บัณฑิตจีนหางานยากมาก สมัครไป 50 แห่ง แต่ไร้คำตอบ เลยหันไป ‘เกษียณอายุ’ ในชนบทแทน

บัณฑิตจีนหางานยากมาก สมัครไป 50 แห่ง แต่ไร้คำตอบ เลยหันไป ‘เกษียณอายุ’ ในชนบทแทน

วิกฤตการณ์ว่างงานของ ‘บัณฑิตจบใหม่’ ในจีน กำลังเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ไปอย่างสิ้นเชิง จากความฝันที่จะก้าวเข้าสู่เมืองใหญ่และทำงานในบริษัทข้ามชาติ กลายเป็นการหันหลังให้ความวุ่นวายและเลือกใช้ชีวิตเรียบง่ายในชนบทแทน

KEY

POINTS

  • อัตราว่างงานของหนุ่มสาวจีนในเดือนสิงหาคม “ทำสถิติใหม่” ที่ 18.8% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มใช้ระบบบันทึกสถิติใหม่ในเดือนธันวาคม
  • พนักงานจีนรุ่นใหม่ทำงานหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งเป็นการทำงานเฉลี่ย 251.9 ชั่วโมงต่อเดือน และมีความคุ้มครองด้านประกันสังคมที่ต่ำจากนายจ้าง
  • คนรุ่นใหม่ที่ประสบกับความเครียดสูงหรือรู้สึกสิ้นหวัง กำลังมองหาสถานที่เพื่อสะท้อนและปรับเปลี่ยนชีวิตของตน ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนความต้องการ 'บ้านพักผู้สูงอายุรุ่นเยาว์'

หากคิดว่าหางานใน “ไทย” ยากแล้ว ใน “จีน” กลับยิ่งหางานยากกว่ามาก แม้มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แต่หนุ่มสาวจบใหม่ในจีนตอนนี้กลับหางานลำบากยิ่งนัก โดยอัตราว่างงานของหนุ่มสาวจีนในเดือนสิงหาคม “ทำสถิติใหม่” ที่ 18.8% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มใช้ระบบบันทึกสถิติใหม่ในเดือนธันวาคม โดยเพิ่มขึ้นจาก 17.1% ในเดือนกรกฎาคม

มีเรื่องราวของสาวจีนที่จบการศึกษามาไม่นาน เธอชื่อ สวี่อวี่ (Xu Yu) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในฮ่องกง และใช้เวลาหางานเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว

แม้เธอจะมีผลการเรียนดีเยี่ยมและประสบการณ์ฝึกงานถึงสามครั้ง สวี่อวี่ก็ยังคงต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อแข่งขันในตลาดงานที่ดุเดือด เธอลงทุนเงินกว่า 20,000 หยวน หรือราว 90,000 บาทเพื่อเข้าฝึกอบรมเทคนิคการสัมภาษณ์ แต่กลับต้องเผชิญกับความผิดหวังเมื่อได้รับจดหมายปฏิเสธจากบริษัทชั้นนำหลายแห่ง เช่น Tencent Holdings และ JD.com

ส่วนอีกคนหนึ่งชื่อ ถังฮุ่ย (Tang Hui) เธอได้รับข้อเสนองานด้านบัญชีจากผู้ผลิตรถพลังงานใหม่ชั้นนำก่อนจบการศึกษา แต่ต่อมาบริษัทได้ยกเลิกข้อเสนอทั้งหมดให้กับผู้จบใหม่ ถังฮุ่ยได้รับเงินชดเชยเป็นค่าแรงหนึ่งเดือน แต่หลังจากนั้น แม้ว่าเธอจะสมัครงานไปกว่า 50 บริษัทแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ได้รับข้อเสนอใด ๆ กลับมา เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของบัณฑิตใหม่จีนหลังจบการศึกษา 

บัณฑิตล้นตลาด ท่ามกลางอุตสาหกรรมหลักทรุดตัว

ในปีนี้ เหล่าบัณฑิตจีนที่จบออกมามีจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 11.8 ล้านคน และกำลังก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานที่อ่อนแอที่สุดที่จีนเคยเผชิญมาหลายปี จากการที่บรรดาบริษัทด้านอินเทอร์เน็ต การศึกษา และอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมกระดูกสันหลังของจีน ตัดสินใจลดจำนวนพนักงานลง 

