เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรก ของนักการทูตแรกเข้า (2) | World Wide View

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรก ของนักการทูตแรกเข้า (2) | World Wide View

เปิดประสบการณ์เยือนกัมพูชาตอนที่ 2 ของนักการทูตแรกเข้า พาไปชมวัดพนม และพิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณ์แห่งชาติ (SOSORO)

หลังจากได้เยี่ยมชมพระบรมมหาราชวังตามที่ได้เล่าไปในตอนที่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของราชอาณาจักรกัมพูชา ได้พานักการทูตแรกเข้าไทยไปเยี่ยมชมสถานที่ที่น่าสนใจอย่างวัดพนม และพิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณ์แห่งชาติ (SOSORO)

วัดพนม

วัดพนมเป็นวัดที่มีตำนานที่น่าสนใจและเป็นที่มาของชื่อกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชาในปัจจุบัน โดยผู้บรรยายเล่าว่าเมื่อ 600 ปีก่อน มีหญิงชราผู้มั่งคั่งนามว่า “เปญ” หรือ “เพ็ญ”ในภาษาไทย อาศัยอยู่บนเนินเขาเล็ก ๆ ใกล้ฝั่งแม่น้ำทั้งสี่สายบรรจบกัน วันหนึ่งขณะฝนตก นางเปญได้ลงไปอาบน้ำที่ท่าน้ำใกล้บ้านและบังเอิญเห็นขอนไม้รูปร่างแปลกตาลอยผ่านมา จึงขอให้ชาวบ้านช่วยกันนำมันขึ้นมาและทำความสะอาดโดยขูดโคลนตมออก

ภายในนั้นมีรูปปั้นคล้ายพระพุทธรูปทำด้วยสำริด ทองเหลือง และหินอ่อน จำนวน ๓ องค์ และรูปปั้นพระวิษณุ ซึ่งสังเกตได้จากองค์ประกอบทางประติมานวิทยาคือ พระกรของรูปปั้นทรงคฑา จักร สังข์และธรณี (ดอกบัว) จำนวน ๑ องค์ หลังจากนั้นเปญมอบหมายให้ชาวบ้านสร้างเนินดินเทียมและวิหารไม้เล็ก ๆ บนเนินเขานั้นเพื่อประดิษฐานรูปปั้นทั้ง 4 องค์ และเชิญพระภิกษุให้มาทำพิธีให้พร พร้อมตั้งชื่ออาศรมนี้ว่า “วัดพนม” ซึ่งเป็นที่รู้จักมาจนถึงทุกวันนี้

ชื่อกรุงพนมเปญ ที่มีความหมายว่า “เนินเขาของนางเปญ”ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานเมืองเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

พวกเราพบว่าบรรยากาศภายในบริเวณวัดมีความเข้มขลัง ขณะเดียวกันรูปแบบของศิลปะและสถาปัตยกรรมที่ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์ ก็มองแล้วให้ความรู้สึกสบายตา อาจเพราะมีความร่มรื่นของแมกไม้นานาพรรณที่ห้อมล้อมไปทั่วทั้งเขตอารามด้วย โดยเฉพาะบริเวณด้านหลังพระอุโบสถซึ่งประดิษฐานรูปปั้นลักษณะคล้ายหญิงชรา

ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างมากที่ได้พบสิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกขอบข่ายความเชื่อของศาสนาพุทธตั้งตระหง่านอยู่บริเวณนั้น อีกทั้งยังมีผู้เลื่อมใสศรัทธากราบไหว้ขอพรเป็นจำนวนมาก จนควันธูปคละคลุ้งมองแทบไม่เห็นรูปสักการะนั้นเลย

เมื่อสอบถามกับเพื่อนชาวกัมพูชาแล้วก็ทราบความว่ารูปสักการะนั้นก็คือ นางเปญผู้ที่บัดนี้ได้รับการยกย่องให้มีสถานะเป็น “เจ้าแม่” อีกทั้งผู้เลื่อมใสยังเชื่อว่านางสามารถดลบันดาลให้คำขอพรทั้งหลายเป็นจริงได้อีกด้วย และนั่นก็ทำให้เราได้ทราบถึงเอกลักษณ์ของศาสนาพุทธแบบเถรวาทที่เข้ามาอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ซึ่งรวมถึงไทยและกัมพูชา ซึ่งก็คือการอนุญาตให้ความเชื่อหลากหลายแขนงเข้ามามีส่วนในการทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้คงอยู่ ทั้งยังเป็นเหมือนศูนย์รวมใจของประชาชนภายในชาติกัมพูชาอีกด้วย

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรก ของนักการทูตแรกเข้า (2) | World Wide View

พิพิธภัณฑ์ SOSORO

ในตอนบ่ายพวกเราได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ SOSORO ซึ่งจัดแสดงวิวัฒนาการทางการเงินของราชอาณาจักรกัมพูชา ตั้งแต่ยุคอาณาจักรฟูนันจวบจนถึงปัจจุบัน โดยมีระยะเวลาพัฒนาการของประวัติศาสตร์การเงินและเศรษฐกิจร่วม 2,000 ปี

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แบ่งออกเป็น 12 ส่วนหลัก ๆ โดยเน้นข้อควรรู้ทางการเงินพื้นฐานและบทเรียนที่ได้จากความสำเร็จและอุปสรรคทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศในอดีต โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบเงินตรา ระบบแลกเปลี่ยนสินค้า การเติบโตและถดถอยของเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคม และปรากฏการณ์เงินเฟ้อ ที่มีการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในรายละเอียด ได้แก่ (๑) ยุคอาณาจักรฟูนันจนถึงยุคอาณาจักรอังกอร์ (ศตวรรษที่ 1 - 5) (2) ยุคอาณานิคม (1431-1953) และ (๓) ยุคเอกราช และสงครามกลางเมือง (1953-1998)

พิพิธภัณฑ์ SOSORO มีการตกแต่งภายในที่สวยงามและทันสมัย มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ ผ่านสารคดีภาพและเสียง วิดีโอเกม และหน้าจอสัมผัสสำหรับอ่านบทความและเล่นเกมเพิ่มพูนทักษะความรู้เกี่ยวกับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางการเงินอีกด้วย โดยสื่อสมัยใหม่เหล่านี้ทำให้คณะนักการทูตไทยลืมการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แบบเดิม ๆ ไปเลย เพราะเราได้สัมผัสและเรียนรู้ความสำคัญของรูปแบบเงินตราหลากหลายประเภทตั้งแต่ยุคฟูนันจวบจนปัจจุบันกันเลยทีเดียว

สุดท้ายนี้ผู้เขียนมองว่า ผู้เยี่ยมชมทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้ ซึ่งจะทำให้เข้าใจกฎเกณฑ์และกลไก ตลอดจนความสำคัญอย่างยิ่งของเงินตราในการสร้างอัตลักษณ์ของชาติ การนำมาซึ่งเอกราชและเกียรติภูมิของราชอาณาจักรกัมพูชา