ผู้วิ่งต้องใช้พลังความมุ่งมั่นอย่างมหาศาลในการที่ระยะ 170 กิโลเมตร ภายในเวลา 40 ชั่วโมง แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาต้องฟังสัญญาณจากร่างกาย ต้องหยุดพัก รับประทานอาหาร และฟื้นฟูพลังงานเพื่อให้ตนเองสามารถวิ่งได้จนจบการแข่งขัน หากไม่ดูแลตัวเอง ความมุ่งมั่นที่มากเกินไปอาจนำไปสู่การบาดเจ็บ เหนื่อยล้า หรือแม้กระทั่งการล้มเหลว
ในโลกธุรกิจ ผู้นำในปัจจุบันเผชิญกับ paradox เช่นเดียวกัน ความกดดันในการบรรลุเป้าหมายมีสูง ทั้งเป้าหมายรายไตรมาส การแข่งขันทางธุรกิจ และความคาดหวังจากตลาด แต่ถ้าหากผู้นำไม่ใส่ใจสุขภาพและความเป็นอยู่ของทีม การทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนอาจนำไปสู่ความเหนื่อยล้าและการขาดการมีส่วนร่วมของทีม เช่นเดียวกับผู้วิ่งที่วิ่งหนักเกินไปจนล้มเหลวในการแข่งขัน
เป้าหมายระยะสั้นกับเป้าหมายระยะยาว (Short Term vs. Long Term)
นักวิ่งทุกคนในวันที่ยืนที่จุดปล่อยตัวต่างตั้งเป้าว่าจะต้องไปให้ถึงเส้นชัย เช่นเดียวกับผู้นำธุรกิจที่ต้องมีวิสัยทัศน์ระยะยาวที่ชัดเจน แต่การมีวิสัยทัศน์เพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ นักวิ่งต้องปรับเปลี่ยนการวิ่งในแต่ละช่วงของการแข่งขัน ปรับเป้าหมายระยะสั้นทั้งความเร็วและรับมือกับสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศ เช่นเดียวกับผู้นำที่ต้องปรับกลยุทธ์ตามสภาวะตลาด การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และความต้องการของลูกค้า
ผู้นำในปัจจุบันต้องสามารถสร้างสมดุลระหว่างการวิสัยทัศน์ระยะยาวเพื่อพาองค์กรไปสู่ทิศทางแห่งอนาคต ในขณะเดียวกันก็ต้องจัดการงานประจำวันให้เกิดประสิทธิภาพ สิ่งใหม่ ๆ ที่คิดมาก็ต้องมั่นใจว่าสามารถทดลองทำมันให้เกิดจริงได้ การเป็นผู้นำที่สมดุลระหว่างทั้งสองมิติจะช่วยให้องค์กรสามารถเติบโตและปรับตัวในสภาวะแวดล้อมที่ไม่แน่นอนได้
ความเร็วกับความอดทน (Speed vs Endurance)
อีกหนึ่งความขัดแย้งที่พบในการวิ่งระยะไกลคือ ความสมดุลระหว่างความรีบเร่งและความอดทน นักวิ่งต้องวิ่งให้เร็วพอที่จะเข้าเส้นชัยภายในเวลาที่กำหนด แต่ก็ต้องอดทนกับกระบวนการที่ยาวนาน นักวิ่งที่เร่งเกินไปในช่วงแรกอาจหมดแรงและไม่สามารถวิ่งต่อได้ ในทางตรงกันข้าม ผู้วิ่งที่ช้าเกินไปก็อาจพลาดเส้นตายการแข่งขัน
ในธุรกิจ ผู้นำต้องจัดการกับการเร่งเพื่อบรรลุเป้าหมาย แต่ก็ต้องมีความอดทนเพื่อให้แน่ใจว่าการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงนั้นยั่งยืน ความเร่งรีบที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดหรือการตัดสินใจที่ไม่รอบคอบ ขณะที่ความอดทนที่มากเกินไปอาจทำให้สูญเสียโอกาส ผู้นำที่มีประสิทธิภาพจะต้องรู้ว่าเมื่อใดควรเร่งและเมื่อใดควรอดทน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
ผู้นำในปัจจุบันต้องจัดการกับความขัดแย้งซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง แต่ทำอย่างไรจึงจะสร้างความสมดุลกับสองสิ่งที่มันขัดแย้งกันในโลกธุรกิจในวันนี้ที่ต้องผลักดันทีมโดยไม่ทำให้พวกเขาหมดแรง ผู้นำที่มีความสามารถในการสร้างความสมดุลกับความขัดแย้งเหล่านี้จะสามารถนำทีมไปสู่ความสำเร็จ เช่นเดียวกับนักวิ่ง UTMB ที่สามารถสร้างสมดุลระหว่างความมุ่งมั่นกับการดูแลตนเองเพื่อไปถึงเส้นชัย