เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า (3) | World Wide View
เปิดประสบการณ์นักการทูต เยือนจังหวัดเสียมราฐ ดินแดนแห่งการท่องเที่ยวเมืองโบราณ ผ่านสายสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา
เสียมราฐ เป็นจังหวัดสำคัญทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา หลาย ๆ คนรู้จักในฐานะที่ตั้งของนครวัดและโบราณสถานต่าง ๆ แต่สำหรับคนไทย จังหวัดเสียมราฐมีความสำคัญยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากอยู่ใกล้กับพรมแดนไทย มีคนไทยพักอาศัย ทำงาน และประกอบธุรกิจอยู่เป็นจำนวนมาก นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไทยเลือกเปิดสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ที่นี่ ซึ่งได้เปิดทำการที่สำนักงานชั่วคราว ณ โรงแรม ธารา อังกอร์ ในระหว่างการปรับปรุงที่ทำการถาวร ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2568
การเปิดสถานกงสุลใหญ่แห่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลผลประโยชน์ของพี่น้องชาวไทยให้ทั่วถึง และยกระดับความสัมพันธ์ไทย – กัมพูชาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการค้าและเศรษฐกิจ ดังนั้น สำหรับพวกเราเหล่านักการทูตแรกเข้าที่มาศึกษาดูงานที่ประเทศกัมพูชา การเดินทางมาจังหวัดเสียมราฐจึงเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญที่ช่วยให้เรารู้จักประเทศกัมพูชามากขึ้น ทั้งด้านประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ บทความนี้จึงจะขอพาผู้อ่านเดินทางท่องเที่ยวไปกับพวกเรา ณ จังหวัดเสียมราฐ
หลังจากจบโปรแกรมที่กรุงพนมเปญ ซึ่งเพื่อนนักการทูตแรกเข้าได้เล่าไว้ในบทความก่อนหน้า พวกเราก็ต้องเตรียมเก็บกระเป๋าเพื่อออกเดินทางไปยังจังหวัดเสียมราฐในเช้าวันถัดมา ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ที่พวกเราตั้งหน้าตั้งตารอเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีกิตติศัพท์เลื่องลือด้านการท่องเที่ยว และเป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้การทำงานของสถานกงสุลใหญ่ที่เพิ่งเปิดใหม่สด ๆ ร้อน ๆ ในช่วงที่พวกเราเดินทางไปศึกษาดูงาน การเดินทางข้ามจังหวัดในครั้งนี้จึงทั้งน่าตื่นเต้น และเต็มไปด้วยความคาดหวังกับสิ่งที่รอพวกเราอยู่ที่ปลายทาง และด้วยความที่ต้องนั่งรถบัสกันหลายชั่วโมง พวกเราเลยถือโอกาสระหว่างการเดินทางในการสำรวจกัมพูชาผ่านหน้าต่างรถ และพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา ไม่นานเราก็เดินทางมาถึงจังหวัดเสียมราฐในที่สุด
พวกเราแวะทานมื้อเที่ยง ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัด บรรยากาศในร้านร่มรื่นไปด้วยเงาไม้ ผู้คนหลากหลายสัญชาติกำลังเพลิดเพลินไปกับอาหารกัมพูชาอันเป็นเอกลักษณ์ นับเป็นสัญญาณว่าพวกเราได้มาถึงเมืองแห่งนครวัดอันเป็นที่หมายปองของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกแล้วจริง ๆ
อาหารกัมพูชาที่พวกเราได้ทานมีความหลากหลาย ส่วนตัวผู้เขียนเองรู้สึกว่ามีทั้งความใกล้เคียงและแปลกใหม่ต่างไปจากอาหารไทย ถึงวัตถุดิบอาจจะคล้ายกัน เช่น ไก่ทอด ปลานึ่ง ผัดผัก แกงชนิดต่าง ๆ แต่เมื่อลองลิ้มรสแล้วจะพบว่าอร่อยไปอีกแบบ สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการกินที่ใกล้เคียง แต่ก็แฝงไปด้วยเอกลักษณ์ของตน
เมื่อเติมพลังเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาเยี่ยมชมไฮไลท์ของเสียมราฐ นั่นคือนครวัดและนครธม เมืองโบราณที่เป็นสัญลักษณ์ของกัมพูชาตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน พวกเราแวะซื้อและทำบัตรสำหรับเข้าเยี่ยมชม ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่ตั้งแยกออกมาจากเขตปราสาท ขั้นตอนการทำบัตรนั้นรวดเร็ว แสดงให้เห็นถึงระบบการจัดการนักท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ แบ่งแยกชัดเจนระหว่างเขตบริการและโบราณสถานเป็นอย่างดี