ยกตัวอย่าง “เหล่าบริษัทเทคโนโลยี” อย่าง  Alibaba, Tencent และ Baidu ก่อนหน้านี้เคยขยายการจ้างงาน แต่ปัจจุบันตัดสินใจลดจำนวนพนักงานลง โดย Alibaba ตัดพนักงานลงมากกว่า 13%

เหมา อวี่เฟย (Mao Yufei) อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Capital University of Economics and Business และนักวิจัยจากสถาบันวิจัยการจ้างงานจีนที่มหาวิทยาลัย Renmin ให้ความเห็นว่า “บริษัทเทคโนโลยีที่เคยเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคแห่งการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้โอกาสในการจ้างงานสำหรับบัณฑิตใหม่ลดลงเหลือเพียงน้อยนิด โดยมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของการจ้างงานทั้งหมดในปีนี้”

ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ “ธุรกิจกวดวิชา” ที่เคยเป็นดาวรุ่ง ก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร รัฐบาลออกระเบียบลดภาระการบ้านและการติวหลังเลิกเรียน อีกทั้ง “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนจีดีพีจีนก็ยังคงซบเซา จนทำให้มากกว่าครึ่งหนึ่งของงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมนี้ได้หายไปในปีนี้

ส่วนอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น พลังงานทดแทนและเซมิคอนดักเตอร์ ยังไม่สามารถทดแทนด้านการจ้างงานได้ เพราะการสรรหาบุคลากรเหล่านี้ “ต้องการความสามารถเฉพาะทาง” ซึ่งมักมีวุฒิขั้นสูง เช่น BYD ผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้า ในปีนี้ได้ลดการรับสมัครนักศึกษาลงมากกว่าครึ่งจาก 30,000 คนในปี 2023

บัณฑิตจีนหางานยากมาก สมัครไป 50 แห่ง แต่ไร้คำตอบ เลยหันไป ‘เกษียณอายุ’ ในชนบทแทน - บัณฑิตจบใหม่ในจีน (เครดิต: Shutterstock ) -

ประสบการณ์สำคัญกว่าชื่อมหาวิทยาลัย

หลายคนอาจมีค่านิยมว่า จบจากมหาวิทยาลัยดังมีชัยไปกว่าครึ่ง แต่ปัจจุบันนี้อาจไม่ได้สำคัญขนาดนั้นอีกต่อไป หลายบริษัทต้องการคนมีประสบการณ์และเคยผ่านงานด้านนั้นมากกว่า  

จากที่เคยเป็นเพียงส่วนเสริม “ประสบการณ์การฝึกงานที่ผ่านมา” ได้กลายเป็นปัจจัยชี้ขาดโอกาสในการทำงาน หลิว จื่อเฉา (Liu Zichao) บัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงน้อยกว่า ได้แสดงให้เห็นถึงความจริงข้อนี้ เมื่อเขาคว้าตำแหน่งงานเทคโนโลยีมาครองได้สำเร็จหลังจากฝึกงานที่ ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok 

เรื่องราวของเขาสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่การฝึกงานเฉพาะทาง กำลังกลายเป็นตัวชี้วัดความสามารถที่สำคัญยิ่งกว่าวุฒิการศึกษา

เมื่อความคาดหวังไม่ตรงกับความเป็นจริง

นอกจากปัจจัยเศรษฐกิจจีนอันซบเซาแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งคือ บัณฑิตจบใหม่หลายคนกำลังเผชิญปัญหาการหางานที่ไม่ตรงกับความสามารถของตนเอง โดยมีคุณสมบัติเกินกว่างานระดับล่าง แต่ขาดประสบการณ์สำหรับงานระดับสูง

ยิ่งไปกว่านั้น ความคาดหวังด้านอาชีพที่สูงขึ้นของบัณฑิตในปัจจุบัน กำลังทำให้ความไม่ลงรอยกันในตลาดแรงงานของจีนเพิ่มขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลหลายคนรายงานว่า ความทะเยอทะยานที่เกิดจากโซเชียลมีเดียสำหรับงานเทคโนโลยีที่มีรายได้สูงได้นำไปสู่การเรียกร้องเงินเดือนที่สูงเกินจริง ทำให้บัณฑิตจำนวนมากไม่พอใจกับตำแหน่งงานที่มีอยู่

