ศักยภาพโตถึงล้านล้านดอลล์! ‘แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน’ ธุรกิจดาวรุ่งต่อจาก AI
ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นจาก AI กำลังผลักดันให้ตลาด ‘แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน’ ขยายตัวอย่างรวดเร็วในการตอบสนองความต้องการพลังงานสะอาดที่พุ่งขึ้นทั่วโลก ซึ่งมีศักยภาพโตสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์
KEY
POINTS
- การใช้งาน AI อย่างแชตบอต ChatGPT เพียงครั้งเดียวสิ้นเปลืองพลังงานมหาศาลมากกว่า Google ถึง 10 เท่า
- ระบบจัดเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ มีศักยภาพในการเติบโตและสร้างมูลค่าสูงถึงล้านล้านดอลลาร์ในอนาคต
- นครหนานหนิง ได้เปิดใช้งาน “โรงกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่โซเดียมไอออนฝูหลิน” ซึ่งเป็นโรงกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่โซเดียมไอออนขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศจีน
การก้าวกระโดดของปัญญาประดิษฐ์ (AI) สร้างความตื่นตะลึงทั่วโลก แต่มาพร้อมกับความท้าทายด้านพลังงานที่น่ากังวล การใช้งาน AI อย่างแชตบอต ChatGPT เพียงครั้งเดียวสิ้นเปลืองพลังงานมหาศาลมากกว่า Google ถึง 10 เท่า! ยิ่งไปกว่านั้น แผนการสร้างดาต้าเซนเตอร์ขนาดใหญ่ของ OpenAI ซึ่งแต่ละแห่งกินพลังงานเทียบเท่าทั้งเมือง ยิ่งตอกย้ำความต้องการพลังงานมหาศาลของอุตสาหกรรมนี้
ท่ามกลางความท้าทายดังกล่าว โอกาสทางธุรกิจใหม่ได้ผุดขึ้นมา นั่นคือ “ระบบจัดเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่” (Battery Energy Storage System: BESS) ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตและสร้างมูลค่าสูงถึงล้านล้านดอลลาร์ในอนาคต
อย่างที่ทราบกันว่า โลกกำลังเผชิญวิกฤติโลกร้อนขั้นรุนแรง ดังจะเห็นได้จากข่าวดอกไม้บานในแอนตาร์กติกาหรือแม้แต่มีต้นไม้สีเขียวขึ้นที่ทะเลทรายซาฮารา การหันมาใช้พลังงานสะอาด อาจเป็นทางรอดไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 2 องศาเซลเซียสในการเลี่ยงหายนะทางมนุษยชาติ
แต่ปัญหาคือ พลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เซลล์และกังหันลมนั้นให้พลังงานไม่สม่ำเสมอ บางวันแดดน้อย บางครั้งก็ไม่มีลม ด้วยเหตุนี้ การมีระบบจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าเหล่านี้ด้วยแบตเตอรี่ไว้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งคล้ายกับ “พาวเวอร์แบงก์ขนาดยักษ์” เก็บไฟฟ้าส่วนเกินในวันปกติ และจ่ายไฟออกมาในวันที่ไม่มีแดด ไม่มีลม เพื่อให้พลังงานไฟฟ้าที่ได้มีความต่อเนื่องและเพียงพอ
- แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (เครดิต: Shutterstock) -
องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์ว่า กำลังการผลิตแบตเตอรี่เก็บพลังงานทั่วโลกจะต้องเพิ่มขึ้นจากน้อยกว่า 200 กิกะวัตต์ในปีที่ผ่านมา เป็นมากกว่า 1 เทระวัตต์ภายในสิ้นทศวรรษนี้ และต้องแตะเกือบ 5 เทระวัตต์ภายในปี 2050 หากโลกต้องการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือพูดให้ง่ายคือ หากไม่ต้องการให้มนุษย์เสี่ยงสูญพันธุ์
นั่นหมายความว่า นี่จะเป็นแรงผลักดันความต้องการแบตเตอรี่เก็บพลังงานให้พุ่งทะยานได้ จนเป็นธุรกิจที่น่าจับตาอย่างยิ่ง นอกเหนือจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
Bain ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำของโลกได้คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดสำหรับระบบเก็บพลังงานระดับใหญ่ด้วยแบตเตอรี่ มีแนวโน้มขยายตัวจากประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2023 เป็นระหว่าง 200,000-700,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 และแตะ 1-3 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2040
จีน ฮับแห่งแบตเตอรี่
ตามข้อมูลของ BloombergNEF ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราคาแบตเตอรี่ลิเทียมได้ลดลงกว่า 40% ถือเป็นตัวเร่งให้ภาคอุตสาหกรรมหันมาใช้แบตเตอรี่ลิเทียมในระบบไฟฟ้ามากขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น การที่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มชะลอตัวลง ผู้ผลิตแบตเตอรี่จึงหันมาให้ความสำคัญกับระบบเก็บไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ ซึ่งมีเทคโนโลยีคล้ายกับแบตเตอรี่ในอีวี
สำหรับศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่ของโลก คือ “จีน” เพราะเป็นที่ตั้งของ 4 ใน 5 ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง CATL และ BYD
ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี สัดส่วนการผลิตแบตเตอรี่ของจีนที่นำไปใช้เก็บพลังงาน ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากเกือบศูนย์ในปี 2563 มาสู่ระดับประมาณ 1 ใน 5 ของการผลิตทั้งหมด แซงหน้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเห็นได้ชัด การเติบโตที่รวดเร็วนี้ได้รับแรงขับเคลื่อนจากนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดของรัฐบาลจีน ซึ่งกำหนดให้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมขนาดใหญ่ ต้องติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานควบคู่กันไป
