‘เศรษฐกิจ’ เน้นสงคราม ทำเสถียรภาพ ‘รัสเซีย’ สั่นคลอน

‘เศรษฐกิจ’ เน้นสงคราม ทำเสถียรภาพ ‘รัสเซีย’ สั่นคลอน

เศรษฐกิจรัสเซียที่เน้นให้ความสำคัญกับสงคราม โดยมีแผนใช้จ่ายด้านการทหารจำนวนมาก อาจทำให้ประเทศขาดเสถียรภาพ การเงินการคลังรัฐบาลไม่สมดุล และบั่นทอนคุณภาพชีวิตของประชาชน

นักวิเคราะห์คาดเศรษฐกิจรัสเซียที่เน้นให้ความสำคัญกับสงคราม และมีแผนใช้จ่ายด้านการทหารจำนวนมาก เสี่ยงทำให้การเงินของรัฐบาลเกิดความไม่สมดุลครั้งใหญ่ และบั่นทอนคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

ซีเอ็นบีซีรายงานโดยอ้างอิงร่างเอกสารทางการรัสเซียว่า รัฐบาลรัสเซียภายใต้การบริหารของ “มิคาอิล มิชุสติน” นายกรัฐมนตรีรัสเซีย ได้อนุมัติร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568-2570 เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีการใช้จ่ายทางทหารพุ่งสูงขึ้นสู่ระดับ 13.5 ล้านล้านรูเบิลในปี 2568 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ  2567 ถึงราว 25% และคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 6.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ร่างงบประมาณดังกล่าวบ่งชี้ว่า รัสเซียมีความมุ่งมั่นในการทำสงครามกับยูเครน โดยงบประมาณทั้งด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคง คิดเป็นสัดส่วน 40% ของงบประมาณทั้งหมดของรัฐบาลรัสเซียในปี 2568 และการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศอาจเกินกว่างบประมาณที่จัดสรรให้กับความต้องการทางสังคม (เช่น เงินบำนาญ) เป็นสองเท่า

ขณะที่นักวิเคราะห์บอกว่า รายงานการใช้จ่ายล่าสุดนี้บ่งบอกถึงความทะเยอทะยานและความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของรัสเซียที่ต้องการทำสงครามกับยูเครนต่อไป ขณะเดียวกันก็สร้างความเสี่ยงให้กับประเทศ ทั้งต่อเศรษฐกิจของรัสเซีย และต่อประชาชนที่มีมาตรฐานการครองชีพที่ตกต่ำลง ขณะที่ราคาสินค้ายังคงสูงอย่างต่อเนื่อง

นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนในปี 2565 รัสเซียได้พลิกโฉมเศรษฐกิจภายในประเทศ ให้เตรียมพร้อมรับมือกับการทำสงคราม ทั้งเพิ่มการผลิตทางทหาร และพยายามหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรระหว่างประเทศที่ส่งผลให้ประเทศไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์ ส่วนประกอบ และอาวุธทางทหารจากที่อื่นได้ ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมทางทหารของรัสเซียที่ผลิตเครื่องจักรสงครามออกมาจำนวนมาก ก็ขยายตัวมากขึ้นนับตั้งแต่เกิดสงครามกับยูเครน

อันเดรียส ตูร์ซา” ที่ปรึกษาฝ่ายยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก จากบริษัทที่ปรึกษา Teneo เผยว่า แม้รัสเซียมีวาทกรรมทางการเมืองที่แสดงถึงความมั่นใจและมีการคาดการณ์ในเชิงบวก แต่การใช้จ่ายทางทหารเพิ่มเติมของเศรษฐกิจรัสเซียที่ได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของรัฐบาล อาจทำให้เศรษฐกิจยั่งยืนในระยะกลางจนถึงระยะยาวได้ยากลำบาก

ตูร์ซา เสริมว่ารัสเซียอาจเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องในปี 2569 และขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากการเกณฑ์ทหาร แรงงานอพยพออกนอกประเทศ และการเก็บภาษีมากขึ้น เช่น ภาษีที่อยู่อาศัย และค่าสาธารณูปโภค

ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อรายปีของรัสเซียอยู่ที่ 9.1% และธนาคารกลางคาดการณ์เมื่อเดือนก่อนว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อพื้นฐานโดยรวมของรัสเซียยังคงสูงหลังจากที่แบงก์ชาติเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก1% สู่ระดับ 19%

เลียม พีช นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านตลาดเกิดใหม่จากแคปิตอลอีโคโนมิกส์ คาดว่า แผนงบประมาณรัสเซียไม่สามารถแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานได้ ซึ่งจะนำไปสู่แรงกดดันด้านราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง

พีชคาดการณ์ด้วยว่า แบงก์ชาติรัสเซีย อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง สู่ระดับ 20% ในเดือนต.ค. นี้ และว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงเป็นระยะเวลานานจะเป็นเรื่องปกติในรัสเซีย ตราบใดที่รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับความพยายามทำสงคราม

ขณะที่ทางการรัสเซียอาจมองว่าการขยายงบประมาณรายจ่ายทางทหารจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาทางเทคโนโลยี แต่ตูร์ซาบอกว่า การใช้จ่ายทางทหารมากเป็นประวัติการณ์นี้ ต้องแลกกับการลงทุนในภาคส่วนอื่น ๆ ที่ลดลง เช่น ภาคการศึกษา ภาคสาธารณสุข หรือโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการบริการสาธารณะ บั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว และคุณภาพการบริการด้านสาธารณะที่ตกต่ำลงอาจทำให้มาตรฐานการครองชีพของชาวรัสเซียย่ำแย่ลงไปด้วย

แม้ว่าคุณภาพบริการด้านสาธารณะดังกล่าวไม่อาจนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ได้ในขณะนี้ แต่ตูร์ซาเตือนว่า ความไม่พอใจของประชาชนต่อมาตรฐานการครองชีพอาจปะทุขึ้นได้ในอนาคต โดยเฉพาะหากอำนาจของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเริ่มเสื่อมลง

อย่างไรก็ตาม แม้มีการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศต่ออุตสาหกรรมและภาคส่วนที่สำคัญของรัสเซียเนื่องจากการทำสงคราม แต่รัสเซียยืนยันว่า การคว่ำบาตรของชาติตะวันตกทำให้ประเทศได้พึ่งพาตนเองมากขึ้น และว่าการบริโภคเอกชนและการลงทุนภายในประเทศยังคงมีความยืดหยุ่น

ขณะเดียวกันรัสเซียยังคงส่งออกน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ไปยังอินเดียและจีนอย่างต่อเนื่อง และความพยายามหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรและควบคุมไม่ให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้รัสเซียยังคงรักษารายได้จากการส่งออกน้ำมันได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งคาดว่าจะคิดเป็นสัดส่วน 27% ของงบประมาณในปี 2569

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่า เศรฐกิจรัสเซียอาจเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วทุกประเทศในปีนี้ โดยอาจมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3.2%

 

อ้างอิง: CNBC