ทันทีที่รถเลี้ยวเข้าพื้นที่ของนครวัด พวกเราก็เข้าใจอย่างถ่องแท้ทันทีว่าทำไมสถานที่แห่งนี้ถึงมีชื่อเสียงก้องไปทั่วโลก สถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางป่าอันเขียวขจีท้าทายกาลเวลา ที่นอกจากจะไม่สามารถลดทอนความสวยงามของปราสาทได้แล้ว กลับยิ่งเพิ่มมนต์เสน่ห์และความขลังให้กับตัวสถานที่ สะกดให้ผู้มาเยือนอย่างเรา ๆ ถูกตรึงอยู่ภายใต้ความยิ่งใหญ่และชวนหลงใหลของสถานที่ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรเขมรโบราณในอดีต
พวกเราค่อย ๆ เริ่มเดินสำรวจไปตามโถงทางดิน ผ่านเหล่าประติมากรรมและจิตรกรรมฝาผนังที่ถูกแกะสลักด้วยความประณีตพร้อมกับหอบหิ้วเรื่องราว ความเชื่อ พิธีกรรม และสภาพสังคมในอดีต เดินทางข้ามเวลามาเล่าขานให้พวกเราฟังในปัจจุบัน ถึงแม้ไอร้อนแห่งเดือนสิงหาคมจะแทรกซึมอยู่ในทุกอณูผิว แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งความอัศจรรย์ใจที่เรามีต่อความก้าวหน้าขององค์ความรู้ทางวิศวกรรมการก่อสร้างที่ถูกขับเคลื่อนโดยศรัทธาทางศาสนาของผู้คนในสมัยนั้น
นอกจากนครวัด จังหวัดเสียมราฐยังมีโบราณสถานให้เราได้ท่องเที่ยวศึกษาอีกหลายแห่งนับไม่ถ้วน พวกเราได้เดินทางไปเยี่ยมชมปราสาทตาพรม และปราสาทบายนแห่งนครธม ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของสังคมเขมรโบราณที่เปลี่ยนผ่านจากศาสนาฮินดูไปสู่พุทธศาสนานิกายมหายาน เห็นได้จากการประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม
และมีบทบาทยึดโยงกับวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปราสาทเป็นโอสถศาลา ทำหน้าที่เป็นเหมือนกับโรงพยาบาลของชุมชน และเป็นมหาวิทยาลัยสอนภาษาสันสกฤต และนาฏศิลป์ (ระบำอัปสรา) ให้แก่ผู้หญิงในยุคนั้น
กัมพูชาและองค์กร UNESCO ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาโบราณสถานเหล่านี้เป็นอย่างมาก มีการกำหนดปริมาณนักท่องเที่ยวในแต่ละวัน และกันไม่ให้ประกอบธุรกิจทุกประเภทในบริเวณใกล้เคียง อีกทั้งยังติดป้ายประกาศเฉพาะข้อมูลที่จำเป็น และที่สำคัญการซ่อมแซมปรับปรุงจะต้องดำเนินการภายใต้การกำกับดูแล
ของผู้เชี่ยวชาญจาก UNESCO โดยร่วมมือกับศูนย์ศิลปาชีพในจังหวัดเสียมราฐที่ให้การสนับสนุนด้านแรงงานฝีมือ ซึ่งพวกเราก็มีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานเช่นเดียวกัน ถือเป็นการบูรณาการองค์ความรู้สากลเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นอย่างดี
พวกเรายังมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับเสียมราฐในอีกหลากหลายมุมผ่านการพูดคุยกับท่านกงสุลใหญ่ รุ่นพี่นักการทูตไทยในกัมพูชา รวมไปถึงคนไทยและคนกัมพูชาที่อาศัยอยู่ที่นี่ ซึ่งก็ยิ่งทำให้เห็นว่าคำว่า ‘เพื่อนบ้าน’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพรมแดนที่อยู่ติดกันเพียงเท่านั้น แต่ยังหมายความเชื่อมโยงผูกพันของผู้คน เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่ทั้งสองประเทศเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เราได้เห็นจุดเชื่อมโยงไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาสนาพุทธ วิถีชีวิต รวมไปถึงธุรกิจไทยในเสียมราฐที่ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมการบริการ
การเปิดสถานกงสุลในเมืองเสียมราฐจึงเป็นโอกาสสำคัญของไทยที่จะขยายขอบเขตการดูแลพี่น้องชาวไทยในกัมพูชาให้ครอบคลุม ต่อยอดความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชาที่มีอยู่แล้วให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นประตูไปสู่ความร่วมมือในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งเสริมธุรกิจไทยในเสียมราฐ หรือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
ในการบริหารการท่องเที่ยว รวมไปถึงการพัฒนาทักษะของแรงงานฝีมือของของทั้งสองประเทศ