บริษัทแบตเตอรี่ของจีนมีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมอย่างมาก ตัวอย่างเช่น CATL เพิ่มการลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาขึ้น 8 เท่าตั้งแต่ปี 2018 เป็น 2,500 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา
BYD ซึ่งลงทุนอย่างมากในหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ได้สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในเมืองเหอเฝย์ของจีน ซึ่งเกือบจะเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมนี้ก็กำลังเผชิญกับปัญหาการผลิตล้นเกิน
ตามข้อมูลของ BloombergNEF ปัจจุบันจีนผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมได้เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการทั่วโลกทุกประเภท อุตสาหกรรมของจีนได้ประกาศแผนการเพิ่มกำลังการผลิตอีก 5.8 เทระวัตต์ต่อชั่วโมงภายในปี 2025 ซึ่งมากกว่าสองเท่าของกำลังการผลิตทั่วโลกปัจจุบันที่ 2.6 เทระวัตต์ต่อชั่วโมง
ในขณะเดียวกัน การผลิตล้นเกินนี้ก็ได้ทำให้ราคาแบตเตอรี่ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อบริษัทสตาร์ทอัพด้านแบตเตอรี่ในยุโรปหลายแห่ง โดยเฉพาะ Northvolt ของสวีเดน ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวแทนสำคัญในการแข่งขันกับบริษัทจีน
ปีที่แล้ว Northvolt ขาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 285 ล้านดอลลาร์เป็น 1,200 ล้านดอลลาร์ จนคาดว่าจะทำให้เกิดการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับที่โรบิน เจิง (Robin Zeng) ซีอีโอของ CATL เคยคาดการณ์ไว้
แม้จะมีการแข่งขันที่รุนแรงในหมู่ผู้ผลิตแบตเตอรี่และอาจทำให้ผู้เล่นที่อ่อนแอกว่าออกจากอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อตลาดโดยรวมในการผลักดันนวัตกรรม ทำให้มีราคาถูกลง และผู้คนเข้าถึงเทคโนโลยีการเก็บพลังงานได้ง่ายขึ้น
แบตเตอรี่โซเดียม-ไอออน เทคโนโลยีใหม่ที่น่าจับตา
ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด ได้ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่าง “แบตเตอรี่โซเดียม-ไอออน” เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง เพราะไม่ต้องพึ่งพาลิเทียมที่มีราคาแพง แม้จะมีพลังงานน้อยกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่น แต่ก็เหมาะกับอุปกรณ์ที่ต้องการพลังงานคงที่อย่างระบบเก็บพลังงาน
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิงรายงานว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 นครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้เปิดใช้งาน “โรงกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่โซเดียมไอออนฝูหลิน” ซึ่งเป็นโรงกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่โซเดียมไอออนขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศจีน โดยสามารถกักเก็บพลังงานสะอาดเพื่อใช้ภาคครัวเรือน ตอนนี้เริ่มเปิดใช้งานเฟสแรกก่อน
เมื่อโครงการที่นครหนานหนิงนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ จะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 73 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า 35,000 คน และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 50,000 ตัน
ในฝั่งสหรัฐ Natron บริษัทสัญชาติอเมริกันที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทน้ำมัน Chevron ได้ประกาศลงทุนมหาศาลกว่า 1,400 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่โซเดียม-ไอออนแห่งใหม่ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2027
ขณะเดียวกัน แลนดอน มอสเบิร์ก (Landon Mossburg) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Peak Energy สตาร์ทอัพด้านโซเดียม-ไอออน ก็ประกาศวิสัยทัศน์ที่จะทำให้บริษัทของเขาเป็น “CATL ของอเมริกา”
ทอม เจนเซน (Tom Jensen) ผู้บริหารสูงสุดของ Freyr Battery บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่มองว่า กุญแจสำคัญในการแข่งขันของบริษัทแบตเตอรี่ในตะวันตกคือ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ล้ำสมัย
ปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งกำลังทดลองและพัฒนานวัตกรรมด้านแบตเตอรี่อย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ EnerVenue ซึ่งกำลังเดินหน้าผลิต “แบตเตอรี่นิเกิล-ไฮโดรเจน” เพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยได้รับการสนับสนุนจากการระดมทุนกว่า 400 ล้านดอลลาร์ บริษัทมีแผนจะสร้างโรงงานผลิตในรัฐเคนทักกี สหรัฐ เพื่อผลิตแบตเตอรี่ที่มีต้นทุนต่ำและสามารถกักเก็บพลังงานได้ยาวนาน
อ้างอิง: กรุงเทพธุรกิจ, กรุงเทพธุรกิจ(2), economist, thaibiz