จาง (Zhang) ผู้จัดการทรัพยากรบุคคลกล่าวว่า บัณฑิตที่สอบข้าราชการไม่ผ่านมักเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยไม่พร้อม และเรียกร้องเงินเดือนสูงกว่ามาตรฐานอุตสาหกรรมมาก

ในทำนองเดียวกัน หยาง เจียน (Yang Jian) ซึ่งทำงานด้านการสรรหาบุคลากรสำหรับบริษัทอัตโนมัติขนาดเล็กกล่าวว่า ความคาดหวังที่ไม่สมจริงของบัณฑิตจบใหม่ และความลังเลในการยอมรับงานที่มีรายได้ต่ำกว่า ทำให้บริษัทของเธอหยุดรับสมัครบัณฑิตใหม่

หันหลังให้เมืองใหญ่ ใช้ชีวิตเรียบง่ายในชนบท

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมามองดูมุมมองของเหล่าบัณฑิต ผู้หางานรุ่นใหม่รู้สึกไร้อำนาจในตลาดแรงงาน สวัสดิการพื้นฐานเช่น วันทำงานแปดชั่วโมงและประกันสังคมที่ได้รับกลับถูกมองว่าเป็นสิ่งหรูหรา โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีนพบว่า พนักงานรุ่นใหม่ทำงานหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งเป็นการทำงานเฉลี่ย 251.9 ชั่วโมงต่อเดือน และมีความคุ้มครองด้านประกันสังคมที่ต่ำจากนายจ้าง

ด้วยภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ และรู้สึกสิ้นหวังในตลาดแรงงาน ชาวจีนรุ่นใหม่จึงถอยกลับไปยังชนบท โดยหลังจากประกาศว่าตนถูกเลิกจ้าง ลาออก หรือว่างงาน ชาวจีนเจน Z และ Y ก็บันทึกชีวิตประจำวันแบบ “เกษียณอายุ” ในชนบทของตนบนโซเชียลมีเดีย  

เมื่อปีที่แล้ว ผู้เกษียณอายุที่ประกาศตนเองวัย 22 ปี ซึ่งใช้ชื่อแฝงว่า เหวินจือ ต้าต้า (Wenzi Dada) ได้ตั้งถิ่นฐานในกระท่อมไม้ไผ่ริมหน้าผาในมณฑลกุ้ยโจวของจีน เหวินจือ ซึ่งเคยทำงานในหลากหลายสาขา เช่น ซ่อมรถยนต์ ก่อสร้าง และการผลิต บอกกับสื่อท้องถิ่นว่าเขารู้สึกเหนื่อยกับการต้องจัดการกับเครื่องจักรทุกวัน จึงลาออกเพื่อกลับบ้านเกิด

“เมื่อเวลาผ่านไป ผมเริ่มคิดเกี่ยวกับความหมายของชีวิต ชีวิตไม่ได้เป็นเพียงความเจริญรุ่งเรืองของเมือง ความสงบของชนบทก็เป็นความงามอย่างหนึ่ง” เขาเขียนในโปรไฟล์แอปฯ Douyin ของเขา 

นอกจากนี้ บัณฑิตบางคนหันไปทำงานอิสระ เช่น เป็นคนขับส่งของหรือพี่เลี้ยงเด็ก ในขณะที่อีกหลายคนก็เลื่อนการเข้าสู่ตลาดแรงงาน

“ไม่น่าแปลกใจที่คนรุ่นใหม่เลือกที่จะ ‘ถอยกลับ’ หรือ ‘เกษียณอายุ’ ไปยังชนบท เนื่องจากการหางานได้กลายเป็นเรื่องท้าทายมาก โดยเฉพาะงานดี ๆ ในเมืองชั้นนำ” ชวง ชือ เหนียน (Chung Chi Nien) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคฮ่องกงกล่าว

เจีย เหมี่ยว (Jia Miao) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย NYU Shanghai กล่าวว่า “คนรุ่นใหม่ที่ประสบกับความเครียดสูงหรือรู้สึกสิ้นหวัง กำลังมองหาสถานที่เพื่อสะท้อนและปรับเปลี่ยนชีวิตของตน ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนความต้องการ 'บ้านพักผู้สูงอายุรุ่นเยาว์' เธอเสริมว่าเป็นเรื่องดีที่ตลาดกำลังมีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ที่กำลังมองหาพื้นที่เพื่อหายใจและฟื้นตัว


อ้างอิง: nikkeicnbcbarrons